➜ โดยปกติแล้วจะเป็นที่ทราบกันว่าในภาคเรียนที่สอง ผมจะไม่ค่อยรับสอนหนังสือที่ไหน อันที่จริงแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่ผมเอาไว้ใช้ประกอบกิจการแถมกิจกรรมส่วนตัว อ่านหนังสือเพิ่มเติม และอะไรอื่นๆ เทือกนั้น แล้วก็ควานหาวัตถุดิบใหม่สำหรับฤดูกาลสอนถัดไป
แต่เทอมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผมทำตัวหลุดจากข้อแม้ปัจเจกเชิงดัดจริตดังกล่าว หลังจากที่บอกรับห้องเรียนนอกรอบปัจเจกเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความน่าสนใจของห้องเรียนและวิชาที่รับผิดชอบก็อยู่ตรงที่ นักศึกษากว่าครึ่งห้องเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมส์ ประเทศอังกฤษ เป็นวาระการแลกเปลี่ยนที่ทำกันทุกปีระหว่างสองสถาบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
จะว่าไปแล้วเบอร์มิงแฮมส์ ไม่ใช่เมืองใหญ่วุ่นวายเมื่อเทียบกับกรุงเทพ หากจะเทียบกันให้ถูกคู่น่าจะเป็นลอนดอนมากกว่า ดังนั้นการที่นำนักศึกษาจากเมืองเล็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว มาอยู่ในเมืองหลวงขนาดใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นที่มาของเหลี่ยมมุมที่น่าสนใจ
ในคาบแรก ผมจำได้ว่าเริ่มต้นชั่วโมงด้วยการแนะนำตัวตามธรรมเนียม จากนั้นก็เริ่มพูดคุยเรื่อยเปื่อยเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและเพิ่มสภาพคล่องของบทสนทนา ตระเตรียมคำถามไว้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการสร้างกิจกรรมและละลายพฤติกรรม
ตามประสบการณ์แล้วนักศึกษาไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ระบบนี้ เพราะไม่ค่อยได้ถูกปลูกฝังให้มีส่วนร่วมในห้องเรียนหรือการแสดงความคิดเห็น ในขณะที่นักศึกษาตะวันตกเท่าที่เคยสัมผัสมานั้นกลับตรงกันข้าม คำถามเชิงการออกแบบตามระเบียบที่ต้องถามเป็นคำถามแรกเห็นจะหนีไม่พ้น “ในฐานะที่ตนเองเป็นนักออกแบบ รู้สึกอย่างไรกับกรุงเทพเมื่อแรกเห็น”เพียงคำถามเดียว คำตอบที่ได้ และบทสนทนาต่อเนื่องในคาบเรียนแรกวันนั้น ก็กินเวลาเกือบทั้งคาบเรียน แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้คำถามที่ตระเตรียมมาอีกเป็นกระบุง
นักศึกษาแลกเปลี่ยนยกมือตอบกันเป็นระวิง ในขณะที่นักศึกษาไทยถูกถามคำถามที่ตอบยากยิ่งกว่า เพราะใกล้ตัวจนไม่สามารถหยิบจับมาตอบได้คล่องตัวนัก “ในฐานะที่ตนเองเป็นนักออกแบบ รู้สึกอย่างไรกับกรุงเทพที่เราอยู่” นักศึกษาไทยจึงขอสงวนความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งผมก็เข้าใจอยู่เหมือนกันว่ามันเป็นคำถามที่ฟังดูไม่ยากแต่ไม่ง่ายนักที่จะตอบ
สิ่งที่น่าสนใจจนต้องเก็บมาเขียน ก็เห็นจะเป็นคำตอบแนบคำถามจากนักศึกษาหญิงแลกเปลี่ยนคนหนึ่ง เธอเปรยว่า “แปลกใจที่พบว่าเมืองไทยใช้ภาษาอังกฤษเยอะมาก พอๆ กับภาษาไทยเลย” เออ เธอสังเกตุเห็นอะไรบางอย่าง จากนั้นเธอก็ถามต่อด้วยความสงสัย “ดิฉันสังเกตุได้จากสื่อแทบทุกสื่อ มักใช้ภาษาอังกฤษในการพาดหัว ตอนแรกมันทำให้ดิฉันนึกว่าคนไทยคงจะพูดสองภาษา แต่เปล่าเลย เรามีปัญหาอย่างมากกับการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันที่นี่” แล้วเธอก็แนบคำถามพ่วงมาว่า “ในฐานะที่เป็นนักออกแบบ ดิฉันสงสัยว่าโฆษณาบนสื่อต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษจะสามารถส่งเสริมการขายได้อย่างไร ในเมื่อคนทั่วไปไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน” นักศึกษาหัวแดงอีกหลายคนเริ่มขยายผลจากคำถามดังกล่าว เริ่มยกตัวอย่างป้ายโฆษณา และสื่ออื่นๆ จนใช้เวลาถกกันเลยเถิดคำตอบแถมพ่วงด้วยคำถามดังกล่าวทั้งตรง คม และเกิดจากความสงสัยโดยแท้
