หลายอย่างที่เราคิดว่าฟรีแต่มันไม่ได้ฟรีอย่างที่คิด ที่ผมกล่าวเกริ่นมา ก็ใช้ได้ดีกับปัญหาเรื่อง “แบบตัวอักษร” หรือที่เราเรียกกันทับศัพท์สั้นๆ ว่า “ฟอนต์” ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นนิจก็คงจะทราบดีว่าฟอนต์นั้นเป็นละมุนภัณฑ์ขนาดจิ๋ว ที่แจกฟรีมากับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เปิดเครื่องขึ้นมามันก็อยู่ในนั้น ทุกครั้งและทุกเครื่อง มันมาจากไหน ใครเป็นคนทำ อันนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่เขาอ้างว่าแถมมากับเครื่อง คุณครับราคาค่างวดของมันก็ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมระบบปฏิบัติการซึ่งก็รวมอยู่ในราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้วนั่นเอง
พอลองจำแนกฟอนต์ตามลักษณะงานบนคอมพิวเตอร์แล้ว ฟอนต์ที่คุณซื้อมาทางอ้อมมีอยู่สองจำพวก จำพวกแรกก็คือฟอนต์ที่ใช้แสดงผลในระบบปฏิบัติการ พูดให้ง่ายก็คือฟอนต์ที่ใช้สื่อสารบนหน้าจอและเมนูนั่นเอง อีกจำพวกก็คือฟอนต์ที่มีเพื่อให้เกิดตัวเลือกและความหลากหลาย สองจำพวกที่ว่านี้ไม่ใช่จำพวกที่มีปัญหาหรอกครับ เจ้าตัวที่เป็นที่ถกเถียงกันมันคือจำพวกที่สามต่างหาก ซึ่งก็คือแบบตัวอักษรที่เกินความต้องการพื้นฐานบนระบบปฏิบัติการ แบบตัวอักษรแปลกๆ ที่ไม่มีให้เห็นซ้ำๆ บนคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ในเชิงการออกแบบนั้น นักออกแบบจำเป็นอย่างยิ่งในการพึ่งพาฟอนต์ที่หลากหลายสำหรับการผลิตงาน
ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดความต้องการแบบตัวอักษร ที่สามารถสอดคล้องกับเนื้องานชิ้นนั้นๆ ความต้องการตรงนี้เองที่เป็นเหตุให้เจ้าฟอนต์จำพวกที่สามเข้ามาเพ่นพ่านในคอมพิวเตอร์ บ้างเรียกฟอนต์กลุ่มนี้ว่า “ดีไซน์เนอร์ฟอนต์” อีกชื่อที่มักใช้เรียกกันก็คือ “บูติกฟอนต์” ทำไมเหรอครับ?
มันก็ไม่ต่างจากการช้อปปิ้งเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น เพราะในวงการออกแบบเลขนศิลป์ เขาก็มีเรื่องของเทรนด์การใช้แบบตัวอักษร และลักษณะของสไตล์การออกแบบเหมือนกัน
ผมว่าเจ้าฟอนต์กลุ่มที่สามนี่ล่ะครับที่มีปัญหา ซึ่งก็คือเรื่องการได้มาครอบครอง การลักลอบทำซ้ำ ลามไปถึงการทำซ้ำแล้วนำมาขาย น่าตกใจที่พบว่าบูติกฟอนต์ภาษาอังกฤษในบ้านเราที่พบเห็นในคอมพิวเตอร์ หรือที่เห็นเสร็จออกมาเป็นงานออกแบบบนสื่อต่างๆ กว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นการลักลอบนำมาใช้โดยผิดกฎหมายทั้งสิ้น มันก็คงไม่ต่างอะไรกับสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยมิชอบ
ที่กล่าวมาแค่เรื่องของฟอนต์ภาษาอังกฤษที่ยังไม่สามารถปกป้องอะไรได้ แล้วจะนับภาษาอะไรกับบูติกฟอนต์ภาษาไทยบูติกฟอนต์ภาษาไทยมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งนักออกแบบไทยทราบกันดีอยู่แล้ว ชื่อที่เรียกใช้กันประจำก็คงไม่พ้น ดีบี อีเอซี พีเอสแอล ยูพีซี ประมาณนี้ ฟอนต์ตระกูลต่างๆ ที่ว่ามาถูกก๊อปปี้กันจนสังคมยัดเยียดให้มันกลายเป็นฟรีแวร์ไปเสียแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องการนำฟอนต์ที่มีอยู่แล้ว มาเปลี่ยนชื่อ ทำซ้ำโดยไม่ให้เกียรติเจ้าของผลงานอีกต่างหาก ไม่น่าเชื่อว่าบางฟอนต์ในจำพวกที่ว่า สามารถพาตนเองไปอยู่ในเอกสารหมายเหตุระดับชาติได้โดยที่ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ
