จาก หนังสือบันทึกบรรยาย ในชื่อเดียวกัน
➜ หากพูดถึงความเป็นคลาสสิคในยุค 50 ก็คงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึง สไตล์การออกแบบที่เรียกว่า Swiss Style ไปได้ ลักษณะที่เรียกว่า Swiss Style นั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 บนรากฐานอิทธิพลของ Bauhaus – Constructivism และ De Stijl ซึ่งเป็นช่วงที่การใช้ grid ในการสร้างสรรค์งานยังคงได้รับการขานรับอย่างต่อเนื่อง และถูกผสมผสานเข้ากับการใช้เทคนิคใหม่ๆในการตกแต่งแก้ไขภาพถ่าย (photomontage) นอกเหนือไปจากนั้น การพัฒนาด้านการพิมพ์ก็ได้เปิดช่องทางใหม่ และลูกเล่นใหม่ๆให้กับนักออกแบบ ในยุคนี้อย่างมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ Swiss Style นั้นมีความเด่นชัด และมีความแตกต่างจากการออกแบบในเงาของ Bauhaus ก็คือลักษณะการใช้ตัวอักษรที่แตกต่างออกไป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความสะดวกสบาย และตัวเลือกที่มากขึ้นจากเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์ด้วยแสง (phototype setting) ที่เติบโตขึ้นมารองรับกับเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่เริ่มพัฒนาตัวอย่างรวดเร็ว
จากความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องการใช้และจัดวางตัวอักษร ของ Swiss Style คงจะไม่สามารถข้ามเลยการพูดถึงแบบตัวอักษรที่ชื่อ Helvetica ไปได้ หลายๆคนที่เคยศึกษางานในยุค Swiss Style โดยเฉพาะงานของ Josef Muller Brockmann คงจะชินตากับแบบตัวอักษรเดิมๆที่ใช้กันเป็นประจำในงานเกือบทุกชิ้นในยุคนั้น ซึ่งเป็นตัวที่มีลักษณะเรียบๆ ไม่มีตีน และไม่มีลักษณะของเส้นบาง ผสมกับเส้นหนา ส่วนใหญ่จะเข้าใจตรงกันว่านั่นคือ Helvetica แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะ Helvetica นั้นเกิดในช่วงต้นยุค60 ซึ่งเป็นตอนปลายของ Swiss Style ในเมื่อมันไม่ใช่ Helvetica แล้วมันคืออะไร?
อันที่จริงแล้วแบบตัวอักษรที่เราคิดว่าเป็น Helvetica นั้น คือแบบตัวอักษรที่มีชื่อเรียกว่า Akzidenz Grotesk (Grotesque) ตัวอักษรตัวนี้เกิดจากการพัฒนาตัวอักษรเพื่อเครื่องเรียงพิมพ์ของบริษัท Berthold ในเยอรมัน ภายใต้การควบคุมของ Hermann Berthold แบบตัวอักษร Akzidenz Grotesk ในรุ่นต้นแบบนั้น เป็นการออกแบบเพื่อเป็นภาษาเยอรมัน ถูกนำออกใช้ครั้งแรกในปี1896 ในส่วนที่มาของชื่อนั้น คำว่า Akzidenz ก็คือคำเดียวกันกับ Accident ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ส่วนคำว่า Grotesk ก็คือคำที่เป็นต้นตอของคำว่า Gothic ซึ่งหมายถึง ลักษณะตัวหนังสือที่ไม่มีตีนและมีความหนาพอสมควร คำว่า Gothic นี้เองถูกแปลงความหมายมาเป็น Sans Serif ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้แบบตัวอักษรในปัจจุบันที่ถูกตั้งชื่อลงท้ายว่า Gothic จึงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับยุคสมัย Gothic ตามความหมายทางสถาปัตยกรรม
