ชุดสีดำกับนักออกแบบ

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน ผมไปอ่านเจอบทความน่าสนใจในนิวยอร์คไทมส์ เกี่ยวกับแนวโน้มการใช้ “สีขาว” ในวงการแฟชั่นสำหรับหน้าร้อนที่จะมาถึง อ่านแล้วก็รู้สึกดีใจ ที่ใครบางคนพยายามจะลุกขึ้นมาบอกเป็นนัยว่า “นิวยอร์คเกอร์ทั้งหลาย เลิกแต่งดำเสียทีเถอะ” อันที่จริง ผมจำได้ว่าเมื่อสามสี่ปีก่อนก็ได้อ่านผ่านตาบทความทำนองนี้ มันเป็นช่วงสั้นๆ ที่ใครต่อใครต่างลุกขึ้นมาแต่งขาวหัวจรดเท้า หรือขาวสลับกับเบบี้บลูที่ดูไร้เดียงสา ตัดกับความเคร่งขรึมของเมืองศูนย์กลางธุรกิจอย่างนิวยอร์ค มันคงต้องมีอะไรบางอย่าง ที่ทำให้นิวยอร์คเกอร์ทั้งหลายโยนสีขาวสะอาดตาทิ้ง แล้วกลับไปแต่งดำเคร่งขรึมอย่างเดิม

เหตุพื้นฐานก็คือสีขาวมันเลอะเทอะง่าย เจอฝุ่นสองทีก็หมองทันตาขยิบ จะทานอาหารให้มูมมามตามใจอยากก็ไม่ได้ ต้องระวังไปเสียหมดทุกกิจกรรม การดูแลรักษาก็มากเรื่องกว่าสีดำเป็นกอง ไหนจะต้องกัดสีให้ขาวสะอาดอยู่ตลอด ยิ่งเป็นช่วงฤดูหนาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง ชุดขาวท่อนบนไม่มีทางได้อวดใคร เพราะถูกปิดไว้ด้วยเสื้อกันหนาวอย่างหนา พื้นที่ร้อยละหกสิบเป็นสีดำ โดยมีสีน้ำเงินเข้มและสีน้ำตาลตักตวงส่วนแบ่งที่เหลือ สีขาวสำหรับท่อนล่างเลิกพูดได้เลย เพราะคงได้เปียกหิมะที่ละลายเป็นโคลนบนทางเท้า ด้วยเหตุนี้กระมัง เวลามีกระแสการปฏิวัติให้หันมาแต่งสีขาว จึงมาๆ ไปๆ ด้วยระยะเวลาอันสั้นเหลือเกิน

ด้วยความที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบแฟชั่นผู้ชี้นำโทนสีปีละสี่ฤดู ผมจึงจำเป็นต้องคอยมอนิเตอร์ สำรวจความเคลื่อนไหวจากห้องเสื้อต่างๆ ผลการสำรวจตลาดแบบนักช้อบทุนจำกัดและซื่อสัตย์ต่อทุนในกระเป๋าตัวเอง ทำให้ผมพบสัจธรรมว่า “สีดำ” ยังคงยืนพื้นในแทบทุกแบรนด์ มันเหมือนเป็นการกระซิบแนะแนวกลายๆ ว่าถ้าคุณแต่งดำ ซื้อโทนสีมืดทึบ คุณก็พอที่จะเอาตัวรอดจากการเป็นเหยื่อหรือตกเป็นทาสแฟชั่น ที่เปลี่ยนแปลงตามสภาวะอารมณ์ของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่แฟชั่นดีไซน์เนอร์

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้เสื้อผ้าสีดำสามารถพาตัวเองผ่านยุคสมัยไปได้ แม้ว่ารูปแบบจะตกยุคไปบ้าง แต่สีดำก็ยังเป็นอะไรที่กลางๆ เรียกได้ว่าเพลย์เซฟ และเช่นเดียวกัน

ด้วยความที่ผมเป็นนักออกแบบ คำถามหนึ่งที่จะถูกถามบ่อยจากเพื่อนพ้องต่างอาชีพก็คือ “พวกนักออกแบบเป็นอะไรกัน ทำไมถึงต้องแต่งชุดดำทุกวัน ทำตัวราวกับมีรังสีของมนุษย์จำพวกความคิดสร้างสรรค์สูง “เคลือบแฝง” ประมาณว่าจริตทำ หรือ เปล่า” กระนั้นผมจึงถามกลับคนตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า “อะไรที่ทำให้คิดว่าสิ่งมีชีวิตที่แต่งดำเป็นนักออกแบบ?”

