ชื่อเดิมจากหนังสือบันทึกบรรยาย:
การออกแบบตัวอักษร และการจัดวาง กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
➜ หากเราพิจารณาถึงหลักการที่ใช้ทั่วไปในการออกแบบตัวอักษรในสมัยก่อนที่ Gutenberg จะริเริ่มทดลองความเป็นไปได้ของการพิมพ์ จะเห็นได้ว่าการใช้ตัวอักษรนั้นไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรมากมายไปกว่าการอ่าน ซึ่งแน่นอนสิ่งที่ทำได้ในขณะนั้นก็คือการเขียน หรือการสลักหิน ซึ่งเป็นการเขียนหรือบรรทึกข้อความให้สวยงาม และที่สำคัญคือการอ่านได้ใจความ เพื่อให้สื่อสารเข้าใจในข้อมูล จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมา เป็นเรื่องของการสื่อสารข้อมูลโดยพื้นฐานร้อยเปอร์เซ็น แต่พอหลังจากเกิดการพิมพ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบตัวอักษร และแล้วแบบตัวอักษรในการพิมพ์ ก็ขยับฐานะเข้าไปเป็นตัวแทนความงามทางด้านภาษาของหนังสือหรือข้อความ ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดการออกแบบเพื่อที่จะจัดวางให้ตัวอักษรสวยงาม ก็จึงเกิดความสัมพันธ์ในเชิงออกแบบ การออกแบบตัวอักษรจึงต้องมีหน้าที่รองรับสิ่งที่จะนำตัวอักษรไปใช้ ตัวอักษรกับการออกแบบเลขนศิลป์ก็จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะทั้งสองเป็นศาสตร์นั้นทำหน้าที่เกื้อหนุนกันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น เมื่อเป็นเช่นนี้การเพิ่มขึ้นของแบบตัวอักษรก็ส่งผลให้งานออกแบบเลขนศิลป์เปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันความหลากหลายของแบบตัวอักษรก็เริ่มมีมากขึ้นตามความต้องการของการออกแบบเลขนศิลป์ และเมื่อไม่สามารถหาแบบตัวอักษรมารองรับงานออกแบบได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้ว่านี่เป็นวงโคจรที่ทำให้การออกแบบเลขนศิลป์หมุนเวียน และเกิดความใหม่อยู่เสมอ
การที่จะออกแบบตัวอักษรหนึ่งชุด เบื้องต้นเราจำเป็นต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายในการทำ ต้องทราบว่าทำไปเพื่อสนองงานประเภทใด จุดมุ่งหมายต้องการให้เป็นแบบที่คำนึงถึงการอ่าน หรือเป็นตัวหัวเรื่อง หรือสามารถใช้งานได้ทั้งสองประเภท อีกทั้งต้องคำนึงด้วยว่าขนาดของตัวอักษรที่จะต้องใช้บ่อยๆนั้นเป็นขนาดประมาณเท่าใด จะเห็นได้ว่าการออกแบบตัวอักษรไม่สามารถเป็นไปได้ หากข้อมูลเบื้องต้นไม่เพียงพอ ซึ่งกรณีนี้สามารถพบได้ทั่วไป เพราะโดยทั่วไปผู้จ้างวานมักจะให้เพียงข้อมูลทางด้านความรู้สึกของแบบที่อยกจะให้เป็น ดังนั้นจึงควรจะมีข้อมูลเบื้องต้นให้พร้อมก่อนที่จะลงมือออกแบบ และเมื่อถึงขั้นตอนการออกแบบเราก็ต้องทำความเข้าใจว่า เวลาที่เรานำไปใช้ ทุกตัวอักษรไม่มีตำแหน่งการเรียงคำที่ตายตัว ตำแหน่งล้วนถูกเปลี่ยนแปลงตามตัวสะกดและคำที่สร้างรูปประโยค ในเมื่อทุกตัวอักษรต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้นการออกแบบให้ตัวอักษรแต่ละตัวมีความลงตัวในตัวมันเอง และมีความสมบูรณ์ในแต่ละตัว จึงกลับเป็นการทำลายแบบตัวอักษรนั้นๆ ดั่งคำพูดเปรียบเปรยที่ว่า หากใบหน้าคนเราสวยไปทุกส่วน เมื่อมารวมกันบนใบหน้าเดียวกลับกลายเป็นไม่สวยไป เพราะแต่ละส่วนมีลักษณะเด่นที่แย่งความสนใจซึ่งกันและกัน เราคงได้เคยเห็นตัวอย่างกันมาบ้างแล้ว คำกล่าวที่ว่านี้ก็สามารถช่วยตอบคำถามของการออกแบบตัวอักษรได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้การออกแบบจึงมีความจำเป็นในการที่จะต้องถัวเฉลี่ยและให้ความสำคัญกับการออกแบบชุดตัวอักษรในภาพรวมนั่นเอง เพื่อที่ว่าเวลาเรานำไปใช้จะได้เกิดความสวยงามที่เป็นหนึ่งเดียว และเกิดความสอดคล้องต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เราควรทำความเข้าใจว่า การออกแบบตัวอักษรนั้นก็เหมือนกับการออกแบบสาขาอื่นๆ ที่ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว และฏกทุกข้อก็สามารถละเว้นที่จะคำนึงถึงได้
