เรื่องราวของเพื่อนเรา… เจ้าตัวอ้วน (ตอนที่ 1)

นี่คือการเดินทางย้อนกลับไปในยุคที่ตัวมีหัวยังถูกเรียกว่า Antique ตัวไม่มีหัวยังเป็น Grotesque และหน้าตาของตัวหนา คือ Fat

เป็นที่เชื่อกันว่าชุดอักษรตัวโรมันชนิดอ้วนตัน (Fat Face) ตัวแรกถูกเผยออกสู่สาธารณะในปีค.ศ. 1803 โดยช่างหล่อตัวพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงจากลอนดอน โรเบิร์ต ทอร์น (Robert Thorne) ช่วงเวลานั้นคือยุคแห่งการประดิษฐ์และการค้นพบ เมื่อยุโรปกำลังแผ่ขยายอาณาเขตการแลกเปลี่ยนและการค้า ขณะที่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการพิมพ์นั้นได้รับการพัฒนาและมีการค้าหรือกิจการใหม่ๆ เริ่มต้นอย่างเจริญรุ่งเรือง เหตุนี้เองทำให้การริเริ่มธุรกิจการค้าใหม่ๆ เฟื่องฟู เช่นเดียวกับความต้องการด้านงานพิมพ์โฆษณาที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล อาชีพอย่างช่างเรขศิลป์ ที่เดิมทีจะมีหน้าที่เฉพาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือต่างๆ เท่านั้น แต่ในยุคนี้คือการได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานพิมพ์ในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น

ทอร์นตอบรับกับความนิยมด้านงานพิมพ์โฆษณาด้วยการออกแบบ “ชุดตัวเรียงพิมพ์ฉบับพัฒนา” อย่างเร่งด่วนเพื่อให้ช่างเรขศิลป์นำไปใช้จัดวางข้อความเป็นบรรทัดสั้นๆ สำหรับ ”พาดหัวเรื่อง” ขนาดใหญ่ เป็นที่ชัดเจนว่าแบบตัวพิมพ์หนาทึบตัวใหม่ของเขาที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดและมีหน้าตาคล้ายตัว Didone นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากและเป็นตัวพิมพ์ที่มีอิทธิพลในการกลายเป็นภาพจำที่คุ้นตาของสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ในช่วงยุคดังกล่าว ถึงทอร์นจะไม่เคยตีพิมพ์ตัวอย่างแสดงแบบตัวอักษร (specimen) นับตั้งแต่หลังปีค.ศ. 1803 แม้ว่าเขาจะใกล้จัดทำเล่มให้สมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่เขากลับเลือกใช้เวลาไปกับการมุ่งพัฒนาฟอนต์ตัวอ้วนตันใหม่นี้แทน ณ โรงหล่อตัวพิมพ์แห่งถนนฟานน์ของเขา จนกระทั่งเสียชีวิตลงในปีค.ศ.1820

พวกพ้องของเจ้าตัวอ้วน

หลังการเสียชีวิตของโรเบิร์ต ทอร์น โรงหล่อแห่งถนนฟานน์ถูกปล่อยประมูลและซื้อไปโดย วิลเลียม โทโรกูด (William Thorogood) ในปีค.ศ. 1820 จากเงินรางวัลที่โทโรกูดได้รับจากการถูกลอตเตอรี่ แม้ว่าเขาจะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกิจการโรงหล่อตัวพิมพ์มาก่อน แต่ภายในไม่กี่เดือนเขาก็สามารถเป็นงานได้อย่างรวดเร็ว โทโรกูดได้ตีพิมพ์ตัวอย่างแสดงแบบตัวอักษรตัวหนาจำนวน 132 หน้า ที่ทอร์นจัดทำต้นฉบับค้างไว้ก่อนเสียชีวิตเป็นที่สำเร็จ รวมไปถึงการเปิดตัวชุดตัวพิมพ์แฟตเฟซภายใต้ชื่ออันประหลาดว่า “Five-lines Pica, No.5” ที่ทอร์นเป็นผู้ออกแบบไว้ กลายเป็นว่าในช่วงศตวรรษต่อมา เกือบจะทุกโรงหล่อตัวพิมพ์ที่มีชื่อเสียงต่างก็จะต้องผลิตชุดตัวพิมพ์ของตนที่ขัดเกลามาจากต้นแบบตัวพิมพ์ตัวหนาของทอร์น มีการนำไปทำเป็นตัวเอียง (Italic) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1808 ตัวมีเงาด้านหลัง (Shade) ก็คาดว่าน่าจะถูกทำออกมาในปีค.ศ. 1810 และตามมาด้วยการดัดแปลงอื่นๆ อาทิ การบีบอัด (compress) หรือการยืดขยาย (elongate) รวมถึงอีกหลากหลายรูปแบบ ตามที่ นิโคเลต เกรย์ (Nicolete Gray) เคยเขียนอ้างอิงไว้ในหนังสือของเธอ  Nineteenth Century Ornamented Types and Title Pages เอาไว้

จากตัวอย่างแสดงแบบตัวอักษรจากปีค.ศ. 1828 ของโรงหล่อตัวพิมพ์บรูซ ในเล่มปรากฏแบบตัวพิมพ์หนาปกติและตัวเอียงที่ถูกหล่อขึ้นในโรงหล่อแห่งนี้ นับว่าเป็นรูปแบบที่ถูกทำขึ้นใหม่ได้อย่างสวยงามประณีตและเห็นได้ชัดว่าหน้าตาโดยรวมของตัวเอียงนี้รับอิทธิพลของแบบโดยตรงมาจากตัวเอียงตัวแรกของโทโรกูด ไม่ว่าจะเป็นปลายสะบัดและหัวกลมในตัวพิมพ์ใหญ่ ในช่วงแรกเริ่มนั้นไม่มีการระบุชื่อ แต่ต่อมาก็ปรากฏเป็นชื่อ ‘No.1’ ในตัวอย่างแสดงแบบตัวอักษรที่ออกมาในปีค.ศ. 1869 และได้รับการปรับให้ทันสมัยในปีค.ศ. 1901 ภายใต้ชื่อใหม่คือ ‘Style 101’ จนมาถึงในปีค.ศ. 1906 นักหล่อตัวพิมพ์ สตีเวนสัน เบลค (Stephenson Blake) ได้กรรมสิทธิ์ในกิจการทั้งหมดของโรงหล่อแห่งถนนฟานน์ รวมไปถึงแบบตัวพิมพ์แฟตเฟซต้นแบบของทอร์นด้วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุปว่าเป็นระยะให้หลังถึงกว่า 50 ปี กว่าที่แบบของทอร์นจะถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อแกะเป็นแบบตัวพิมพ์และตั้งชื่อใหม่ว่า Thorowgood

(ติดตามตอนต่อไป)