ลงรายละเอียด สัมมนาอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ

บทความภาคภาษาไทยโดยกองบรรณาธิการนิตยสารอาร์ตโฟร์ดี แปลจาก Looking at the details of BITS MMX บทความภาคภาษาอังกฤษโดย ภูมิ รัตตวิศิษฐ์ สำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารอาร์ตโฟร์ดี ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

➜ ผมไม่เคยเห็นหน้าพ่อหรือแม่ และไม่เคยเห็นใครคล้ายมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นท่าน (สมัยที่พวกท่านยังอยู่นั้น มันนานก่อนจะมีรูปถ่ายให้เก็บบันทึก) จินตนาการแรกของผมว่าพวกท่านมีหน้าตาท่าทางแบบไหนมันได้มาจากหลักหินจารึกหน้าหลุมศพของพวกท่าน ซึ่งฟังดูไร้เหตุผลไปสักหน่อย รูปแบบตัวหนังสือหน้าหลุมศพของพ่อทำให้ผมเกิดความคิดแปลกๆ ว่าเขาต้องเป็นผู้ชายท่าทางน่ากลัว ตัวใหญ่ มีใบหน้าเป็นสี่เหลี่ยมกับลอนผมสีดำ จากแบบตัวอักษร รวมทั้งข้อความที่ว่า “และ Georgiana ภรรยาของคนที่มีชื่อจารึกไว้ด้านบน” ผมจึงเกิดข้อสรุปแบบเด็กๆ ว่าแม่นั้นต้องบอบบางและขี้โรค

นี่คือการพยายามทำความเข้าใจถึงพ่อแม่ของ Pip ที่ตัดมาจากหน้าแรกในนิยายเรื่อง Great Expectation ของ Charles Dicken ที่แม้ว่าจะเป็นการตีความอย่างซื่อๆ แต่กลับน่าสนใจ เขาตีความผ่านตัวหนังสือที่ถูกจารึกไว้บนแผ่นหินหน้าหลุมศพตามตัวอักษรเสียจนเกือบจะน่าขัน หากแต่มิใช่เป็นเพราะเขาไม่มีสิ่งอื่นใดให้นำมาใช้จินตนาการถึงพ่อแม่ที่เขาไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหรอกหรือ มิใช่เพราะเขามีเพียงบริบทแต่ปราศจากเรื่องราว คนเราสันนิษฐานจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา และเป็นเรื่องปกติที่จะใช้เรื่องราวเป็นเครื่องนำทาง แต่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเรื่องราว มีเหตุผลไหมว่าเหตุใดตัวหนังสือ และสิ่งที่บรรจุมันควรจะถูกละเลย เรามักจะเชื่อว่าประเทศโลกที่ 1 ซึ่งมีการศึกษาดี เห็นความสำคัญของการออกแบบตัวอักษรที่ดี หรือประเทศเหล่านั้นอาจจะแค่เพียงมีเงินสำหรับจ่ายค่าออกแบบตัวอักษรให้ดี แต่ไม่ใช่ประเทศโลกที่ 2 และโลกที่ 3 ซึ่งด้อยการศึกษาหรอกหรือที่ชอบตีความตัวอักษรด้วยความที่ยึดติดกับตัวอักษรมากกว่า เหมือนอย่างหนูน้อย Pip

กว่าทศวรรษที่ความสำคัญของการออกแบบตัวอักษรในสังคมไทยนั้นถูกละเลยและไม่ได้รับการพูดถึง เหมือนกับหลายๆ ประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศโลกที่ 1 ถูกบดบังด้วยการออกแบบในเชิงธุรกิจอันเป็นสิ่งที่นิยมกันมากกว่า ด้วยความละเอียดอ่อนและขนาดของตัวอักษร (ซึ่งผมหมายความตามตัวอักษร) จึงทำให้ตัวอักษรไม่ได้รับบทเป็นตัวเอก เมื่อถึงเวลาเข้าฉาก ตัวอักษรก็มักจะได้รับบทเป็นตัวประกอบให้กับงานกราฟฟิกดีไซน์ แต่งานกราฟิกที่ดีก็ไม่สามารถเป็นไปได้หากมีการออกแบบจัดวางตัวอักษรที่แย่ แล้วเหตุใดถึงมองว่าตัวอักษรไม่มีความสำคัญ เหมือนกับสุภาษิตโบราณที่ว่า “God is in the details” (รายละเอียดล้วนสำคัญ) ตัวอักษรนั้นอาจเป็นเครื่องแสดงถึงรายละเอียดที่เป็นพื้นฐานที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดที่สามารถมองเห็นได้ในงานดีไซน์

วันที่ 30 ตุลาคม 2010 วันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการออกแบบตัวอักษรและการจัดวางตัวอักษรในประเทศไทย ในวันนั้น ประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ BITS (Bangkok International Typographic Symposium) จัดโดย คัดสรร ดีมาก และ Alliance Française de Bangkok เป็นเจ้าภาพงาน โดยความร่วมมือของ ThaiGa (สมาคมออกแบบเรขศิลป์ไทย), สถาบัน Goethe และ Japan Foundation งาน BITS คือ งานสัมมนาการออกแบบตัวอักษรนานาชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม ประกอบด้วยวิทยากร 8 คน เป็นวิทยากรต่างชาติ 4 คนและวิทยากรชาวไทย 4 คน ได้แก่ Christian Schwartz, Jean François Porchez, Hubert Jocham, Masayoshi Kodaira, เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช, ไพโรจน์ ธีระประภา, รักกิจ ควรหาเวช และ ศุภกิจ เฉลิมลาภ นอกจากนั้นในช่วงท้ายของแต่ละวันยังมีการบันทึกเทปของ DPBP (ดีไซน์ไปบ่นไป) ซึ่งเป็นการสนทนาแบบกันเองกับแขกรับเชิญพิเศษ

