ความสัมพันธ์ของเครื่องมือที่มีผลต่อแบบตัวอักษร

 จงเติมข้อมูลในช่องว่างที่กำหนดให้

หนึ่งในสถานการณ์ที่มั่นใจว่าคนส่วนใหญ่จะต้องเคยพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการกรอกชื่อ นามสกุล สถาบันการศึกษา ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่เราต้องเขียนระบุในเอกสารชีวิตกันมาตั้งแต่รู้ความ การระบุข้อมูลให้พอดีกับช่องว่างที่กำหนดให้นั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเครื่องมือต่อแบบและสัดส่วนตัวอักษร เช่น บางคนมีลายมือตัวอ้วน แต่ช่องว่างมีพื้นที่จำกัด ทำให้จำเป็นต้องเขียนตัวขนาดผอมเพื่อให้พอดี เป็นการลดสัดส่วนลายมือจากความถนัดที่คุ้นเคย

แบบตัวอักษรจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการออกแบบของผู้เขียน แต่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์และวัสดุรองรับ

ย้อนกลับไปถึงชั่วโมงในวัยเด็กที่หลายคนต้องผ่านการเรียนคัดลายมือจากเส้นประในแบบเรียนเพื่อเรียนรู้การ(อ่านออก)เขียนได้ เมื่อเวลาผ่าน ประสบการณ์เหล่านี้ก็สั่งสมเป็นทักษะการใช้ภาษาและการเรียนรู้ความสำคัญของแบบตัวอักษร สร้างให้เกิดการ ”จด” และ “จำ” รูปแบบการเขียนตัวอักษรทั้งความกว้าง หนา สูง จนถึงการกำหนดระยะให้พอดีต่อพื้นที่ที่มีอยู่

เมื่อการ จด นำมาสู่ความทรงจำ ทักษะการเขียนก็นำพาลายมือตามเส้นประมาสู่ลายมือที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเส้นของรูปร่างต่างกันออกไปในแต่ละคน ที่ยึดโยงอยู่กับความเร็วในการเขียน ความประณีต จนถึงการจัดลำดับความคิดในสมอง ถ้าหากเป็นคนคิดเร็ว-เขียนเร็ว ลายมือที่เกิดขึ้นยิ่งมีแบบน้อย แต่เป็นแบบที่มีเอกลักษณ์ และถ้าหากคนเขียนมีความถนัดเขียนเหมือนตัวแบบ ก็จะให้แบบลายมือที่อ่านง่าย ตรงนี้ให้ลองนึกถึงการประกวดคัดลายมือ

“การคัดลายมือเป็นการดัดลายมือให้ทุกคนคัดอยู่บนแบบแผนเดียวกัน เขาถึงเรียกว่าการคัดลายมือ เพราะเขามีแบบให้คุณคัด เพราะฉะนั้นเขาต้องพยายามให้คุณเขียนเหมือนแบบ แต่ในความที่คุณเป็นคุณ แต่ละคนก็จดคนละลายมือ นั่นคือลายมือที่แท้จริง”

แบบตัวอักษรที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือ (ดินสอ ปากกา พู่กัน) นั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ความกว้างและความแคบเป็นผลของสัดส่วน เครื่องมือจึงมีผลต่อแบบตัวอักษรที่เห็นและคุ้นชินกันอยู่ในปัจจุบัน แม้เราจะเดินทางมาไกลจากการสลักหินหรือเจียรใบลาน จนมาสู่ยุคคอมพิวเตอร์และแป้นพิมพ์ดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม

วิวัฒนาการของลายมือนั้นเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ยึดโยงอยู่กับการจับ ขนาด ความฝืด-ลื่นของอุปกรณ์ และที่มาคู่ขนานกันก็คือวัสดุรองรับการเขียนที่เป็นได้ตั้งแต่กระดาษ กระดาน หนัง ทราย พื้นผิวที่ฝืดหรือลื่นต่างกันออกไป เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งประกอบสร้างประสบการณ์การเขียนของแต่ละคน

ลองดูตัวอย่างการเขียนตัวอักษรจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าการผลิตพู่กันนั้นทำจากขนสัตว์หลากหลายเริ่มต้นจากราชวงศ์ฮั่น เช่น ขนสีดำจากกระต่าย ขนสีขาวจากแพะ และขนสีเหลืองจากตัววีเซิล โดยด้ามพู่กันทำจากวัสดุที่หาง่ายในพื้นที่อย่างเช่นไม้ไผ่ จนถึงวัสดุราคาแพงอย่างเซรามิกดินเผา ดังเช่นการเปรียบเปรย 4 สมบัติล้ำค่าของจีนคือน้ำ หมึก กระดาษ และพู่กัน สะท้อนให้เห็นความแข็งแรงทางวัฒนธรรมการเขียนตัวอักษร และเป็น 4 สมบัติเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยกำหนดแบบตัวอักษรของจีน เส้นที่เกิดจากน้ำหนักมือและลักษณะการจับ (ตั้งหรือเอียง) ก็ให้แบบอักษรที่มีเอกลักษณ์หลากหลายไม่เหมือนกัน หรือปากกาคอแร้งจากอิตาลี ที่มี 2 รูปแบบคือปลายตัดและปลายแหลม หากพิจารณาจากตัวอักษร O ก็จะเห็นแบบที่แตกต่างจากการถูกกำหนดโดยวัสดุ

