คิดถึง นิตยสารฟรีสซ์

➜ บ้านเรามีนิตยสารแฟชั่นมากมายหลายหัวเกินกว่าจะนับ นิตยสารเกิดใหม่ก็มีให้เห็นกันแทบทุกเดือน โดยเฉพาะในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ดูเหมือนอุตสาหกรรมนี้สวนกระแสเศรษฐกิจเสียนี่กระไร มีใครบ้างไหม ที่พอจำได้ว่าราวปลายทศวรรษที่แล้ว ตอนที่ประเทศไทยเพิ่งตื่นหายมึนงงจากอาการโคม่า มีนิตยสารเล่มนึงเกิดขึ้นและหายไปจากแผงรวดเร็วชั่วข้ามคืน สำหรับหลายๆ คนมันคงเป็นแค่เพียงวัฏจักรของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ มีคนสักกี่มากน้อยที่ยังพอจะจำได้และพูดถึง เหมือนว่ามันสำคัญไปกว่าแค่เป็นนิตยสารฉบับหนึ่ง?

ใช่แล้ว…เรากำลังพูดถึงการมองทะลุเปลือกของนิตยสารแฟชั่น จนมองเห็นจุดเปลี่ยนที่นิตยสารเพียงหนึ่งฉบับมีผลกระทบต่อสังคม นึกย้อนกลับไปมันก็หลายปีมาแล้ว แต่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ผมจำได้ว่าคุยโทรศัพท์กับคุณชัชวาล ขนขจี บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง เขาชักชวนให้ผมเขียนบทความลงในนิตยสารออกใหม่ชื่อฟรีสซ์

นิตยสารเล่มนี้หน้าตาเป็นอย่างไร? คุณชัชวาล บอกว่าจะส่งตัวอย่างมาให้ดู ซึ่งผมเองก็พอทราบเป็นนัยอยู่ว่าพี่ชัชวาล ดูแลการออกแบบของนิตยสารฉบับนี้ ก็เลยไม่ได้เป็นห่วงเรื่องหน้าตาของตัวนิตยสาร วันต่อมาผมได้รับนิตยสารฟรีสซ์ ฉบับปฐมฤกษ์ พลิกดูครั้งแรกก็แปลกดีตรงที่ไม่รู้จะเริ่มอ่านตรงไหน จำได้ว่าตัวอักษรมันเหมือนเป็นลายตารางบางยิบไปทุกหน้าที่มีพื้นขาว

พลิกไปพลิกมา สมองซีกขวาเริ่มคิดตำหนิคุณชัชวาลว่าออกแบบให้อ่านได้ยากมาก แต่เมื่อใช้เวลาสักครู่หนึ่งสมองซีกซ้ายแปลงความถี่สิ่งที่เห็นไปทางตรงกันข้าม สมองซีกซ้ายเริ่มครอบงำ และนำเสนอเหตุผลให้สมองซีกขวาสั่งการยอมรับเหตุผลของสมองซีกซ้าย

ครั้งต่อมาที่ได้คุยกัน คุณชัชวาลก็ขอฟังความคิดเห็นส่วนตัว เกรงใจอยู่เหมือนกัน ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบเนื้อหาของนิตยสารแฟชั่นสูตรสำเร็จ ที่มีแต่ถอดบทสนทนา แล้วก็บทสนทนา บทแล้วบทเล่า ทั้งแบบจริงใจบ้าง เหนือจริงบ้าง มากด้วยจริตบ้าง ผมจึงไม่ได้ออกความคิดเห็นตรงนั้น

เท่าที่จำได้คือ ผมบอกคุณชัชวาลไปว่ารูปแบบมันเบามาก มันขาวโพลนไปหมด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแบบตัวอักษรที่บางเฉียบและการใช้พื้นขาวตลอดเล่ม จากนั้นผมจึงเฉไฉมาเข้าเรื่องบทความ บอกไปว่ามีบทความส่วนตัวภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีการอ่านที่มีต่อการออกแบบ หากแปลเป็นภาษาไทยแล้วลงในฟรีสซ์ มันคงช่วยตอบคำถามอุบัติการณ์ของแบบตัวอักษร และช่วยอธิบายการออกแบบของนิตยสารฉบับนี้ได้ไม่มากก็น้อย

