➜ แนวความคิดที่ตัวอักษรเป็นของที่ควรเคารพ การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งการทำลาย หรือชุดความเชื่อว่าแบบตัวตัวอักษรจะต้องเป็นไปตามที่ถูกกำหนดเท่านั้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มิได้เป็นสิ่งใหม่แต่อย่างใด
อันที่จริงแล้วมีความเข้าใจผิดอย่างมาก ว่าชุดความคิดลักษณะดังกล่าวถูกใช้ทั้งในฟากของนักออแบบอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วนักออกแบบร่วมสมัยก็จำเป็นต้องใช้ชุดความคิดเดียวกันนี้เช่นกัน โดยนำมาถามกับตนเองในการพัฒนาแบบ ในขณะที่นักออกแบบแนวอนุรักษ์นิยมอาจจะบังคับการออกแบบด้วยกฎความเชื่อชุดดังกล่าว นักออกแบบแนวร่วมสมัยกลับมองว่าจะถ่างพื้นที่ทางการรับรู้ สร้างพื้นที่ทางการออกแบบใหม่อย่างไร
ทำความเข้าใจให้เห็นภาพด้วยการอุปมาอุปมัย ถ้าเรามองว่าชุดความคิดดังกล่าวเป็นรั้วขั้นอยู่ตรงกลางระหว่างข้างนอก(ร่วมสมัย) และข้างใน(อนุรักษ์นิยม) คนที่อยู่ต้านนอกพยายามดึงรั้วเข้าด้านตัวเองเพื่อให้คนด้านในมีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งหากมองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าส่งผลดีกับคนด้านในมากกว่า เพราะจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่อีกมากมาย ยังไม่ต้องนับเรื่องการต้องทนแรงเสียดทานและการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณะ การออกแรงดึงจากภายนอกให้พื้นที่ภายในกว้างขึ้นโดยไม่มีแรงผลักจากภายใน เป็นภาพประกอบได้ค่อนข้างชัดเจน
สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในวงการการออกแบบตัวอักษรสะท้อนภาพโครงสร้างอื่นๆในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ กรอบจารีตในการออกแบบตัวอักษรนั้นส่งผลโดยตรงกับรูปร่างหน้าตาของการออกแบบเลขนศิลป์ หากแต่เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเชิงลึกน้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเสียงบ่นว่าไม่มีฟอนต์ไทยที่เหมาะกับงาน ฟอนต์ไทยมีความหลากหลายไม่พอ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นแค่คำเปรยเสียมากกว่า แต่หากเราคิดดูให้ดีจะพบเรื่องที่แฝงและยึดโยงอีกมากมาย จารีตก็เป็นส่วนหนึ่งในแกนของปัญหา
ในกรณีที่มีการถกเถียงกันเรื่องแบบตัวอักษร กรอบความคิดดังกล่าวก็จะถูกนำมาประยุกต์ใช้อีกเช่นกัน และมักจะอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ที่ตัดตอนมาเป็นส่วนๆ เฉพาะที่สนองกับความคิดเห็นของตน โดยละที่จะมองประวัติศาสตร์เป็นภาพรวม อีกทั้งยังมักนำการวิจารณ์แบบตัวอักษรไปผูกกับเรื่องคุณค่าทางสังคมในอุดมคติที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่วนใดที่ออกนอกรีตก็จะถูกประณามอย่างเป็นสูตรสำเร็จในการวัดว่าของเดิมดีกว่าเสมอโดยไม่ดูบริบทของปัจจุบัน
บ้านเรามีเนื้อในเป็นอนุรักษ์นิยม(หรือจะเรียกจารีตนิยม แล้วแต่พอใจ) แต่เป็นอนุรักษ์นิยมที่ต้องการที่จะร่วมสมัยเพื่อบอกว่าตนเองและนานาชาติว่าเราทันตามยุคสมัย ในกรอบของการออกแบบตัวอักษรของบ้านเราก็ยังผูกติดอยู่ในสมการนี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าการอนุรักษ์จะไม่กินความมาถึงอดีตในระยะใกล้ เพราะลักษณะของสังคมไทยที่แยกอดีตออกจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง และไม่นับว่าปัจจุบันมีความเป็นไทยตามปัจจัยทางสังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ที่เปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันเรากำลังยอมรับแบบตัวอักษรไทยหลายๆแบบที่เกิดขึ้นในยุค ๗๐ ในขณะที่ตีกลับแบบร่วมสมัยที่เกิดในบัจจุบันขณะ ซึ่งอันที่จริงแล้วมาจากการพัฒนาการบนรากฐานเดียวกัน หรือเราจำเป็นต้องรออีกยี่สิบปี โดยให้เวลาเป็นตัวกำหนดและบีบให้เกิดความรู้สึกชอบธรรม จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลยที่ปัจจุบันทุกคนจะมายกยอกันว่า
ตัวอักษรอย่างมานพติก้าจากยุค ๗๐เป็นคลาสสิค หรือกิติธาดา(ที่ยืนอยู่บนความสามารถทางการอ่านของมานพติก้า) ได้ผ่านเวลามาทศวรรษกว่าๆ ปัจจุบันเป็นแบบตัวอักษรที่ถูกนิยมใช้อย่างสามัญ จงใส่ใจกับแบบตัวอักษรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและตระหนักถึงคุณค่าของมันโดยไม่จำเป็นต้องรอเป็นทศวรรษ
ทั้งนี้การพัฒนาแบบตัวอักษรไทย ถึงแม้จะเริ่มต้นอย่างกว้างขวางและอย่างจริงจังได้ไม่นาน ปริมาณความหลากหลายอาจจะยังมีไม่สูง แต่นับได้ว่าในช่วงเวลาสั้นๆ นับจากก่อนและหลังดิจิตอล แบบตัวอักษรไทยมีพัฒนาการที่รวดเร็วมากในรอบสามสิบปี จนต่างชาติยังต้องจับตามองถึงปรากฎการณ์นี้ และตั้งคำถามกันว่า ค่ากลางในความสามารถในการอ่านเติบโตสัมพันธ์กันหรือไม่ เกิดการสำลักหรือต่อต้านแบบตัวอักษรมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเทียบกับการเปลี่ยนแปลง อาทิ การเคลื่อนเข้าสู่ยุคตัวอักษรละตินไร้เชิงฐานที่ใช้เวลาร่วมศตวรรษ (๙๗ ปี นับตั้งแต่ Akzidenz-Grotesk 1896 ถึง Helvetica 1957)
หากพิจารณาจากมาตราส่วนเปรียบเทียบที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีการแตกแยกทางความคิดอยู่บ้างระหว่างสองแนวความคิดในการพัฒนาแบบตัวอักษรไทย แต่คนไทยโดยรวมมีความพร้อมอย่างมาก มากกว่าที่นักออกแบบตัวอักษรไทยอนุมานเอาเอง หรือจากเสียงวิจารณ์ดังๆของกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว อันที่จริงแล้วคนส่วนใหญ่เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงกว่าที่เราเข้าในกันเสียอีก