ปฎิรูปการเรียนการสอนการออกแบบ(เถอะ…ได้โปรด)

➜ จากปัญหาต่างๆในสังคม ไปจนถึง เศรษฐกิจ การเมือง หลายๆครั้งที่คุยกันในหมู่เพื่อนๆนักออกแบบยามพบปะสังสรรค์ ก็ดูเหมือนว่าทุกคนมองต้นเหตุ และการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปในทางเดียวกัน มักจะได้ยินการกล่าวโทษว่า ความผิดนั้นเริ่มมาตั้งแต่ระบบการศึกษาของบ้านเรา เราต้องเริ่มแก้ไขการศึกษา ซึ่งดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจปัญหาดี คงเป็นเพราะวันนี้ คนในสังคมเอง รวมถึงนักออกแบบได้รู้สึกกับตนเองแล้วว่าได้ตกเป็นผู้เสียหายจากกระบวนการการศึกษา

เริ่มจากห้องเรียน กับการปลูกฝังโครงสร้างทางความคิดที่ไม่พัฒนาตามสภาวะการณ์โลก เรื่อยมาถึงปัจจุบันกับข้ออ้างล่าสุด เหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการชลอการเติบโตของวงการออกแบบ ซึ่งจริงๆแล้วในสภาวะเช่นนี้น่าจะมีการส่งเสริมการออกแบบให้มากขึ้นเพื่อพัฒนารูปลักษณ์ของสินค้า ผลิตภัณฑ์ การบริการ ให้สามารถแข่งขันในระบบการค้าเสรีบนเวทีนานาชาติได้ แต่ก็ดูจะเหมือนที่ผ่านๆมาอีกเช่นเคย เพราะบ้านเราไม่เคยใส่ใจกับการออกแบบมาแต่ไหนแต่ไร บ้านเราไม่มีมุมมองตรงจุดนี้

การออกแบบในบ้านเราก็คงจะไม่ได้รับการเหลียวแลต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน เพราะปัญหาอื่นๆที่เป็นปัญหาคอขาดบาดตายของประเทศนี้ สังคมนี้ ยังไม่ได้รับการทำให้หมดไป ซึ่งดูเหมือนจะใช้เวลามานานมากแล้ว และจะต้องใช้เวลาอย่างมากอีกต่อไป

เพราะฉะนั้นวงการการออกแบบก็คงต้องดิ้นรนกันไปตามสถานะภาพที่จำกัด หลายๆครั้งที่ทำให้อดคิดแบบเหนื่อยหน่ายไม่ได้ว่าการเกิดมาเป็นนักออกแบบไม่ว่าแขนงไหนในประเทศนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนมีกรรม ถึงคุณจะมีความสามารถมากมายเพียงใด แต่โอกาสการที่จะมีลูกค้าเปิดให้ทำอะไรที่ดีมันมีน้อยเหลือเกิน ส่วนหนึ่งก็เข้าใจลูกค้าที่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ซึ่งบางครั้งจุดนี้ก็เป็นที่มาของงานออกแบบระดับล่างที่นักออกแบบดีๆรับกันไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือรสนิยมของลูกค้าที่จะซื้องานออกแบบ หลายต่อหลายคราที่ลูกค้าทำตัวเป็นนักออกแบบสมัครเล่นเสียเอง

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ความชำนาญเฉพาะด้านทางการออกแบบที่ร่ำเรียนมา เรียนกันมาทำไม? ในบางครั้งเราอาจจะพบว่า คุณภาพของคนในสังคมที่มีอำนาจตัดสินใจการซื้องานออกแบบ กลับมีความสามารถในการยอมรับอะไรใหม่ๆน้อยกว่ากลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรืองานชิ้นนั้นๆ เสียอีก หรือในทางกลับกัน นายทุนที่เปิดใจและเปิดกระเป๋าก็ต้องเลิกลากันไปเพราะนักออกแบบทำงานที่แปลกเกินไป ใหม่เกินไป ไม่มีใครเข้าใจ จึงไม่เป็นที่ยอมรับ อาจจะเรียกได้ว่าปัญหาทัศนคติ และวิสัยทัศน์สั้น แล้วทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช้การศึกษาที่ปลูกฝังความคิดผิดๆที่มีต่อการออกแบบให้กับนักออกแบบ และขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปลูกฝังอะไรเลยเกี่ยวกับคุณค่าของการออกแบบ และงานออกแบบให้คนอื่นๆในสังคม

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจน ตัวอย่างต่อไปนี้น่าจะทำให้นักออกแบบ และผู้ซื้องานออกแบบได้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดการเจ็บป่วย เราไปหาหมอ เพื่อต้องการให้รู้สึกดีขึ้น เรายินดีที่จะเคารพข้อวินิจฉัยของหมอ และปฏิบัติตาม ความเชื่อมั่นในความเป็นแพทย์มาจากไหน? ในขณะที่ บริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน เมื่อมีปัญหาด้านภาพพจน์ และภาพลักษณ์ สมควรเกิดการว่าจ้างนักสร้างสรรค์ต่างๆ ก็ควรที่จะได้รับความเชื่อมั่นเช่นเดียวกับหมอ ใช่หรือไม่?