เนื่องด้วยต้นฉบับของการออกแบบตัวอักษรชุดนี้เป็นภาษาเยอรมัน ในปี1956 Edouard Hoffman เจ้าของ Hass type foundry ในสวิสเซอร์แลนด์จึงได้ว่าจ้างให้ Max Miedinger มาทำการออกแบบปรับแต่งรูปทรงบางส่วน โดยมีจุดสำคัญคือใช้ความสูงของ X-height ที่มากกว่าของเดิม และเพิ่มเติมตัวอักษรที่ภาษาอังกฤษต้องการเช่นตัว “j” โดยใช้เวลาร่วมปีในการออกแบบเพิ่มเติมดังกล่าว ก่อนที่จะนำออกขายให้กับศูนย์เรียงพิมพ์ด้วยแสงที่ต่างๆ ในปี1957 ภายใต้ชื่อ Neue Hass Grotesk เพื่อตอบสนองกับตลาดการออกแบบที่กำลังขานรับกระแสของ Swiss Style โดยขายจุดเด่นที่ว่า แบบตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ครบชุด ตัวอักษรดัดแปลงมาจาก Akzidenz Grotesk ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากอิทธิพลของ Swiss Style หลังจากนั้น บริษัท Stample AG ในเยอรมัน ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการออกแบบตัวอักษรให้กับ Linotype technology ได้นำเอา Neue Hass Grotesk มาดัดแปลงเพื่อใช้ในเทคนิคการเรียงพิมพ์แบบใหม่ ที่ภายหลังเรียกกันอย่างติดปากว่าเครื่อง Linotype บริษัท Stample AG ได้ขาย Neue Hass Grotesk ที่นำมาทำใหม่ ด้วยการออกแบบเพิ่มความหลากหลายของความหนาให้กับตัวอักษรชุดนี้ ให้กับ Linotype Technology ในปี1961 และได้นำออกขายในปีเดียวกัน ภายใต้ชื่อใหม่ว่า Helvetica ซึ่งนำมาจากชื่อเรียกสวิตเซอร์แลนด์ในภาษาละติน และเพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติแก่ Swiss Style จากการที่ Linotype จัดจำหน่าย Helvetica และประกอบกับอิทธิพลของเครื่องเรียงพิมพ์ในระบบของ Linotype นี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักกับแบบตัวอักษรคลาสสิคตัวนี้
Helvetica จัดได้ว่าเป็นแบบตัวอักษรสารพัดประโยชน์ งานแทบทุกรูปแบบสามารถใช้ Helvetica ได้เกือบทั้งหมด เป็นแบบอักษรที่ดูเป็นกลางๆ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถใช้กับทุกงานได้เสมอไป) ข้อดีของ Helvetica ก็คือการที่สามารถเป็นทั้ง text font ที่ดีในขณะที่ก็สามารถทำหน้าที่ display ได้ไม่ยิ่งหย่อน และไม่สูญเสียความสามารถในการอ่านเมื่อใช้ในขนาดเล็กๆ หรือใหญ่มากๆ แถมยังสามารถใช้คู่กับแบบตัวอักษรอื่นๆได้แทบทุกตัว แม้แต่นักออกแบบตัวอักษรภาษาไทยยังพยายามที่จะนำลักษณะเด่นดังกล่าวของ Helvetica มาเป็นแม่แบบในการออกแบบ อย่างเช่นตัว “ชวนพิมพ์” ของอาจารย์ เชาวน์ ศรสงคราม จากความสมบูรณ์ในการออกแบบ และความสามารถในการนำไปใช้ในงานหลากหลายประเภทนี้เอง ทำให้หากจะเปรียบเทียบ Helvetica กับวงการแฟชั่น ก็คงจะเปรียบได้กับกางเกงยีนส์ที่ดูเหมือนจะเข้าได้กับทุกโอกาสทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่เคยเบื่อกางเกงยีนส์ตัวนี้
หลังจากที่ Helvetica เป็นที่แพร่หลายตามกระแสของ Swiss Style บวกกับการผลักดันทางเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์ และการตลาดของ Linotype แล้วนั้น ส่งผลให้ Helvetica กลายเป็น font สุดฮิต จนนักออกแบบแนวหน้าหลายคนต้องเลิกใช้มันไปเพราะเกิดความเบื่อหน่าย ประกอบกับการเกิดขึ้นของแบบตัวอักษรอื่นๆอีกมากมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับ Helvetica ทำให้เเป็นตัวเร่งความชินชา ยิ่งเมื่อมีการเกิดขึ้นของ Macintosh ในปี1984 ซึ่งมอบความสะดวกสบาย และให้อิสระกับการควบคุมและเลือกแบบตัวอักษรแก่นักออกแบบอย่างเต็มที่ นักออกแบบมีโอกาสที่จะควบคุมการออกแบบด้วยตนเอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งกับ Helvetica ไปสู่รูปแบบของ Digital Font เพื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Apple ได้ตัดสินใจนำเอา Helvetica มาเป็น font พื้นฐานในระบบจัดการของ Macintosh ยิ่งเป็นการทำให้กระแสความเบื่อ Helvetica เพิ่มมากขึ้นเพราะใครๆก็ใช้ จะหันจะมองไปทางไหนก็เจอแต่ Helvetica ทั่วไป จากตรงจุดนี้นักออกแบบหลายต่อหลายคนจึงพยายามเลิกใช้ Helvetica ในช่วงปี 80 เพราะเกิดความอิ่มตัว