ใครจะไปรู้บทความเรื่องที่ว่า ไม่มีโอกาสได้พิมพ์ เช่นเดียวกับฟรีสซ์เล่มสาม ที่ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแต่ไม่มีโอกาสได้เปรอะหมึกพิมพ์ คุยไปคุยมาผมก็อดที่จะถามคุณชัชวาลไม่ได้ว่าเสียงตอบรับของการออกแบบเป็นอย่างไร เขาตอบว่ากลุ่มคนทำงานวัยกลางคนขึ้นไปไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของนิตยสารอยู่แล้วจึงไม่ค่อยน่ากังวล กลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายดูเหมือนจะเปิดกว้างมากสุด กอปรกับรสชาติทางการออกแบบที่หลุดไปจากนิตยสารแฟชั่นไทยทั่วไปบนแผง จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ มองข้ามเรื่องความสามารถในการอ่าน แล้วไปเสพภาพถ่ายและการออกแบบแทน

คุณชัชวาลสำทับตบท้ายว่า ได้สอบถามนักศึกษาวารสารศาสตร์กลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับวิถีการอ่าน ปรากฏว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ผมเลยอดเสริมต่อไปให้พี่เขาฟังไม่ได้ว่า มันเป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นมีความอดทนในการอ่านข้อความบนแบบตัวหนังสือที่ไม่คุ้นเคย ตามทฤษฎีแล้ว ความอดทนตรงนี้จะน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ผมจึงได้ทีบอกไปว่า “พี่ยังวัยรุ่นอยู่”

จำได้ว่าขณะนั้นกระแสของตัวอักษรประเภทบางเฉียบกำลังระบาด ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากงานของ เฟเบียน บารอนด์ หลายปีก่อนหน้า หากใครไม่รู้จักขอแนะนำให้ไปละเลียดปกซีดี เบดไทม์ สตอรี่ ของมาดอนน่า ดูก็คงจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมีใครทำแบบภาษาไทยในลักษณะนี้ออกมาใช้ เครดิตตรงนี้มาทราบภายหลังว่า ลีโอ เบอร์เนทท์ เป็นคนริเริ่มผลิตฟอนต์ชื่อ แอลบี นิว ออกมาใช้ เท่าที่ทราบมา แอลบี นิว ถูกออกแบบมาเพื่อโปรเจ็กต์ของ ดิ เอ็มโพเรียม ต่อมาแอคเคานท์นี้ตกมาเป็นของ เอสซี แมทช์บ็อกซ์ ฟอนต์แอลบี นิว ก็เลยถูกปรับปรุงให้กลายมาเป็น เอสเอ็มบี เอ็มโพ

เมื่อเป็นที่ทราบกันแล้วว่าใครเป็นเจ้าเข้าเจ้าของแบบตัวอักษรตระกูลดังกล่าว แปลว่าถ้าหากฟอนต์นี้ปรากฏอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของคุณ ร้อยทั้งร้อยมันเป็นของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ทุกงานออกแบบ (ในที่นี้หมายถึงฟอนต์) นั้นเกิดขึ้นพร้อมสิทธิแต่กำเนิดโดยอัตโนมัติครับ หากใครไม่ทราบมาก่อน การจดขึ้นทะเบียนนั้นคือการแจ้งเกิดต่อเจ้าพนักงาน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสคุยกับคุณประชา สุวีรานนท์ ด้วยการนัดแนะของนิตยสารสารคดีเพื่อมาคุยกันเรื่องอักขรศิลป์และการออกแบบ (แต่เป็นที่น่าเสียดาย ประเด็นและเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ถูกถอดความมาเป็นตัวหนังสือให้ได้อ่านกัน)