ปัญหาตรงนี้มาจากค่านิยมที่ผิดๆของบ้านเราที่ประเมินความสำคัญของการออกแบบต่ำ มองการออกแบบเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพมากนัก เราจึงสามารถเห็นระบบที่ลูกค้าเป็นผู้กำกับศิลป์กิติมศักดิ์อยู่เนืองๆ ค่าใช้จ่ายที่ใช้กับการออกแบบก็มักจะถูกเข้าว่า เพราะถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่ยากเย็นอะไร สัญลักษณ์ของ หน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท ที่ไม่ได้เรื่อง ไม่มีหลักการ และไม่มีการวางแผนภาพพจน์ รูปลักษณ์การนำไปใช้ จึงมีให้เห็นอยู่ดาดดื่น แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า หมอเก่งๆ ก็มักจะหายาก และบางครั้งก็เป็นการนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูง ลูกค้าหลายคนก็ทำใจไม่ได้ที่จะต้องซื้องานออกแบบในราคาที่มันสมควรที่จะเป็น หรืออีกกรณีก็คือการที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายมาก่อนจากบุคคลที่เป็นเพียงช่างฝีมือแต่เรียกตัวเองว่านักออกแบบ จึงทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีขึ้นมา

ลองมองดูต่อไปจะเห็นว่าหากเราปล่อยให้สังคมบ้านเราแวดล้อมด้วยงานออกแบบที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กรุ่นใหม่ๆที่เติบโตขึ้นมาก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ และยึดเอาเป็นบรรทัดฐาน เข้าใจว่านี่คือดีแล้ว นี่คือมาตรฐานของสังคมนี้ ในขณะที่พวกเขาจะมองงานออกแบบต่างประเทศเป็นสิ่งที่มีมาตรฐานกว่า ดีกว่า ซึ่งหาได้เข้าใจไม่ว่า ศักยภาพการออกแบบในบ้านเรานั้นไม่ได้ยิ่งหย่อนเลยจากระดับนานาชาติ บ้านเรานั้นยังพอที่จะมีบุคคลากรที่เก่งๆอยู่บ้าง ขาดแต่เพียงคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความพร้อม กล้าที่จะจ้างและซื้องานออกแบบ

ก่อนที่เราจะไปกล่าวโทษปัจจัยในด้านของผู้ซื้องานนั้น ในฐานะนักออกแบบเราควรพิจรณาความผิดพลาดของวงการของตนเสียก่อน คำถามที่มักจะถูกหยิบยกมาเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เป็นประจำก็คือการเรียนการสอนการออกแบบในบ้านเรา ผู้สอนสมควรที่จะส่งเสริมนักศึกษาให้ออกแบบตามความเป็นตนเอง หรือสร้างเพื่อให้รองรับตลาดงาน? ณ วันนี้ การสอนแบบจบออกไปเพื่อรองรับการทำงานตามสไตล์ตลาดเดิมๆควรได้รับการพิจรณาปรับปรุงได้แล้ว

มหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างนักออกแบบที่รู้จักตนเองเลย แต่กลับกันมหาวิทยาลัยสอนการออกแบบกลับกลายเป็นแหล่งทำลายความเป็นคิดของตัวบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่เราขาดแคลน การริเริ่มสร้างสรรค์จากความคิดที่มาก่อนข้อแม้ทางการตลาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในลักษณะการเรียนการสอนของบ้านเรา นักศึกษาถูกมองข้ามความสามารถตนเองกับโจทย์เดิมๆ ที่อาจารย์ก็ไม่ค่อยได้ทำการบ้านในการให้งานนักศึกษา อีกทั้งยังมีลักษณะของอาจารย์ที่ไม่พัฒนามุมมอง การเปิดกว้าง และติดตามความเคลื่อนไหวในปัจจุบันของรูปแบบการออกแบบ ลักษณะความคิด วิธีคิด และเทคโนโลยีใหม่ๆ

หลายๆครั้งที่งานนักศึกษานำงานที่มีแต่รูปแบบโดยเอาเทคนิคมาขู่ และอาศัยความไม่ทันเกมของผูุ้สอนมาเป็นความได้เปรียบ จุุดนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก หรือแม้แต่ข้อเสียถาวรของนักศึกษาไทยที่ไม่พยายามหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งถ้าจะหวังพึ่งอาจารย์ที่ไม่ให้การศึกษาตนเองอยู่ตลอดเวลาด้วยแล้วนั้น มันจะก็คงจะไปกันใหญ่