ไม่ใช่แค่เพียงอารยธรรมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเส้นสายของลายมือ ทั้งตำแหน่งในการวางมือ ความเร็วที่สัมพันธ์กับแรงกด และการถ่ายน้ำหนัก ความลื่นไหลกับวัสดุรองรับกับวัสดุที่ถืออยู่ล้วนยึดโยงต่อกัน ในกระบวนการเขียนยุคก่อนที่ไม่มีนวัตกรรมกระดาษ ลองจินตนาการถึงการจับเครื่องมือด้วยสองมือเพื่อสลักหินศิลาจารึก แบบตัวอักษรเป็นเส้นขรุขระแบบอักขระลายสือไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรวะ จนมาเป็นแบบตัวอักษรไทยที่เขียนในใบลาน ที่มีข้อสันนิษฐานว่าเปลี่ยนไปเป็นหางยาวเพราะต้องยกเหล็กจานออกจากใบลานเพื่อป้องกันไม่ให้ใบลานขาด

เพราะฉะนั้นขนาดของอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นส่งผลต่อวิวัฒนาการการเขียน ไล่เรียงมาถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่อนุญาตให้เขียนด้วยรูปแบบที่เราเป็นในวันนี้ได้

แม้แต่คนเดียวกันที่จับเครื่องมือต่างชนิดก็ยังมีลายมือที่ต่างออกไป ในวันที่เราเขียนด้วยปากกาลูกลื่นอย่างเร็วนั้นก็มีลายมือต่างจากวันที่เราเขียนด้วยชอล์คบนกระดานดำ หรือในช่วงเวลาเราตั้งใจเขียนมากๆ ความตั้งใจทำให้เราควบคุมเส้นเป็นตัวหนังสือลายมือของเราที่มีความเสถียรมากขึ้น

การได้ครอบครองเครื่องมือชนิดต่างๆ ทำให้ในฐานะผู้ใช้ต้องเรียนรู้เงื่อนไขเป็นสำคัญ ลักษณะ ความพิเศษ ข้อจำกัด ผลลัพธ์ของเส้นที่เกิดขึ้น การเรียนรู้เงื่อนไขนำไปสู่การใช้งานในพื้นที่ของการเขียน เพื่อให้สามารถกำหนดสัดส่วนจากประสบการณ์และความทรงจำที่พอดีกับพื้นที่ที่มีอยู่ ณ เวลานั้นและพื้นที่นั้น เราจึงต้องคิดว่าเขียนอย่างไรให้เอาชนะเครื่องมือนี้ ภายในพื้นที่นี้ และในข้อแม้นี้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แบบลายมือเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าลายมือของแต่ละคนจะไม่มีความคงที่ เพราะขึ้นอยู่กับเครื่องมือ วัสดุรองรับ และพื้นที่ของวัสดุนั่นเอง

เครื่องมือต่อสัดส่วนตัวอักษรจึงประกอบด้วยคำ 2 สิ่งคือ เจตนากับอาการ เจตนาคือภาพรวมหรือจุดประสงค์ อาการคือผลลัพธ์ เจตนาเชื่อมโยงมาถึงอาการ

ตัวอักษร บ. และ ษ. ถ้าคิดให้ถูกต้องตามตรรกะ พื้นที่ภายในจะต้องเท่ากัน แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ษ. จะดูมีสัดส่วนที่แคบกว่า บ. เพราะ negative space มีไม่เท่าบ.  นั่นเอง

ตัวอย่างด้านบนสะท้อนให้เห็นถึงกฎอันยืดหยุ่นของสัดส่วนความกว้าง และความสัมพันธ์อันดีระหว่าง negative space หรือพื้นที่สีขาวที่ถูกจัดการ กับ positive space พื้นที่สีดำที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นผลพลอยได้ของการมีพื้นที่สีขาวที่ถูกจัดการมาอย่างเรียบร้อย  อย่างที่เมื่อข.ไข่ เป็นตัวอักษรที่แคบที่สุดในชุดพยัญชนะ ก็ไล่ไปตามประสบการณ์ของภาษา ถ้าเกิดว่าเป็นภาษาไทยก็หาข.ไข่ หรือช.ช้าง แล้วทุกอย่างระหว่างนั้นก็อยู่ในความแคบและความกว้าง เอาไปเทียบกับเจตนาและอาการ แล้วก็เอาไปเทียบกับ negative space ภายในตัวอักษร ก่อนจะมาเป็นบ.ใบไม้

การเขียนชื่อตัวเองด้วยปากกาทั่วไปกับการเขียนตัวอักษรขนาดใหญ่ด้วยสัดส่วนที่เกิดขึ้นจากความทรงจำ สิ่งสำคัญร่วมของแบบตัวอักษรทั้ง 2 สัดส่วนคือเส้นรอบนอก (Silhouette) ทำหน้าที่เป็นขอบเขตให้เข้าใจว่าตัวหนังสือไม่สามารถมีตัวตนอยู่ได้ ถ้าไม่มีพื้นที่ระหว่างกัน พื้นที่ภายในนั้นกระทำเป็นพื้นที่ภายนอกด้วยเพราะว่ารูปทรงมันติดกัน การดูว่าพื้นที่ระหว่างกันนั้นสวยงามหรือเปล่า ผู้มองต้องมองจากเส้นรอบนอกนั่นเอง