คุยไปคุยมาก็มีความเห็นตรงกันในเรื่องปรากฏการณ์ของนิตยสารฟรีสซ์ ในจุดที่ว่า ถึงแม้ฟรีสซ์จะเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุบนแผงหนังสือ หรือความตั้งใจที่ถูกโยกออกไปจากสายตาของฝูงชนอย่างรวดเร็ว ฟรีสซ์กลับทิ้งความท้าทายในการอ่านให้เราขบคิด ทิ้งความเป็นไปได้ใหม่ของการเลือกใช้แบบตัวอักษรไว้ให้สังคม และเปิดช่องให้เกิด “อิทธิพลประสบการณ์” แก่นักออกแบบคนอื่นๆ ให้เดินตาม จนกลายเป็นเทรนด์ของการใช้ตัวอักษรบางเฉียบในบ้านเรา

ขณะเดียวกันอีกด้านของดาบสองคม ฟรีสซ์มีส่วนสมทบให้พฤติกรรมการใช้ตัวอักษรเพี้ยนไป ปัจจุบันนี้มันกลายเป็นว่าการเลือกใช้แบบตัวอักษร คือการเลือกแบบที่ฮิต ไม่ใช่เลือกใช้แบบตัวอักษรตามความเหมาะสม เราสามารถเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้จะโฆษณาอะไร ออกแบบให้ใคร ดูเหมือนจะไม่สำคัญเท่าไหร่ที่จะเสียเวลาเลือกแบบตัวหนังสือให้เหมาะสม แบบตัวหนังสือแบบเดียวกันสามารถขายของได้ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ น้ำยาปรับผ้านุ่ม บ้านจัดสรร หรือประกันชีวิต

จริงอยู่ที่ “ตัวอักษร” มีหน้าที่ประกอบเป็น “คำ” เพื่อการสื่อสารส่งความหมาย เป็น “รหัส” ที่สามารถถอดได้ด้วยความเข้าใจทางภาษาที่ตรงกัน เพื่อสื่อสารข้อความหรือใจความที่ต้องการ แต่หน้าที่ของนักออกแบบก็มีอยู่เช่นกัน นักออกแบบจำเป็นต้องทำให้ความหมายของคำ หรือประโยค หรือบทความนั้นๆ นำส่งเป้าหมายปลายทางอย่างสุนทรีย์และแยบยล ซึ่งแบบตัวอักษรสามารถสร้าง ส่งเสริม บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึก และนำความหมายของประโยคออกมาเป็นรูปธรรม มันคือคำตอบที่ว่าทำไม นักออกแบบจึงต้องมีหน้าที่เลือกแบบตัวอักษรให้เข้ากับลักษณะงาน

คนทั่วไปไม่ค่อยได้สนใจกับแบบตัวอักษรในเชิงลึก ส่วนใหญ่สนใจแค่ว่าขนาดเล็กไป หรือสนใจแค่ว่ามันทำให้อ่านยากหรือง่าย มันน่าสนใจตรงที่นิตยสารชั่วข้ามคืนเล่มหนึ่งอย่างฟรีสซ์มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทั้งในแง่ของการสนับสนุนให้เกิดการอ่านบนลักษณะตัวอักษรไทยที่ถูกออกแบบบนโครงสร้างภาษาอังกฤษ อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เกิดแรงสนับสนุนต่อจุดเปลี่ยนทางการออกแบบตัวอักษรไทย เพราะความสามารถในการอ่านแบบใหม่อนุญาติให้แบบตัวอักษรใหม่ถูกนำมาใช้งาน จะว่าไปแล้วความที่อ่านยาก มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายให้อ่านอยู่เหมือนกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ตัวอักษรของนักออกแบบกระทบต่อพฤติกรรมการอ่านของคนทั่วไป เปลี่ยนแปลงลักษณะของตัวอักษร และเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวอักษรภาษาไทยหลายปีก่อนได้สนทนากับอาจารย์เชาว์ ศรสงคราม หนึ่งในผู้ออกแบบตัวอักษรชั้นครูของบ้านเรา เจ้าของแบบตัวอักษร “ชวนพิมพ์ ” (หากใครเคยผ่านไปผ่านมาแถวโรงเรียนสตรีวิทยาหนึ่งแล้วคุ้นกับชื่อโรงพิมพ์ชวนพิมพ์ นั่นแหละที่มาของชื่อ อีเอซี ชวนพิมพ์ )