ความจริงแล้วนักออกแบบหรือนักโฆษณาไม่ได้แต่งตัวเหมือนรับจ้างไปงานฌาปนกิจทุกวัน (แม้ว่าในกรณีที่ต้องไปงานศพหลังเลิกงานจริงๆ ก็ดูจะสะดวกดี) ไม่ใช่ว่านักออกแบบทุกคนชอบที่จะแต่งสีดำ แล้วการหลงใหลในวัฒนธรรมขรึมหัวจรดเท้าก็ไม่ได้ระบาดแค่ในหมู่นักออกแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนักสร้างสรรค์จำนวนใช่น้อยที่เข้าข่ายกลุ่มผู้ต้องหาในหัวข้อดังกล่าว มิเช่นนั้นสเตอริโอไทป์อย่างว่าก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

นึกย้อนกลับไปจำได้ว่าผมเคยนั่งคุยกับนักศึกษาการออกแบบในเรื่องการแต่งกาย หลายหนเกิดคิดสงสารนักศึกษาที่ต้องแต่งเครื่องแบบแบบขอไปที ทับเสื้อสีฉูดฉาดบ้าง เรียบขรึมบ้างตามสไตล์ของแต่ละคน สาเหตุก็เพราะเขาเละเธอถูกกฏเหล็กของสถาบันต้นสังกัดบีบคอเอาไว้ไม่ให้แหลม นั่นในเวลาเรียน แต่อย่าให้หมดคาบเรียนเชียว เสื้อขาวเหล่านั้นสามารถหายไปในพริบตา รวดเร็วยิ่งกว่าซุปเปอร์แมนเปลี่ยนชุด เหลือไว้แต่เครื่องแต่งกายของแท้ที่แต่งมาประชันกัน ไม่ขอแสดงความคิดเห็นถึงระเบียบของสถานศึกษาว่าดีหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่จุดประสงค์ของหัวเรื่อง แต่จากตัวอย่างดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันสะท้อนอะไรบางอย่าง

ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางจากอุดมศึกษากับการเป็นนักออกแบบอาชีพในบริษัทโฆษณา นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นตัวของตัวเองสะบั้นหั่นแหลก เกลียดเครื่องแบบนักศึกษาเป็นที่สุด กลายไปเป็น “สเตอริโอไทป์นักออกแบบ” ในชุด “เครื่องแบบสีดำ” หรือมันเป็นกระบวนการสำเร็จรูปของการแสดงภาพการเป็นนักออกแบบมืออาชีพ? แสดงออกถึงวุฒิภาวะที่มากขึ้น ความรับผิดชอบในการดำรงชีวิตที่มากขึ้น? ซึ่งเมื่อผมมาลองวิเคราะห์ดูถึงเหตุและผลของวัฒนธรรมการแต่งดำ ผมก็เลยได้ข้อสรุปที่คิดว่าน่าสนใจบางประการ

ข้อดีของการแต่งดำก็มีอยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกันก็มีแง่มุมแปลกๆ ที่น่าคิดปนกันไป อย่างที่ทราบกันดีว่าโทนสีทึบช่วยหลอกความรู้สึก กล่าวคือช่วยปกปิดสัดส่วนที่ไม่พึงปรารถนา มันเป็นความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาที่บอกและใช้ต่อๆ กันมา ทำนองเดียวกันกับอย่าใส่ลายขวางถ้าน้ำหนักเกินพิกัด หรือความรู้พื้นฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ว่าสีดำนำพาความร้อนมากกว่าสีสว่าง จะว่าไปแล้วเรื่องการดูดความร้อนของสีดำก็เป็นหนึ่งในหลายมุม ที่สร้างข้อสงสัยให้กับบุคคลทั่วไป เวลาพูดถึงสเตอริโอไทป์ของนักออกแบบ

