10 คำที่ควรรู้จัก สำหรับนักออกแบบในยุค Postmodern

➜ เมื่อกล่าวถึง postmodern ในงานเขียนขึ้นมาทีไร ก็รู้สึกว่ามันลำบากเหลือเกินเวลาที่จะอธิบายคำศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูเหมือนจำเป็นต้องเสียเวลาอ้อมไปบรรยายขยายความไปเสียทุกคำ เป็นการเสียเวลามากทีเดียวในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง ครั้นจะใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษแล้วบรรยายไปเลย ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ตรงกันได้ หลายๆคำก็ยุ่งยากมากถ้าจะต้องเขียนอธิบายแทรกในบทความนั้นๆ มันก็ง่ายต่อการที่จะมีผลทำให้เบี่ยงเบนประเด็นของหัวเรื่อง จึงขอถือเอาเนื้อที่บทความครั้งนี้มาเป็นพจนานุกรมเฉพาะกิจ

คำศัพท์ทั้ง 10 คำ ที่ได้รวบรวมและขยายความให้นี้ เราจะสามารถพบเห็นได้บ่อยในงานเขียน และการบรรยายเกี่ยวกับ postmodern design หลายๆคำที่เลือกมารวบรวมในบทความนี้ บางคำอาจจะมีคำอธิบายที่คลุมเคลือไม่สามารถหาคำในภาษาไทยที่ลงตัวได้ ก็เป็นเพราะการแสดงออกทางความรู้สึกบางประการนั้นไม่มีคำภาษาไทยที่สามารถอธิบายได้ชัดเจน จะว่าไปแล้วลำพังฝรั่งเองก็ยังต้องการคำขยายความเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะนับภาษาอะไรกับพวกเราคนไทย

Subvert เป็นการแสดงออกทางความคิด โดยการกลับค่าของวิธีการนำเสนอหรือคอนเซ็ป เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สามารถยกตัวอย่างขยายความให้เห็น เพื่อช่วยการเข้าใจได้ดังนี้ ตัวอย่างเช่นการใช้แก้วน้ำมาเป็นบล๊อค เพื่อการสร้างปราสาททราย จะเห็นได้ว่า เราได้ทำการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ที่พึงสมควรของแก้วน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้เป็นภาชนะใส่เครื่องดื่ม โดยการเปลี่ยนคอนเซ็ป ของแก้วน้ำมาเป็นอุปกรณ์ในหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่มันสมควรที่จะเป็น ตัวอย่างในลักษณะของการเปลี่ยนสถานะทางคอนเซ็ปในลักษณะที่เรียกว่า Subvert ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันรอบๆตัวเราหากเราหัดที่จะสังเกตุ เช่น การนำเอาแผ่น diskette ที่เสียแล้วมาใช้แทนที่รองแก้ว หรือการใช้หลอดทดลองมาเป็นแจกันใส่ดอกไม้ อาจกล่าวได้ว่าการกระทำที่เรียกว่า Subvert นี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง เป็นการตัดสินใจหลังจากการมองสิ่งต่างๆรอบตัว และเกิดความคิดใหม่กับการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เป็นการนำไปสู่การได้มาซึ่งสิ่งใหม่

Simulacrum คำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า Simulate เมื่อแปลความหมายจากคำว่า Simulate จะได้ความหมายค่อนข้างชัดเจนในตัวเองพอสมควร ซึ่งหมายถึงการลอกเลียนแบบ แต่วิธีการใช้คำว่า Simulacrum นั้นจะใช้ในลักษณะที่แตกต่างออกไป คำว่า Simulacrum เองจะแปลได้ความหมายว่า ลักษณะที่บ่งบอกถึงความไม่ใช่ของแท้ เป็นลักษณะการลอกเลียนอย่างไม่มีรสนิยม ตัวอย่างเช่น โต๊ะร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแผ่นไม้อัด แต่บุผิวหน้าด้วยแผ่นสังเคราะห์ลายไม้เทียม หรือ การนำรูปวาดหรืองานศิลปะของปลอมมาใส่กรอบที่เกินราคาของรูปที่สมควรเป็น หรือ เสื่อน้ำมันปูพื้นราคาถูกที่มีลวดลายของกระเบื้องหรือลายหินอ่อนหรูๆ เหล่านี้คือตัวอย่างการลอกเลียนแบบอย่างไร้สติและรสนิยม ซึ่งผู้ลอกก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเทียบกับของจริงได้ ลักษณะดังที่กล่าวมาทำให้เราสามารถเรียกเมืองอย่างลาสเวกัส ซึ่งมีปลูกสร้างส่วนใหญ่ในเมืองเป็นการลอกเลียนแบบสถานที่ต่างๆในโลกว่าเป็น Simulacrum City ที่ยกมาให้เห็นทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอต่อการทำความเข้าใจคำนี้