อาจารย์เชาว์ เล่าให้ฟังว่าบริษัทอีสเอเชียติก หรือที่คุ้นหูกันในนาม อีเอซี เคยอยากจะว่าจ้างให้ลอกแบบตัวอักษรของ ไทยวัฒนาพานิช เพื่อใช้กับเครื่องไลโนไทป์ ด้วยความที่เป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนั้น อาจารย์บอกว่าเสียเหลี่ยมที่ต้องไปลอกตัวอักษรที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าหลายปีให้หลังจึงคิดได้ว่าทำไมอีเอซีจึงต้องการให้ลอกแบบตัวอักษรของไทยวัฒนาพานิช เหตุผลก็เพราะคนทั่วไปคุ้นเคยกับการอ่านแบบตัวอักษรของไทยวัฒนาพานิชที่มีใช้ทั่วไปในแบบเรียน จึงกลายเป็นแบบตัวอักษรที่อ่านง่ายที่สุด ด้วยความคุ้นชิน

เจ้าความคุ้นเคยนี่เองที่นิตยสารอย่างฟรีสซ์หยิบยื่นให้กับแฟนของนิตยสารอายุสั้นฉบับนี้ มันจึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมทุกวันนี้เราไม่มีปัญหาในการอ่านแบบตัวอักษรที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือของออเร้นจ์ หรือสื่ออื่นๆ ที่นำเอาตัวอักษรไทยบางเฉียบออกแบบบนโครงสร้างภาษาอังกฤษมาใช้เป็นเนื้อความ มันน่าสนใจไปอีก ตรงที่แบบตัวอักษรที่ว่าอ่านยากสามารถกลายเป็นแบบที่อ่านง่ายได้ด้วยความเคยชิน พอเกิดความเคยชิน มันก็อนุญาติให้แบบโครงสร้างของตัวอักษรเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

นิตยสารฟรีสซ์เป็นอีกหลักฐานหนึ่งในประวัติศาสตร์การออกแบบบ้านเราที่แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีของความคุ้นเคยที่เป็นเหตุและผล ต่อการเกิดพัฒนาการทางการอ่านและรูปแบบ (รูปร่าง) ของตัวอักษร ไทยอาจฟังดูเหมือนว่ามันยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน อันนี้ก็คงต้องไปลองพินิจกันดู แล้วให้น้ำหนักความสำคัญกันเอาเอง อ่านแล้วก็ไม่จำเป็นต้องคิดมากให้ปวดหัว ที่จริงแล้วมันเป็นภาระของนักออกแบบต่างหาก ที่ควรเข้าใจว่านักออกแบบคือหนึ่งในนักสร้างประสบการณ์

ประสบการณ์คือสิ่งที่เรา คุณ หรือ ใคร ประสบได้ในสังคม แต่ละประสบการณ์ที่สายงานอาชีพต่างๆ หยิบยื่นต่อสังคมส่งผลลัพธ์ต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ตรงบ้างอ้อมบ้าง ล้วนแล้วแต่แบ่งความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับใดระดับหนึ่ง ถึงแม้ประสบการณ์นั้นอาจจะเป็นเป็นเพียงนิตยสารอายุสั้นๆ ฉบับหนึ่งก็ตาม