การที่จะสอนนักออกแบบรุ่นใหม่ให้พัฒนาตามแนวทางส่วนบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่ควรได้รับการศึกษาและทดลองปฏิบัติ เราคงต้องยอมทนเจ็บปวดกับการที่นักศึกษารุ่นแรกๆ อาจจะประสบปัญหากับการหางาน เผชิญกับความยากลำบากที่จะผลิตงานบนโครงสร้างสังคมเก่า เพราะความที่เขามีวิธีคิดที่แตกต่างจากเดิมๆ แต่ในผลระยะยาวเราจะมีนักออกแบบที่เข้าใจในวิชาชีพมากขึ้น เราจะสังเกตุได้จากว่านักออกแบบส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่มีสไตล์และจุดยืนที่แน่นอน จะทำงานประเภทใดก็ได้ รูปแบบก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยเพราะการศึกษาแบบเก่าสอนให้ตอบโจทย์ตามลักษณะงาน ขอให้ทำสไตล์ที่ตอบรับกับโจทย์ ซึ่งไม่ใช่การตอบโจทย์ตามลักษณะงานโดยใช้ภาษาของตนเองในการตอบ

อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ลูกค้าจะเอาอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนั้น ปัญหาตรงนี้จะหมดไป เมื่อประชากรนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เข้าใจและมีจุดยืนของตนเอง มีจรรยาบรรณในอาชีพและแนวทางของตน (เหมือนกับหมอที่จะไม่อะไรที่ผิดจรรยาบรรณของอาชีพตนเอง) ไม่ใช่ทำตัวเป็นโสเภณีทางการออกแบบ

หากเราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างนี้ได้ ระบบกูออกแบบได้ทุุกสไตล์ขอให้เงินดี ก็ควรจะเป็นอดีตไปได้แล้ว วันหนึ่งหากระบบการศึกษาผลิตคนรุ่นใหม่นี้ออกมามากเพียงพอ โครงสร้างในสังคมก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อนักออกแบบก็จะเริ่มมีความเด่นชัดที่แตกต่างกันในการตอบโจทย์ มีสไตล์และลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น หากจะให้ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็อย่างเช่น ถ้าบริษ้ทคุณต้องการงานแบบ CSA เพราะฉะนั้น Pentagram ก็ไม่ใช่ที่ที่คุณต้องการ

การที่จะเริ่มแก้ไขโดยไปตามแก้ที่ลูกค้าซึ่งเป็นคนหมู่มากก่อนนั้นคงเป็นไปได้ยากยิ่ง นักออกแบบเองควรที่จะเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจังในการให้การศึกษากับนักออกแบบด้วยกันเอง รวมถึงนักศึกษาการออกแบบทั้งหลายด้วย

ปัญหาการไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของนักออกแบบเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง พฤติกรรมการอ่านของบ้านเราก็น้อยอยู่แล้ว นักออกแบบที่พยายามให้ความรู้แก่ตนเองโดยการอ่านหลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีนั้นยิ่งมีจำนวนน้อยมาก กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดนักออกแบบที่หย่อนสมรรถภาพในสังคม และคอยผลิตงานที่หย่อนสมรรถภาพออกมา หรืองานประเภทตามใจลูกค้าเข้าว่า เพราะเหตุผลทางด้านการเงิน โดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณของนักออกแบบที่ควรจะมี ลืมไปว่านักออกแบบพึงมีความเคารพในวิชา และรักษาลักษณะเฉพาะ (สไตล์) ส่วนบุคคลเอาไว้ และตอบโจทย์ด้วยภาษา (สไตล์) ของตนเอง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจเงินเป็นใหญ่ ตรงนี้หรือเปล่าที่ทำให้คุณค่าของงานออกแบบในสังคมบ้านเราถูกมองว่าเป็นเรื่องถัดๆไป?

หากการให้ความเคารพในงานออกแบบนั้นไม่มีจากนักออกแบบแล้ว เราจะมาต่อว่าให้ลูกค้าเคารพในงานออกแบบได้อย่างไร? ปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาอื่นที่เป็นปัญหางูกินหางอย่างไม่รู้จบ เพราะไม่มีใครเลิกกินหางใคร

โรงเรียนที่สอนการออกแบบก็ควรที่จะเลิกเน้นลักษณะการสอนที่เน้นการผลิตนักศึกษาให้ทำงานเชิงพาณิชย์อย่างเดียวได้แล้ว เราได้ทำลายความเป็นตัวของตัวเองของนักศึกษาไปแล้วหลายรุ่น และนี่เป็นเหตุให้งานออกแบบบ้านเราไม่ไปถึงไหนเสียที นักออกแบบรุ่นใหม่ก็ต้องเกิดมาเพื่อมาแห้งตายบนโครงสร้างนี้ เพราะความไม่เป็นตัวของตัวเองของนักศึกษาที่เราผลิต กว่าเขาจะหาตัวเองเจอมันก็สายไปเสียแล้ว เราจึงไม่มีวันได้เห็นคนที่สร้างภาษาของการออกแบบเพื่อตอบโจทย์อย่าง Neville Brody, David Carson, P. Scott Makela, Jonathan Barnbrook หรือ Berry Deck เกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะเราทำลายเขาตั้งแต่ในโรงเรียน โดยปลูกฝังเรื่องของการมีชีวิตอยู่รอดไปวันๆในฐานะนักออกแบบให้แทน