Pastiche นั้นเป็นลักษณะที่สามารถพบได้ทั่วไปในยุค postmodern คำนี้มีความหมายตรงตัวว่า ปนเป ผสม(ไม่ผสาน) จะเห็นได้ว่างานออกแบบทุกแขนงในยุคนี้จะเป็นลักษณะที่เราสามารถเรียกได้ว่า Pastiche กล่าวคือ การจับเอาลักษณะของสไตล์ต่างๆมาปะติดปะต่อกัน เช่น การผสมกันของแบบตัวอักษร Serif กับ Sans จนเกิดเป็น Semi Serif สำหรับในเชิงของงานสถาปัตยกรรม ก็อย่างเช่นงานของ Michael Graves ที่ใช้ความโดดเด่นของ Roman กับความเรียบง่ายและสีของ modern หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือการจับแพะชนแกะเพื่อให้เกิดรูปแบบที่เป็นลักษณะครึ่งๆกลางๆ ดูแปลกตาออกไปจากปกติ โดยการกระทำเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความแม่นของนักออกแบบเป็นสำคัญ การที่ postmodernist ใช้การ Pastiche ในการสร้างงานบ่อยครั้ง จึงเกิดคำพูดที่ว่า postmodernist ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่หากแต่เป็นการหยิบยืมสิ่งเด่นๆของยุคก่อนๆมายำจนเละ เหตุผลก็คือ หลายๆ ครั้งที่การทำลักษณะนี้เป็นการเสื่ยงต่อการที่งานสำเร็จจะดูไร้รสนิยมในการออกแบบ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด ก็อย่างเช่นตึกแถวในประเทศไหนไม่รู้ที่บ้าทำเสา Roman อย่างไร้สติ และรสนิยม

Mediocre เป็นคำที่มักใช้ในการวิจารณ์งานออกแบบ ความหมายของคำนี้นั้นไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร สามารถแปลได้ว่า ความรู้สึกตรงกลาง กระท่อนกระแท่นไม่โน้มเอียงไปในทางดีหรือเลว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะประเมินคุณค่าของงานเป็นเกรดหรือตัวเลขได้ กล่าวคืองานไม่น่าสนใจจนต้องหยุดพิจรณา แล้วก็ไม่เลวถึงขนาดไม่อยากที่จะมอง การยกตัวอย่างสำหรับคำนี้คงจะลำบาก เพราะคงไม่มีใครอยากได้ยินว่างานตนเองเป็นแค่ Mediocre Design อีกทั้งแน้วโน้มของความรู้สึกที่มีต่อคำนี้ออกจะหนักไปในทางลบมากกว่าในความรู้สึกของเจ้าของงาน เมื่อได้รับการวิจารณ์ว่าเป็น Mediocre Design แต่อย่างน้อยก็พอที่จะสามารถโล่งอกได้ว่า งานของเราก็ไม่ถึงกับชั่วร้ายในระดับที่รับไม่ได้เสียทีเดียว

Camp คำนี้อาจจะทำให้สับสนว่ามันคืออะไร หมายความว่าอะไรกันแน่ คำนี้นั้นสามารถแปลได้ตรงตัว ซึ่งความหมายตรงตัวก็คือ ค่าย หรือที่เรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า แค้มป์ แต่ในความหมายที่ postmodernist มีต่อคำนี้นั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คำว่า Camp นั้นจะใช้เรียกแทนความรู้สึกที่มีต่องานลักษณะที่ เมื่อรสนิยมแย่ๆ พยายามที่จะทำงานออกมาให้ได้ดี แสดงความพยายามอย่างมากในงาน แต่ยังไงก็ไม่สามารถทำออกมาให้ดีได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้คำนี้ในการเรียกสไตล์การทำงาน ที่จงใจหยิบเอาความรสนิยมที่ไม่ดีมาสร้างเป็นเนื้องาน อีกทั้งรวมไปถึงการลอกเลียนหรือเลียนแบบในลักษณะที่จงใจทำให้ดูไม่ดี จะเพื่อเป็นการประชดหรืออย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น การล้อเลียนฉากอาบน้ำของภาพยนต์ Psycho ในภาพยนต์เรื่องอื่น ก็สามารถเรียกว่าเป็น Camp ได้ หรือภาพยนต์บางเรื่องอย่าง Naked Gun หรือ Austin Power ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างเด่นชัดที่แสดงให้เห็นถึงการนำเอาความรู้สึกของ Camp มาใช้ในการสร้างงาน สำหรับ Camp ในงานออกแบบก็อย่างเช่นการนำเอาถุงโชคดี ซึ่งมีความเป็น Camp อยู่แล้ว มาออกแบบใหม่เพื่อเป็นการล้อเลียนความเป็น Camp ของตัววมันเอง หรือนำมาตอบโจทย์บางอย่างในการออกแบบ ก็นับได้ว่าเป็นการตั้งใจที่หยิบเอาคววามรู้สึก Camp มาสร้างเป็นงานออกแบบ จะเห็นได้ว่าหากเรารู้จักการใช้ความรู้สึกของ Camp ในงานออกแบบ เราก็สามารถที่จะทำงานออกมาไม่ให้ Camp ได้เช่นกัน