สมองผมเริ่มกระบวนการในการย่อยข้อมูล คำถามนี้เป็นคำถามที่บ่งบอกอะไรหลายแง่มุม ประการแรกคือการรู้เท่าทันองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบที่ตนเองมี และเข้าใจมันพอที่จะกลั่นออกมาเป็นคำถามที่ดีได้ ประการที่หนึ่งจุดหนึ่ง เป็นคำถามจากนักศึกษาอังกฤษชั้นปีที่สอง ประการที่หนึ่งจุดสอง คำตอบพ่วงคำถามแบบเป็นเหตุเป็นผลลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในนักศึกษาชั้นปีที่สองของไทย ประการที่สองผู้ถามมีข้อสังเกตุบางประการต่อการออกแบบและพัฒนาการของวัฒนธรรมร่วมสมัยในบ้านเรา ประการที่สามผู้ถาม ถามในฐานะเจ้าของภาษาที่ไม่เข้าใจวิธีการนำภาษาของเขาไปใช้ในวัฒนธรรมอื่น ประการที่สี่คือการย้ำคำถามที่ว่า เรานักออกแบบไทยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาไทยด้วยเหตุผลข้ออ้างทางความงาม ความยากในการจัดวาง และความลงตัวหรือเปล่า มันชัดเจนจนคนภายนอกรู้สึกได้หรือ? ประการที่ห้าจากท่าทีและน้ำเสียงแล้ว ผู้ถามถามแบบสงสัยโดยใฝ่รู้ผมกล่าวถึงและตอบคำถามลักษณะนี้มาบ่อยครั้ง
ในการพูดคุยกับนักออกแบบในต่างประเทศ มันเป็นการง่ายที่จะพูดถึงปัญหาด้วยตัวเองและพยายามตอบมันในวงที่จำกัด มันง่ายกว่าตรงที่นักออกแบบเหล่านั้น ไม่ได้มาเห็นปัญหาที่ผมพล่ามด้วยตนเองแล้วนำให้เกิดความสงสัยด้วยตนเอง ในกรณีของนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ยิงคำถามกลับมานี้น่าสนใจกว่า เพราะเป็นข้อสงสัยจากการสัมผัส เขาไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ที่เห็นจึงเป็นความคาใจ ผมแปลคำถามเป็นไทยแล้วส่งต่อให้นักศึกษาไทยไปคิดเล่นพักหนึ่ง ก่อนเริ่มตอบคำถามด้วยข้อเท็จจริง
นักศึกษาที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยที่รักทุกท่าน ต่อข้อสงสัยของท่าน ใช่ครับคนไทยไม่ได้ พูด ฟัง อ่าน เขียนภาษาอังกฤษคล่องกันทุกคน แต่ไม่ได้หมายว่าเขาเหล่านั้นที่ผ่านชั้นมัธยมมาแล้วอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกเอาเสียเลย แต่ถ้าข้อความนั้นซับซ้อนหรือต้องการความเข้าใจในภาษาอย่างมาก อันนี้ก็ไม่แน่
ต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมถึงเกิดการใช้ภาษาอังกฤษในการออกแบบกันอย่างมากมายเหลือเกิน มันเป็นข้อสงสัยที่ผมเองก็ไม่กล้าที่จะชี้ชัดลงไปให้คุณให้โทษกับใคร “มันมีเรื่องเล่ามาอยู่ว่านักออกแบบไทยยึดติดกับความคิดที่ว่า ภาษาไทยใช้ในการจัดหน้ากระดาษให้สวยและเท่ได้ยาก”
ทันใดนั้นนักศึกษาไทยที่สงวนท่าทีอยู่นานเริ่มออกความคิดเห็นประปราย พยักหน้าเข้าใจว่าเคยได้ยินเรื่องเล่าดังกล่าวมาก่อนผมเลยต้องเสริมคำตอบลงไปอีกเพื่อให้ชัดเจน ลักษณะการสร้างก๊อปปี้ภาษาไทยให้สอดคล้องกับการจัดวาง เอาเข้าจริงๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจให้มันทำงานด้วยกัน นัยหนึ่งคืออักขรศิลป์กับอักษรศาสตร์ ไม่ทำงานร่วมกัน โดยส่วนตัวผมว่าน่าจะมีการเชื่อมโยงกันให้มากขึ้นระหว่างสองศาสตร์นี้
ในขณะเดียวกันสิ่งที่นักออกแบบพูดกันเสมอเมื่อใช้ภาษาไทยในการออกแบบ ก็เช่นเรื่องการตัดคำและรูปประโยคที่ต่อเนื่อง (ไม่ต้องพูดถึงแบบตัวอักษรที่มีให้เลือกไม่หลากหลาย) ขนาดว่ายังไม่นับเรื่องสระโน่นไม้นี่ห้อยบนล่าง เราในฐานะนักออกแบบคงต้องทบทวนความเข้าใจว่าภาษาไทยก็คือภาษาไทย นักออกแบบและผู้ใช้ภาษาไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการเขียนได้ชั่วข้ามคืน อย่างไรเสียมันก็คือข้อแม้ในการออกแบบ ทำให้เป็นจุดเด่น มองมันให้เป็นเสน่ห์ แล้วห้ามที่จะไม่ใช้มัน ผมว่ามันออกดูดีจะตายไป
มาช่วยกันทำให้เรื่องเล่าที่ว่าเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าดีกว่าแน่นอนว่ามีเรื่องราวและคำถามอื่นๆ ที่น่าสนใจตามมาจากคาบเรียนดังกล่าว บอกได้เพียงแค่เกือบทั้งหมดสะท้อนอะไรที่น่าสนใจอันโน้มนำไปในทิศทางเดียวกัน ประสบการณ์จากห้องเรียนทดลองเชิงปฏิบัติการนี้ ทำให้ผมได้แง่มุมที่ตอกย้ำอะไรหลายอย่างจากบุคคลภายนอก ที่มองเข้ามาในภาพรวมของวัฒนธรรมร่วมสมัยประเทศไทย นี่แค่ในเหลี่ยมของการออกแบบนะครับ แล้วที่ว่ามานี่ก็ไม่ใช่จากการมองของนักออกแบบอาชีพเสียด้วย