หากสีดำถูกใช้เพื่อการปกปิดจริง หรือการแต่งดำนั้นเป็นเพียงการสร้างความมั่นใจในตัวเองแบบสำเร็จรูป? พอมาคิดต่อในข้อสรุปเรื่องการปกปิด การแต่งชุดดำก็สามารถใช้ปกปิดความไม่มั่นใจ (เพื่อสร้างความมั่นใจ) ในการแต่งกาย ไม่ต่างอะไรกับการใช้สีดำเพื่อปกปิดขนาดและส่วนเกิน มันน่าสนใจที่สีดำสามารถนำไปใช้ปกปิดสรีระภายนอกและความมั่นใจภายใน หรือว่ามันเป็นข้อดีในการไม่ต้องคิดมากเรื่องการแต่งตัว เอาเวลาไปคิดคอนเซ็ปต์โฆษณาดีกว่า

ผมจำได้ว่าเคยถามนักออกแบบคนหนึ่งในเรื่องทำนองนี้ กลับกันตรงข้ามที่เขาใส่เสื้อสีขาวทุกวัน คำตอบที่ได้ก็คือไม่ต้องคิดมากว่าจะใส่อะไรแต่ละวัน เออ มันก็เป็นเหตุผลที่น่าฟังเหมือนกัน ก็คงอย่างที่ว่า “เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า” แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วมันประหยัดเวลาได้มากแค่ไหน? คิดงานได้มากขึ้นกี่มากน้อย? หรือประโยคดังกล่าวเป็นเพียงรูปประโยคบอกเล่าที่ใช้ตอบคำถาม โดยฟังแล้วกรุณาไม่ต้องคิดต่อให้ปวดหัว

อันที่จริงแล้ว ความหมายและความรู้สึกต่อการแต่งกายในชุดสีดำ มันถูกพัฒนาไปตามเหตุผลและกลไกของสังคม หากกลับไปถามรุ่นคุณตาคุณยาย เขาไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เรื่องของการแต่งดำเป็นนิจอย่างปัจจุบัน ขณะเดียวกันมันอาจจะทำให้เขานึกถึงงานศพหรือพิธีการพิเศษอะไรซักอย่างมากกว่าเอเจนซี่โฆษณา

ท้ายสุดแล้วเหตุผลและคำตอบทั้งหมด อาจจะถูกเฉลยอยู่ในวิชาศิลปะว่าด้วยทฤษฏีสีเบี้องต้นที่เรียนกันตั้งแต่ชั้นประถม ความที่สีดำเป็นธาตุสีหลัก (ในความคิดของเรา) ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ถูกระบุยกระดับให้เป็นแม่สีเหมือนแดง เหลือง น้ำเงิน และด้วยความที่สีดำเป็นสีที่ง่ายต่อการจับคู่เข้ากับสีอื่นและทำให้ดูดีได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้กระมัง มันจึงถูกเรียกใช้มากกว่าสีอื่นๆ

แต่คำถามที่ว่าทำไมบางคนถึงตกขอบไปกับสีดำหัวจรดเท้าเป็นกิจวัติ อันนี้ไม่สามารถตอบได้ คงต้องรบกวนให้ไปถามเขาเหล่านั้นเอาเองเป็นการส่วนตัว การแต่งดำเพื่อแสดงออกถึงการมีความคิดสร้างสรรค์เหนือมนุษย์ธรรมดาเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ด้วยเหตุผลบางประการปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดแบบนั้น เขาคงไม่ยินดียินร้ายกับความร้อนระอุของสยามประเทศ สรุปแล้ว การแต่งตัวของแต่ละคนเป็นเสรีภาพชนิดหนึ่งที่เราเรียกกันว่าสิทธิส่วนบุคคล

สีดำไม่ได้เป็นสีต้องห้ามแต่อย่างใด บางคนอาจพอใจที่จะแต่งดำมันทุกวันโดยไม่มีเหตุผล ก็ไม่ใช่เรื่องผิด จะแต่งดำด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่มีใครว่าอะไร ขอเพียงอย่าใช้มันปกปิดความเป็นตัวของตัวเองที่แท้จริงเพียงเพื่อสร้างภาพพจน์ก็พอ