ได้มีการสรุปกันแล้วในวงการการออกแบบตัวอักษรว่า สิ่งที่จะเรียกได้ว่า original idea สำหรับการออกแบบตัวอักษรคงจะไม่มีเพราะทุกแบบตั้งอยู่บนหลักการและโครงสร้างที่ตัวอักษรแต่ละตัวจะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้แนวความคิดของการออกแบบตัวอักษร โดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิดที่ล้วนก่อเกิดอยู่บนพื้นฐาน ของการท้าทายความเป็นไปได้ และขอบเขตข้อจำกัดของลักษณะพื้นฐานของตัวอักษร กล่าวเช่น เฉพาะตัวอักษร ”ก” นักออกแบบมีความเป็นไปได้มากเพียงใดที่จะเปลื่ยนแปลงรูปแบบออกไป หรือจะสร้างความหลากหลายได้มากเพียงใด ที่ยังคงทำให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกันว่านี่คือ อักษร”ก” ข้อจำกัดนี้เองที่เป็นเหมือนเพดานของการออกแบบตัวอักษร เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่าการออกแบบตัวอักษรมีข้อจำกัดที่นักออกแบบมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากแบบอักษรชุดนั้นๆ ยังมีความต้องการในการถอดรหัสความเข้าใจทางด้านภาษาจากบุคคลทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันเพดานที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นข้อปิดกั้นไม่ให้เกิดการทดลองในสิ่งที่มีความน่าจะเป็นอื่นๆ เช่นการเกิดขึ้นของ Concept Font ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างของรูปแบบใหม่ๆของ font ที่เป็นมากกว่าการถอดระหัสทางภาษาศาสตร์ ดังตัวอย่างของหลายๆ font จากงานสัมมานา Fuse เช่นผลงาน font ที่ชื่อว่า Goodevilของ Tibor Kalman ที่ใช้ความขัดแย้งมาเล่นกับ Upper case และ Lower case ซึ่งจะเห็นได้ว่านักออกแบบบางคนมอง font เป็นลักษณะของงานนามอธรรม ซึ่งก็เป็นแง่มุมใหม่ที่นักออกแบบมีต่อ font หรืออีกตัวอย่างจาก Fuse อย่าง You can read me ของ Phil Baines ที่เป็นการตัดทอนตัวอักษรให้เหลือเพียงลักษณะเด่นของแต่ละตัว เพื่อเป็นการท้าทายผู้อ่านว่ายังจำตัวอักษรนั้นๆได้หรือไม่
การค้นหาความน่าจะเป็นอื่นๆ ในการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ให้กับงานออกแบบตัวอักษร
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และก็เกิดมานานแล้วพร้อมๆกับการเกิดของภาษา ซึ่งรูปแบบของตัวอักษรเองก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงเรื่่อยมาตามการพัฒนาทางด้านสังคม ความคิด และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นยุคต่างๆตั้งแต่ Oldstyle, Transitional, Modern, Slab Serif หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในเข้าสู่ยุคของ San Serif ถึงตรงจุดนี้อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมเราจึงยังมีความต้องการแบบตัวอักษรใหม่ๆ? คำถามนี้สามารถตอบได้โดยการยกเอาคำกล่าวของ Frederic Goudy หนึ่งในทำเนียบนักออกแบบตัวอักษรที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาล เขาเคยกล่าวไว้ว่า”เรายังคงมีความต้องการแบบตัวอักษรใหม่ๆ อยู่เสมอ และคงจะไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเรายังต้องการบางสิ่งที่สามารถสะท้อนความเป็นไปของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย สิ่งเหล่านี้สามารถบอกเรื่องราวความความรู้สึกของห้วงเวลานั้นๆได้เป็นอย่างดี” จากคำกล่าวนี้ หากเราพิจรณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า แบบตัวอักษร clsssic อย่างเช่น Bodoni, Garamond, Times, Baskerville, Caslon หรือแม้แต่ Goudy เองก็ตาม ต่างก็สะท้อนเรื่องราวของตัวมันเองที่แตกต่างกันตามยุกสมัยของตน โอบอุ้มความรู้สึกที่แตกต่างกัน หากคิดต่อไปจากที่ Frederic Goudy ได้กล่าวไว้ เราจะเห็นได้ว่าแบบตัวอักษรที่กล่าวมานี้ได้รับใช้งานออกแบบมานานมากจนเกือบจะเรียกได้ว่า ทุกวันนี้เราสามารถใช้แบบตัวอักษรเหล่านี้กับงานประเภทไหนก็ได้ แล้วความพิเศษ หรือความแตกต่างจากการเลือกใช้ตัวอักษรยุคก่อนๆมันจะอยู่ตรงไหน? ด้วยเหตุนี้เราจึงยังมีความต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองลักษณะการออกแบบที่เปลื่ยนไปตามสภาพสังคม และความคิด ความต้องการตัวอักษรแบบใหม่ๆ ในประเด็นนี้ก็คงจะเหมือนกับคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องการเสื้อผ้าใหม่ๆนั่นเอง นักแหกกฏอย่าง David Carson ก็เคยแสดงความคิดเห็นในทำนองที่สอดคล้องกับความคิดของ Frederic Goudy ไว้ในบทสัมภาษณ์ของเขากับนิตยสาร How นอกจากที่ Carson ได้ยกเอาคำพูดเดียวกันที่ Goudy เคยกล่าวไว้ เขายังเสริมอีกด้วยตัวอย่างที่น่าคิดอีกด้วยว่า ”ลองนึกภาพว่าคนในสมัย Shakespeare เขาแต่งตัวกันอย่างไรจึงจะเรียกว่าแต่งกายเรียบร้อย ปัจจุบันนี้หากต้องแต่งกายเรียบร้อย เราต้องแต่งกายให้เรียบร้อยแบบยุค Shakespeare หรือเปล่า?” ตรงนี้สามารถขยายความได้ว่า แต่ละยุคสมัยก็ต้องการบรรทัดฐานที่ไม่เหมือนกัน และแนวความคิดลักษณะนี้ก็ตอบปัญหาว่าทำไมเรายังมีความต้องการแบบตัวอักษรใหม่ๆอยู่
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การลงมือออกแบบตัวอักษรสักชุดก็เท่ากับเป็นการ ทดลองความเป็นไปได้อย่างไม่รู้ตัว จึงเหมือนกับเป็นภาคบังคับในการออกแบบตัวอักษร อย่างเช่น กรณีของ Herbert Bayer ในปี1925 ได้นำแนวคิดและงานออกแบบตัวอักษร ที่เขาเองเรียกว่า Universal Alphabet ออกสู่สาธารณชน ซึ่งเป้าหมายของเขาก็คือต้องการแสดงให้สังคมเห็นถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ตัวอักษรสามารถที่จะเป็นไปได้ Bayer ออกแบบ Universal Alphabet โดยนำเสนอการสร้างรูปทรงของตัวหนังสือจากรูปทรงพื้นฐานทางเรขาคณิต ตัดทอนความยุ่งยากของ serif ออกไป และทดลองสร้างรูปทรงใหม่ๆแบบง่ายๆ มาใช้แทนโครงสร้างของลักษณะตัวอักษรเดิมๆ เช่นการใช้โครงสร้างรูปทรงของ lower cap a เพื่อมาเป็น capital A เป็นต้น ทุกวันนี้อาจจะดูเป็นสิ่งที่ไม่แปลกใหม่อะไร หากจะเห็นลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับแบบอักษรสมัยใหม่อย่าง Filosofia Unicase ของ Emigre (แนวความคิดของการออกแบบตัวอักษรที่ปัจจุบันเรียกว่า Unicase จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในยุค Digital แต่อย่างใด) ตรงนี้จะเห็นได้ว่าการออกแบบของ Bayer ในปี 1925 ก็ได้สร้างให้เกิดบรรทัดฐานความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับนักออกแบบรุ่นต่อๆมา และวงจรลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในโลกของการออกแบบไม่ว่าจะเป็นแขนงใดก็ตาม