เราไม่ค่อยได้คิดถึงผลเสียของการละเมิดสิทธิในการใช้ฟอนต์ภาษาไทย มันเป็นเหตุให้เรามีฟอนต์ใหม่ๆ ใช้กันน้อย เพราะอะไรหรือ? ผมบอกได้เลยว่าทุกวันนี้คนทำงานประเภทนี้ต้องทำด้วยใจรักเท่านั้นครับ พร้อมกับทำอาชีพอื่นๆ เพื่อการดำรงชีพ ไม่มีใครอยากมาลงทุนทำอะไรที่ไม่ได้ผลตอบแทน แถมยังต้องคอยตามปกป้องสิทธิของตน
ส่วนหนึ่งผมต้องขอบคุณ คุณพัลลภ ทองสุข ผู้ออกแบบฟอนต์ตระกูลพีเอสแอล เจ้าของฟอนต์ดีๆ หลายชุดที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ในช่วงแรกที่บ้านเราขาดแคลนฟอนต์ภาษาไทย เขาเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดคดีความที่สร้างความฮือฮาและช่วยขยับไฟมาส่องหัวข้อนี้ให้สว่างในสังคมอีกครั้ง อันนำไปสู่การเปิดประเด็นและจุดประกายให้สังคมโดยรวมหันมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันใหม่
คุณพัลลภมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และนับได้ว่าทำให้เกิดความตื่นตัวพอสมควรทีเดียว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงอาจจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของตัวอักษรไทย ยุคทองในการเกิดแบบตัวอักษรใหม่ๆ และยุคทองของการก๊อปปี้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในแนวเส้นขนานผมว่าเราควรต้องทำความเข้าใจเรื่อง “การออกแบบแบบตัวอักษร” กับการเป็น “เจ้าของตัวอักษร” มันเป็นคนละเรื่องกัน เชื่อเถอะครับ ไม่มีนักออกแบบตัวอักษรคนไหนต้องการที่จะเป็นเจ้าของตัวอักษรหรอก อย่างที่ทราบกันนั่นแหละครับ ตัวหนังสือเป็นสาธารณสมบัติ แต่ที่เขาออกมาเรียกร้องกันคือสิทธิในการป้องกันงานออกแบบและละมุนภัณฑ์ที่ผลิตออกมาต่างหาก
ผมว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวฟอนต์ หรือขนาดของไฟล์หรอกครับ มันอยู่ที่ความเข้าใจประเด็นข้างต้นที่กล่าวมามากกว่า งานอะไรก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่สามารถนับว่าเป็นธุรกิจได้ เมื่อไม่มีรายได้ก็เท่ากับว่าไม่มีแรงขับเคลื่อน มันก็จะเป็นได้เพียงแค่งานอดิเรก ดังนั้นถ้าการออกแบบตัวอักษรไม่ก่อให้เกิดรายได้ มันก็คงต้องขึ้นป้ายว่าเป็นงานอดิเรก แล้วมันก็บังเอิญเป็นงานอดิเรกที่ให้ประโยชน์กับคนจำนวนมากเสียด้วย ฟังดูขัดหลักการและเหตุผลยังไงพิกล
ฟอนต์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติครับ มันต้องเกิดจากใครสักคน ใช้เวลา ใช้แรงงาน ใช้ความรู้ในการสร้างมันขึ้นมา ในเมื่อไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ แล้วฟอนต์จะอยู่เหนือข้อเท็จจริงนี้ได้อย่างไร?