➜ ทุกวันนี้ผมแทบจะนึกไม่ออกเสียแล้ว ว่าการผลิตงานออกแบบโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคอมพิวเตอร์จะทำได้อย่างไร จำได้ว่าสมัยที่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัย คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบยังไม่ได้มีบทบาทมากนัก
อาจจะเรียกได้ว่ารุ่นผมเป็นรุ่นแรกๆ ที่เริ่มขยับตัวมาหยิบจับคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ จำได้ว่าเครื่องแมคอินทอชตัวแรกที่ใช้คือ แอปเปิ้ลทู คุณพ่อซื้อต่อมาจากเพื่อนๆ อีกที จำได้ว่าเขียนเส้นสร้างสี่เหลี่ยมบนหน้าจอได้นี่ตื่นเต้นมาก พอมาใช้กับงานออกแบบจริงๆ น่าจะเป็นช่วงปีสองปลายๆ ในมหาวิทยาลัย เมื่อที่บ้านกัดฟันซื้อ แอปเปิ้ล แอลซีทู และเครื่องพิมพ์ขาวดำเลเซอร์ หกร้อยดีพีไอ โอ้โห หรูสุดๆ เรียกได้ว่าทำงานส่งอาจารย์ได้อย่างเนี้ยบ จากนั้นการออกแบบก็เริ่มขึ้นอยู่กับคอมพิวเตอร์ล้วนๆ
เมื่อได้ชิมการจัดหน้ากระดาษได้ด้วยตนเอง ควบคุมแบบตัวอักษรได้อย่างที่ต้องการ เลือกสีและลองเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องเกรงใจช่างคอมพิวเตอร์ที่ร้านทำเพลทอีกต่อไป
ผมก็เริ่มเข้าใจว่าอนาคตต่อไปนี้นักออกแบบจะต้องรับผิดชอบกับงานที่ตนเองทำมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะจบเป็นไฟล์ ถ้ามันจะเกิดความผิดพลาดมันใดๆ แนวโน้มก็น่าจะเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียวโปรแกรมพื้นฐานในสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้นัก จะต่างก็ตรงที่ไม่มีโปรแกรมเกี่ยวกับเว็บ ภาพเคลื่อนไหว และการสร้างวัตถุสามมิติ จำได้ว่านอกจากตัวเครื่องเองจะมีราคาแพงแล้ว ราคาหน่วยความจำหรือที่เรียกว่า แรม (Ram) ยิ่งไปกันใหญ่ เครื่องใครมี 16 MB นี่เรียกว่าทุ่มหมดกระเป๋าเลยทีเดียว
ที่เล่ามาเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น มันเป็นเรื่องประมาณบวกลบสิบห้าปีที่ผ่านมานี้เอง เทคโนโลยีในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซื้อคอมพิวเตอร์วันนี้พรุ่งนี้ก็ตกรุ่นแล้ว ยังไม่นับโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ที่ทะยอยออกเวอร์ชั่นใหม่กันทุกปี
พอมองกลับไปจากตรงนี้ ผมจึงเข้าใจว่าผมยืนอยู่บนตะเข็บระหว่างนักออกแบบรุ่นก่อนคอมพิวเตอร์เข้ามาตั้งบนโต๊ะในบริษัทออกแบบ กับรุ่นที่เข้ามาเรียนการออกแบบพร้อมๆ กับคอมพิวเตอร์ กอปรกับการที่ปัจจุบัน ผมได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งขลุกอยู่ในแวดวงการศึกษาการออกแบบ จึงได้เห็นว่าคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์ในสองแง่ มุมแรกคือ สำหรับออกแบบอาชีพหรือนักศึกษาที่มีความสามารถสูง คอมพิวเตอร์ก็จะเหมือนอาหารเสริมให้งานออกมาดียิ่งขึ้น หรือถ้าใครปรับตนเองเข้ากับวิถีปฏิบัติของเทคโนโลยีได้ก็จะยิ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ มากมาย
ขณะเดียวกันในมุมที่สอง ที่ผู้ใช้มีทักษะทางการออกแบบค่อนข้างน้อยแต่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี คอมพิวเตอร์จะถูกใช้เป็นตัวปกปิดอาการด้อยสมรรถภาพทางการออกแบบ แถมเจ้าคอมพิวเตอร์เองก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ก่อให้เกิดความตกต่ำทางด้านความประณีต และทักษะการออกแบบของนักศึกษาที่สัมพันธ์กับมือ เช่น การผลิตชุดงานตัวอย่าง ลากไปถึงการเลือกใช้ และคำนึงถึงพื้นผิววัสดุ