ทุกวันนี้อะไรหลายๆอย่างเปิดรับการการออกแบบเชิงทดลองมากขึ้น กฏเกณฑ์ต่างๆของการออกแบบก็ไม่เป็นที่ผูกมัดนักออกแบบดั่งเช่นในยุดของ modernist นักออกแบบสามารถแสดงออกได้มากขึ้น จากความคิดใหม่ๆที่ทดลอง และท้าทายความคิดของนักออกแบบยุค modern ในปัจจุบัน แบบตัวอักษรได้รับการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่คนในยุค modern ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่นการใช้เลข 5 แทนตัว S ในแบบตัวอักษรบางตัวก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับนักออกแบบยุค postmodern ประกอบกับเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้อะไรหลายอย่างง่ายขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเป็นไปได้หรือเป็นไปได้ยากก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการ cut และ paste ในโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ คุณค่าของแบบตัวหนังสือในปัจจุบันจึงไม่สามารถวัดที่การอ่านได้อย่างเดียว ในบางครั้งจึงต้องเป็นหน้าที่ของคอนเซ็ปมากกว่ารูปร่างและหน้าตา การคำนึงถึงการอ่านนั้นถูกลืมไปชั่วขณะโดยกระแสของ deconstruction และ post new wave (or Ray Gun culture) ซึ่งกว่าที่กระแสดังกล่าวจะจางหายไปก็ร่วม10ปี และผลลัพย์ที่ได้จากยุคเฟื่องฟูของ digital font เรามีแบบตัวอักษรใหม่ๆ แปลกๆ มากมายเต็มไปหมด แต่นั่นไม่ใช่จุดสำคัญเท่ากับที่เราเริ่มคิดได้ และตระหนักว่าหน้าที่ของตัวหนังสือที่แท้จริงคือการอ่าน เราได้เรียนรู้ว่านี่คือความจริง มันเป็นสิ่งที่นักออกแบบในยุค postmodern ได้เรียนรู้จากการทดลองกับ typography ในปลายยุค80 ถึง 90 นั่นเอง เราจะเห็นได้ว่าแนวหน้าทางความคิดในยุค postmodern อย่าง emigre ก็ยังแอบยอมรับอย่างเงียบๆ โดยการขยับปรับเปลี่ยนลักษณะแบบตัวอักษรของ Emigre Font เข้าสู่การตอบสนองการอ่านมากขึ้น จะเห็นได้จากการเปิดตัว Mrs Eaves ของ Zuzanna Licko ในปี96 และก็ตามมาด้วย Ottomat ของ Claudio Piccinini ในปี97 ซึ่งก็เช่นเดียวกับ David Carson ที่ลดความระห่ำของงาน และการใช้ตัวหนังสือลงหลังจาก The End of Print World Tour จบลงในปลายปี96 สิ่งที่กล่าวมาได้บอกอะไรบางอย่างแก่เราว่า นักออกแบบสามารถออกแบบตัวหนังสืออย่างไรก็ได้ หรือจัดวางอย่างไรก็ได้ ตามความเข้าใจ ความรู้ หรือ คอนเซ็ปในการออกแบบ นักออกแบบสามารถสร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้นในการทำให้ผู้อ่านยอมรับกับแบบตัวหนังสือใดๆก็ตาม แต่นักออกแบบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีทางของอ่านได้ และกับสิ่งที่จำเป็นต้องอ่านมันยังคงจำเป็นที่จะต้องอ่านได้ต่อไป และทั้งหมดเกิดขึ้นบนบรรทัดฐานความสามารถในการอ่านของคนแต่ละยุค
แล้วต่อไปนี้ typography จะเป็นอย่างไร? คงเป็นคำถามในใจหลายๆคน เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการทดลองที่เกิดกับ digital font ของ postmodernist เราได้เรียนรู้ว่า นักออกแบบอนุญาติให้ตนเองทดลองอะไรต่อมิอะไรมากมายที่ font สามารถที่จะเป็น บนความเป็นไปได้ของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีกลายมาเป็นขอบเขตกำหนดในการทำงานออกแบบ นักออกแบบทุกยุคก็พยายามที่จะทดลองสิ่งต่างๆในขอบเขตที่เทคโนโลยีในยุคของตนสามารถทำได้ เมื่อสมัยที่นักออกแบบต้องใช้ phototype setting