Between Things – เรื่องเล่าเเละเล่าเรื่องระหว่างตัวอักษร

‘กระต่ายน้อยตัวหนึ่งหลงป่า

ได้เจอกับสัตว์ประหลาดที่เป็นมิตร

และเป็นเพื่อนรักกันในท้ายที่สุด’

นี่คือเรื่องราวขนาดสั้นในหนังสือนิทานเด็กชื่อ Lost หนึ่งในสามเล่มของนิทานชุด ‘The Little Bunny Trilogy’ หนังสือเด็กที่พัฒนาเนื้อหาโดยไซรัส ไฮสมิท (Cyrus Highsmith) และลูกสาววัยสามขวบของเขา ในฐานะพ่อและนักออกแบบตัวอักษร ไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบลายเส้นและภาพประกอบเท่านั้น แต่แบบตัวอักษรที่ใช้ภายในเล่มด้วยเช่นกัน

ในร่างแรกของหนังสือเล่มนี้ไซรัสเลือกใช้แบบตัวอักษรที่คล้ายกับลายมือเขียน น่ารักและเป็นมิตร เหมาะสมกับกระต่ายและเรื่องราวในเล่ม แต่พบว่าไม่เหมาะสมกับอารมณ์ตกใจเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดสำคัญ ปฏิกิริยาของเด็กเล็กหลายคนที่ร้องไห้ทุกครั้งที่สัตว์ประหลาดปรากฏตัวเป็นจุดเริ่มต้นของแบบตัวอักษร Gasket เพราะคิดได้ว่าตัวอักษรที่ดูน่ารักและเป็นมิตรนั้นเป็น “เสียงที่ผิด” สำหรับกลุ่มผู้อ่านวัยเยาว์ของนิทานเรื่องนี้

นี่คือนักออกแบบตัวอักษรที่ใส่ใจในเสียงที่เลือกใช้ เข้าใจในกลุ่มผู้อ่าน

ไซรัสจึงกำหนดโจทย์ให้ตัวเองออกแบบตัวอักษรสำหรับหนังสือนิทานเด็ก ไม่ใช่การออกแบบตัวหนังสือที่ดูเป็นเด็ก ตัวอักษร Gasket จึงเริ่มต้นด้วยลักษณะที่เรียบง่าย ไม่แข็งทื่อหรือมีลักษณะของเรขาคณิตมากเกินไป เขาทดลองด้วยการใช้สโตรกในมุมที่ต่างออกไป ลายเส้นที่ดูนุ่มนวล และการจบของตัวอักษรที่เป็นมน ซึ่งช่วยนำสายตาผู้อ่านสู่หน้ากระดาษต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด แบบตัวอักษร Gasket นั้นได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากป้ายลายมือเขียนในประเทศญี่ปุ่น ความมนของปลายเส้นจึงเป็นที่มาของแบบตัวอักษร Gasket ที่เห็นในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในแบบตัวอักษรที่เหมาะสมกับผู้อ่านทุกวัย

ไซรัสมีพื้นฐานการวาดภาพจากการเรียนรู้กับแม่ที่เป็นศิลปิน คนที่สอนให้เขามองเห็นพื้นที่ว่างทางลบ (negative space) สู่การปรับใช้วิธีคิดนี้ในการออกแบบตัวอักษรเมื่อเขาเติบโตขึ้น ไซรัสเคยกล่าวว่า “ผมออกแบบพื้นที่ว่างสีขาว ไม่ใช่ออกแบบเส้นสีดำ”  เขามีพื้นฐานความรู้ด้านจิตรกรรมและศิลปะ จนเมื่อเข้าเรียนในสถาบันศิลปะโรดไอส์แลนด์ (Rhode Island School of Design) เขาเลือกเรียนสาขาการออกแบบกราฟิก โดยมีความสนใจในการออกแบบตัวอักษรอยู่เสมอ แม้ในยุคนั้นจะไม่มีวิชาเรียนหรือแหล่งความรู้เกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรที่เข้าถึงได้ง่าย เขาตัดสินใจติดต่อไปยัง Font Bureau เพื่อนำเสนอแบบตัวอักษรที่เขาทดลองทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ถามคำตอบ รับฟังข้อแนะนำ กลับมาพัฒนางานออกแบบของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะได้รับการเสนอเข้าทำงาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ฝึกฝนการเป็นนักออกแบบตัวอักษรอย่างเต็มรูปแบบ

ไซรัสเป็นนักออกแบบตัวอักษร ศิลปิน ช่างทำภาพพิมพ์ อาจารย์ นักเขียน นักออกแบบกราฟิก และนักวาดภาพประกอบ เขาก่อตั้งค่ายฟอนต์ของตัวเองชื่อ Occupant Fonts ในปี 2015 และก่อตั้งสำนักพิมพ์ร่วมกับภรรยาภายใต้ชื่อ Occupant Press หลังจากสะสมประสบการณ์ในการเป็นนักออกแบบตัวอักษรให้กับ Font Bureau มากว่า 11 ปี นอกจากนี้เขายังทำงานกับ Morisawa Inc. ในการสร้างเครือข่ายระหว่างตัวอักษรละตินและญี่ปุ่น

“Between Things” จากการบรรยายในงาน BITS2017 ในครั้งนี้จึงเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างภาพและข้อความ สำหรับไซรัส การออกแบบตัวอักษรนั้นไม่ต่างกับการวาดรูปอย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นการกลั่นเหลือเพียง 2 องค์ประกอบสำคัญคือเส้นสีดำและพื้นที่สีขาวเท่านั้น และในฐานะที่เขาเป็นทั้งนักออกแบบตัวอักษร ช่างทำภาพพิมพ์ อาจารย์ เขากล่าวว่าเขาเป็นนักออกแบบตัวอักษรที่ดีกว่าเพราะวาดรูปกระต่ายได้ และเขาวาดรูปกระต่ายได้ดีเพราะเรียนรู้วิธีมาจากการวาดตัวอักษร ข้อค้นพบหนึ่งคือจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับเขาในการนิยามว่าตัวเองถนัดสิ่งไหนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น