Kitsch เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ Camp บางครั้งอาจจะเป็นไปได้ที่จะเกิดความสับสน เพราะงานบางชิ้นสามารถเป็นได้ทั้ง Camp และ Kitsch ทั้งสองคำมีส่วนที่ร่วมกันก็คือ ผู้ออกแบบนั้นมีความตั้งใจที่จะผลิตงานที่ดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงของการออกแบบ ความแตกต่างของสองคำนี้อยู่ที่ว่า Kitsch เป็นการออกแบบที่เกินงาม เช่นการที่ตั้งใจออกแบบทำให้ดูน่ารักแล้วออกมาน่ารักเกินไป ตั้งใจจะทำให้ขรึม แต่งานออกมาเป็นการตั้งใจให้ขรึมมากเกินไป หรือการออกแบบอย่างไรก็ตามที่ไม่อยู่บนความพอดี (Over Design) สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายของ Kitsch ทั้งสิ้น ตัวอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจ และเกิดความจดจำก็เห็นจะเป็น ตัวการ์ตูนอย่าง Hello Kitty ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้ดูน่ารักมากๆ จนบางครั้งไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เช่นเดียวกับ Camp กล่าวคือ นักออกแบบบางคนอาจจะตั้งใจหยิบเอาความรู้สึก แบบ Kitsch มาสร้างงานออกแบบที่ดีได้เช่นกัน อาจจะกล่าวได้ว่ายุคเฟื่องฟูของงานลักษณะที่เรียกว่า Kitsch คือยุคที่เรียกว่า Atomic Age นั่นก็คือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับความสำเร็จในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การออกแบบในยุคนี้จึงเน้นการใส่จินตนาการเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลทำให้เกิดลักษณะงานออกแบบที่เกินจริง จะเห็นได้ชัดเจนจาก ของเล่นสังกะสี หรือข้าวของเครื่องใช้ รวมไปถึงเครื่องประดับ ทำออกมาในยุคนี้มักจะมีลักษณะดังที่กล่าวมา แต่ในขณะเดียวกันงานออกแบบในลักษณะของ Kitsch หลายๆชิ้นในยุค Atomic Age ก็กลายมาเป็นแรงบรรดารใจให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปัจุบัน ในเรื่องของแนวความคิดหรือรูปร่างหน้าตา เช่นเรื่องของหุ่นยนต์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

Site หากจะแปลตรงตัวคำนี้ก็จะหมายความได้ว่า สถานที่หรือบริเวณที่มีขอบเขตแน่นอนเป็นรูปอธรรม (construction site) เมื่อนำมาใช้กับ postmodernist แล้วนั้น คำว่า Site จะถูกใช้เรียกจุดใดจุดหนึ่งในความคิดของงาน (contractual place) หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในความคิดที่ห่อหุ่มเนื้อหาที่แท้จริงของงานชิ้นนั้นๆไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะต้องทำการมองผ่านส่วนอื่นๆที่เป็นส่วนประกอบของงานชิ้นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ เทคนิค โครงสร้างประกอบทางความคิดต่างๆ หรือแม้แต่วิธีการนำเสนอ เพื่อให้เห็นขอบเขตที่แท้จริงของคอนเซ็ปของงานชิ้นนั้นๆ ขอบเขตนี้เองที่เป็น Site (contractual place) ซึ่งเป็นสถานที่ที่คอนเซ็ปทำงาน และเป็นที่บรรจุคุณค่าที่แท้จริงของงานชิ้นนั้นๆ

Text ในลักษณะของการใช้ในภาษาอังกฤษทั่วไปจะใช้คำนี้เป็นคำนาม แตกต่างตรงที่ว่า postmodernist จะใช้คำว่า Text (texting) ในรูปของกริยา เราจะใช้คำนี้ในการเรียกการแปลความหมายของความคิดแต่ละส่วนออกเป็นเนื้อความที่สามารถเข้าใจได้ง่าย กล่าวคือการแปลง แจกแจงความคิดความอ่าน ออกมาเป็นส่วนๆ วิธีการแยกแยะแจกแจงนี้ ก็คือการค้นหา Site ที่คุณค่าแท้จริงของงานสถิตอยู่ ตามที่ได้กล่าวไปในการอธิบายคำว่า Site นั่นเอง เพราะฉะนั้นการใช้ Text หรือ texting นั้นก็คือเครื่องมือที่ postmodernist ใช้ในกระบวนการที่เรียกว่า deconstruction ความคิดเบื่องต้นนั่นเอง