นั่นก็คือขอบเขตของการสร้างงานออกแบบที่สามารถกระทำได้ เมื่อมีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่ ขอบเขตที่จำกัดของ phototype setting ก็ถูกปลดปล่อย นักออกแบบก็มีเนื้อที่ให้ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้ทดลองอะไรมากมายในพื้นที่ที่ยังไปไม่ถึงในขอบเขตของคอมพิวเตอร์ และวันหนึ่งเมื่อเราพบที่สุดของขอบเขตที่คอมพิวเตอร์จะให้เราได้ digital age มันก็จะกลายไปเป็นประวัติศาสตร์ กลายไปเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ได้ศึกษาและท้าทายเพื่อที่จะถูกทดสอบต่อไป มันก็คงไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เราพยายามทดลองกับทฤษฏีของ modernist ในทุกวันนี้นั่นเอง แล้ววงจรการทดสอบความเป็นไปได้บนขอบเขตใหม่ที่สิ่งที่จะเข้ามาทดแทนคอมพิวเตอร์ก็คงเป็นอะไรที่เพิ่มอิสระภาพให้กับการออกแบบมากกว่านี้หลายเท่าตัว
การออกแบบในปัจจุบันคงไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่จะไปถูกบรรจุในปะวัติศาสตร์การออกแบบในอนาคตเท่านั้น เพราะสิ่งที่เป็นผลกระทบโดยตรงต่อคนส่วนใหญ่ในวันนี้ก็คือ typography ได้เข้ามาใกล้กับชีวิตของคนปัจจุบันมากขึ้น (ที่จริงแล้วมันอยู่ใกล้มานานแล้วแต่ไม่มีใครสนใจ) font ซึ่งไม่เคยที่จะต้องขายสู่ผู้ใช้รายย่อย ปัจจุบันผู้ซื้อรายย่อยก็สามารถซื้อมาใช้ได้ (หรือก็อปมาใช้ได้) คนที่ไม่เคยต้องรู้อะไรเกี่ยวกับแบบตัวอักษรก็ต้องมาสัมผัสกับสิ่งนี้จากการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน เช่นการที่ต้องตัดสินใจเลือกแบบตัวหนังสือในการพิมพ์รายงาน สิ่งเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนแปลงบทบาทและโฉมหน้าของ typography ที่มีต่อการออกแบบในยุคต่อๆไป คนทั่วไปจะมีความเข้าใจเรื่อง typography มากกว่าที่เคย และมีความคุ้นเคยกับ font มากขึ้น มันอาจจะกลายเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมเพิ่งค้นเจอ และให้การยอมรับกับศาสตร์นี้ มาถึงตรงจุดนี้จึงอยากจะขอหยิบยืมเอาเรื่องเล่าของ Mattew Carter นักออกแบบตัวอักษรชั้นแนวหน้าของโลกทุกวันนี้ ที่ได้เล่าให้ Lewis Blackwell ฟังเพื่อนำมาเขียนในหนังสือ 20th Century Type Remix มาสนับสนุนประเด็นที่ได้กล่าวมา Mattew Carter เล่าว่าไม่นานมานี้เมื่อตอนปลายยุค 80 ไม่ต้องคิดไปถามเรื่องของ type กับคนทั่วไป แต่ทุกวันนี้มันเปลื่ยนไปแล้ว หลังจากที่ ตัวเขาสนทนากับเพื่อนในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับงานออกแบบตัวหนังสือที่เขากำลังทำอยู่ พนักงานเสริฟในร้านทักขึ้นว่า ผมว่าผมได้ยินคุณคุยกัยเรื่อง font อยู่ใช่ไหม? เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง และมันก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาสนับสนุน การคาดการณ์เกี่ยวกับ typography ในอนาคตดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ใครจะไปรู้ อีกหน่อยเมื่อศาสตร์นี้เข้าถึงบุคคลทั่วไปเหมือนคณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ เราอาจจะมีคนทั่วไปที่มีรสนิยมในการใช้ตัวอักษรที่ดีกว่าคนที่เรียกตัวเองว่านักออกแบบ ก็เป็นไปได้ และนี่ก็จะเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนไปของสังคม เป็นตัวแปรใหม่ที่น่าจับตามอง มันจะเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของนักออกแบบรุุ่นต่อๆไปและเป็นการบีบให้นักออกแบบต้องทำการบ้านมากขึ้น