ในช่วงยุค80 นี้เองก็ได้มีการเกิดขึ้นของกระแส New Wave Typographic Style เข้ามาแทนที่ และหนึ่งในความคิดหลักของ New Wave ก็คือ ต่อต้านการใช้แบบตัวหนังสือของ modernist โดยพยายามใช้แบบตัวอักษรใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ Helvetica ถูกแช่แข็ง และลืมเลือนไปชั่วขณะ Helvetica เคยพบกับยุคตกต่ำจนถึงขนาดถูกใช้เพื่อเป็น text ในการพิมพ์จดหมายหรือรายงานเท่านั้น นี่คือยุคที่เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของ Helvetica แต่แล้วเมื่อกระแสของ New Wave เริ่มอิ่มตัวลงที่ RayGun Typographic Style เราก็เริ่มได้เห็นการกลับมาอีกครั้งของ Helvetica ในช่วงปลาย ของยุค90 โดยเริ่มจากนักออกแบบทางฝั่งยุโรปที่ได้ลดความบ้าคลั่งในลักษณะของ RayGun Culture ลงสู่ความเรียบง่ายแต่ยังคงลักษณะการวางตัวอักษรของ New Wave (New Wave back to basic) ไว้ ที่สำคัญคือการนำเอาแบบตัวอักษร Sans Serif ในยุค modern กลับมาใช้เพื่อให้เกิดความแตกต่างกับตัวหนังสือแบบที่เรียกกันว่า”อ่านยาก”ของ postmodernist (จากจุดนี้เองก็มีผลเกี่ยวเนื่องส่งให้ postmodernist เริ่มออกแบบและผลิตแบบตัวอักษรรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับแนวงาน New Wave ที่เปลี่ยนไป)
Helvetica กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงปลายยุค90 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า Helvetica ก็ยังคงดูร่วมสมัยอยู่ ในอีก20ปีข้างหน้าเราก็อาจจะได้เห็นการกลับมาของ Helvetica อีกครั้งโดยที่ยังคงดูร่วมสมัยอยู่เช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ Helvetica นั้นกลายเป็นสัญลักษ์สำคัญของ Modernist’s Sans Serif ไปแล้ว ถึงวันนี้เรายังได้พบความจริงอีกประการว่า Helvetica นั้นมีคุณค่าในตัวมันเองมากกว่าการเป็นแบบตัวอักษรชุดหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์มากมายให้กับประวัติศาสตร์การออกแบบ หากเรามองดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Swiss Style อย่างเข้าใจเราจะเห็นได้ว่า Helvetica นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวิถีการดำรงค์ชีวิตของ modernist ช่วงปลาย (Helvetica=Lifestyle) แบบตัวอักษรชุดนี้มันเป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นในยุค 60 ที่สามารถถูกรวมกันไว้ในแบบตัวอักษรชุดเดียว ทุกวันนี้การกลับมาในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก Blur ของ Brody หรือ Helvetica Neue ของ Adobe ก็ล้วนแต่เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นกับแบบตัวอักษรอมตะชุดนี้ และในระหว่างที่เรารอปริมาณ postmodern’s readable font ที่พอเเพียงจาก postmodernist เราจึงได้มีโอกาสเห็นเพื่อนเก่าอย่าง Helvetica กลับมารับใช้เป็นพระเอกในงานออกแบบอีกครั้ง ดูเหมือนว่าเพื่อนเก่าคนนี้ไม่เคยแก่ลงไปเลย คุณว่าไหม?