ที่ร่ายยาวมานี่ ก็เพราะผมเกิดสะกิดใจกับวัฒนธรรมล่าสุดของการออกแบบ มันเป็นลักษณะการออกแบบที่ปัจจุบันนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นที่นิยมทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา และโทรทัศน์ ผมมักเรียกมันว่า “วัฒนธรรม 3D”
กล่าวคือการสาดเสียเทเสียของเทคนิคจากการใช้โปรแกรมการออกแบบในลักษณะที่ละเลยหลักการของสุนทรียศาสตร์ที่นักออกแบบได้ร่ำเรียนมา แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีรายการโทรทัศน์รายการใด ที่ไม่มีไตเติ้ลเข้าออกรายการเป็นสามมิติพุ่งไปพุ่งมา
นิตยสารบนแผงก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ไม่ต่างกันเท่าไร ในดีกรีของรูปแบบดังกล่าว ออกจะดีกว่าโทรทัศน์อยู่บ้างก็ตรงที่ความบ้าคลั่งเริ่มลดน้อยลงไปบ้าง อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมนี้ได้เริ่มถูกอุปถัมภ์โดยนิตยสารสำหรับตลาดล่างและแคตตาล็อกของห้างร้านค้าปลีกใหญ่ทั้งหลายมันเป็นการเตลิงเปิดเปิงไปกับคอมพิวเตอร์ เมื่อไม่รู้จะออกแบบอย่างไรให้เกิดงานลงบนหน้ากระดาษเปล่าๆ เทคนิคเหล่านี้จึงถูกนำมาเป็นการถมหน้ากระดาษให้เกิดอะไรสักอย่างที่ดูคล้ายกับการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำตัวหนังสือสามมิติอย่างไร้ทิศทางและเหตุผลใดโดยสิ้นเชิง มันเป็นหลักฐานการแสดงออกของ “การออกแบบ” ที่ยอมให้คอมพิวเตอร์มีความคิดเหนือ “คนออกแบบ”
ยังจำได้แม่นว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผมนั่งถกหัวข้อนี้กับ คุณพงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ อาจารย์สอนการออกแบบที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ถึงเรื่องวัฒนธรรมการออกแบบชนิดที่คอมพิวเตอร์ควบคุมความคิดอ่านของมนุษย์ผู้ออกแบบ
คุณพงศ์ธรยกตัวอย่างเปรียบเปรยไว้ได้น่าสนใจดีจริงๆ เขาบอกว่า “การเข้าใจงานออกแบบมันก็เหมือนการหัดขี่จักรยานสองล้อ ถ้ามันขี่ได้แล้วมันก็จะไม่ลืม” ผมเลยเกิดความคิดต่อว่า พวกที่ขี่จักยานสองล้อแบบมีสองล้อเล็กๆ ช่วยพยุง แล้วไม่สามารถขี่สองล้อได้เองเสียที ก็คงเป็นคนที่ยังไม่เข้าใจงานออกแบบเสียทีเดียวกระมัง แล้วสองล้อเล็กๆ ที่ใช้พยุง นัยหนึ่งมันก็อาจจะเปรียบถึงคอมพิวเตอร์ที่ช่วยผลิตวัฒนธรรม 3D
ผมเองไม่เคยนับว่า “คนที่ใช้โปรแกรมออกแบบบนคอมพิวเตอร์ได้” เป็น “นักออกแบบ” เพราะสิ่งที่แยกนักออกแบบกับคนใช้คอมพิวเตอร์ ก็คือทักษะและวิธีคิดของการออกแบบ ไม่ใช่ทักษะการใช้โปรแกรม แต่อย่าพยายามมาตีความว่าใครเหนือกว่าใครให้เสียเวลา เพราะมันคงไม่ได้อะไรขึ้นมา สู้เอาเวลาไปสังเกตุวัฒนธรรม 3D ที่ล้อมรอบเราอย่างไม่รู้ตัว ทำความเข้าใจกับมัน แล้วหาคำตอบให้ตัวเองน่าจะมีประโยชน์อักโขกว่า
การก้าวตามเทคโนโลยีให้ทันนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคปัจจุบัน แต่การรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยีแล้วสามารถควบคุมมันได้นั้นยิ่งสำคัญกว่า
หนึ่งในจิตกรเอกของโลกอย่างปิกัสโซ่เคยกล่าวไว้ว่า “Computers are useless, they only give answer.” จะว่าผมตกยุคก็ไม่ว่ากัน แล้วผมจะเขียนบทความนี้ใหม่อีกที ตอนที่คอมพิวเตอร์มันคิดอะไรได้มากกว่าการประเมินผลเพื่อหาคำตอบจากคำสั่งที่ต้องป้อนเข้าไป