Construct – Deconstruct คำคู่นี้ก็มีความหมายที่ค่อนข้างชัดเจนในตัวเองหากจะแปลกันโดยทั่วไป Construct ก็คือการสร้างขึ้นมา ส่วน Deconstruct ก็คือสิ่งที่ตรงข้ามกัน ที่กล่าวมานี้คือความหมายตรงตัวของคำทั้งสอง คงจะเคยได้ยินบ่อยครั้งกับคำยอดนิยมในยุคนี้ าConstruction – Deconstructionำ แล้วความหมายจริงๆของทั้งสองคำนี้คืออะไร? Construction นั้นคือการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบความคิด แนวทางความคิด สังคม หรือแม้แต่สร้างความหมายและภาษาทางการออกแบบใหม่ๆ นั้นก็คือที่มาของคำว่า Constructionist หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ Modernist ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า postmodernist ก็คือ Deconstructionist นั่นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า Deconstruction ก็คือการที่นำเอาระบบความคิดที่ได้ถูกวางไว้ในสังคม และสิ่งที่ได้ผ่านการสร้างสรรค์ของ Modernist มาชำแหละเพื่อให้ได้เห็นเนื้อในของความคิด ทำความเข้าใจในส่วนต่างๆที่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งนั้นๆ โดยให้ความสำคัญของส่วนต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอยู่ มากกว่าความสำคัญโดยรวม ซึ่งการที่จะแยกส่วนต่างๆ และทำความเข้าใจในโครงสร้างความคิดนั้นๆ ก็คือการใช้ Text เพื่อเข้าใจความหมายของส่วนประกอบต่างๆ และค้นพบ Site (contractual place) ซึ่งตรงประเด็นนี้ postmodernist ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำลาย

Vernacular – Corporate Vernacular ทั้งสองคำนี้มีดูแล้วน่าจะมีความหมายร่วมกัน แต่ที่จริงแล้วในเชิงการออกแบบนั้นแตกต่างกันอยู่มาก กล่าวคือ Vernacular นั้นเป็นคำที่เรามักจะใช้เรียก ลักษณะของการออกแบบพื้นบ้าน ไม่ได้มีส่วนของการศึกษาการออกแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของที่นั้นๆ ซึ่งคำว่า Vernacular อาจจะเป็นคำธรรมดาที่เราคงเคยพบเห็น และรู้จักกันมาก่อนบ้างแล้ว ทีนี้ก็ต้องตอบคำถามว่า คำว่า Corporate Vernacular นั้นคล้ายหรือใกล้เคียงกับ Vernacular หรือไม่ อย่างไร? Corporate Vernacular นั้นเป็นการพัฒนารูปแบบของ Vernacular ให้สอดคล้องกับการตลาดและการค้าในยุคปัจุบัน โดยการนำเอาระบบของการออกแบบมาปรับใช้สำหรับการออกแบบในลักษณะ Vernacular กล่าวคือ การทำให้การออกแบบสิ่งเดียวกันท้องที่หนึ่งสามารถปรับเข้ากับอีกที่หนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น ร้านแมคโดนัลในแต่ละที่ก็จะสร้างแบบร้านไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวัสดุและความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ และเชื้อชาติ แต่ทุกที่มีความเด่นชัดในความเป็นร้านแมคโดนัล ที่เราสามารถเข้าใจได้ทันที ว่านี่คือ ร้านเดียวกันให้บริการเหมือนกัน สามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า Corporate Vernacular ก็คือการทำ Corporate Identity ในยุคที่โลกแคบลง ให้อยู่บนความสอดคล้องตามสภาพท้องถิ่น นั่นเอง

ที่ได้ยกมาอธิบายทั้ง 10 คำนี้ แต่ละบุคคลคงต้องหาโอกาสที่จะนำไปใช้กันเองตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตามขอให้เรามีสติในการใช้คำทับศัพท์เหล่านี้ อย่าให้มันเป็นเพียงการใช้เพื่อส่งเสริมบารมีในเชิงออกแบบเท่านั้น นอกจากที่กล่าวมา ยังคงมีศัพท์อีกจำนวนไม่น้อยที่สมควรที่จะถูกกล่าวถึง และขยายความเพื่อที่จะได้เกิดการนำไปใช้นิยามการแสดงออกซึ่งความรู้สึกใหม่ๆ ที่เรายังไม่มีคำขยายความ