นี่คือเช้าวันเสาร์ที่สดใสและมีชีวิตชีวา ผู้คนมารวมตัวกันรอบๆ ห้องอาหาร พูดคุยและทานอาหารเช้าระหว่างที่รอเปิดประตูเข้าหอประชุม คนที่เพิ่งมาถึงก็ไปต่อคิวรอที่แถวลงทะเบียน ในขณะที่คนที่ลงทะเบียนเสร็จแล้วจะได้รับสติกเกอร์น่ารัก ที่มีข้อความอาทิ “I’m a Type Lover” หรือ “Type Aficionado” ห่างไปไม่กี่ก้าว ผู้มาร่วมงานจะเห็นมุมขายเสื้อทีเชิ้ต แต่ละลายออกแบบโดยนักออกแบบแต่ละคน จากเสื้อทั้งหมด มีอยู่ 4 ลายที่แสดงให้เห็นถึงการออกแบบตัวอักษร ซึ่งแน่นอนว่าออกแบบโดยแขกรับเชิญชาวต่างชาติทั้ง 4 คน เสื้อยืดสำหรับบรรดาสต๊าฟก็มีเช่นเดียวกัน เป็นเสื้อที่ภูมิใจนำเสนอโดย พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ จากคัดสรร ดีมาก นอกจากนี้ในงานยังมีบราวนีย์และเค้กจาก Vanilla Industry ร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพฯ สำหรับให้ผู้มาร่วมงานรับประทานรองท้อง เมื่อใกล้จะถึงเวลา เหล่าทีมงานก็วิ่งวุ่นกันไปมาเพื่อเตรียมงานขั้นสุดท้ายก่อนการแสดงแรกจะเริ่ม พอเวลา 10 นาฬิกา ฝูงชนก็เริ่มทยอยเดินเข้าไปยังห้องประชุม หาที่นั่ง และไม่กี่นาทีต่อจากนั้นการสัมมนาก็เริ่มต้นขึ้น

อนุทิน วงศ์สรรคกร กล่าวทักทายเปิดการสัมมนา BITS MMX อย่างเป็นทางการ เขารับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับมะลิ จาตุรจินดา จาก be>our>friend studio ตลอดทั้งงาน หลังจากการแนะนำแบบสั้นๆ วิทยากรคนแรกผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงการออกแบบตัวอักษรอย่าง Christian Schwartz ก็เดินขึ้นมาบนเวที เขาบรรยายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างตัวอักษร ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจด้วยการแสดงให้เห็นว่าผู้คนในแขนงงานนี้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ดังที่ทราบกันดีว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะทำงานร่วมกับคนเพียงคนเดียว แต่ถ้าเป็นเรื่องของตัวอักษร ยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ บางครั้งก็อาจจะยิ่งใช้คนออกแบบหลายคน ยกตัวอย่างเช่น แบบตัวอักษรที่รู้จักกันดีอย่าง ITC Officina Family นั้นถูกยกให้เป็นฝีมือของ Erik Spiekermann แต่ที่ถูกคือ แบบตัวอักษรนี้เป็นผลงานของนักออกแบบ 4 คน ทั้ง Erik van Blokhand, Just van Rossum, Ole Schäfer และ Christian Schwartz ซึ่งร่วมกันทำ แต่ละคนต่างก็มีวิธีการทำงานและความเข้าใจในตัวอักษรที่แตกต่างกัน เช่น Erik Spiekermann จะกำกับงานออกแบบทั้งหมดด้วยการอธิบายแทนที่จะร่างเป็นแบบ Paul Barnes เพื่อนร่วมงานของ Schwartz ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง รับหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ โดยดูจากบริบทของงาน การออกแบบอักษรเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าการแค่รับสรุปงาน ร่างแบบขึ้นมาสักสองสามแบบแล้วนำไปวาดในคอมพิวเตอร์ บางขั้นตอนของการทำงานนั้นอาจเกิดก่อให้เกิดคำถามง่ายๆ ขึ้นมายกตัวอย่างเช่น จะใช้ตัวอักษรแบบไหน หากมองอย่างผิวเผินกระบวนการเลือกแบบตัวอักษรนั้นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายและเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความคิด เพราะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างถูกหรือผิด ยิ่งไปกว่านั้น นักออกแบบตัวอักษรที่มีความเชี่ยวชาญอาจใช้เวลาน้อยกว่าผู้บริหารฝ่ายการตลาดในการเลือกตัวอักษร อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่ต้องพิจารณาคือความจริงที่ว่านี่เป็นผลจากประสบการณ์การทำงานตลอดชีวิตของนักออกแบบตัวอักษร ทั้งประสบการณ์ของเขา และความรู้ของเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่การเลือกใช้ตัวอักษรที่มีอยู่แล้วหรือการพัฒนารูปแบบใหม่ขึ้นมาก็ ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

Jean François Porchez เพิ่มประเด็นเรื่องความไม่เป็นมืออาชีพของการไม่เห็นคุณค่าในตัวอักษร การบรรยายของเขาค่อนข้างคล้ายกับของ Schwartz ในประเด็นเรื่องที่เขาพูดเกี่ยวกับกระบวนการ หากแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกัน แต่เป็นกระบวนการออกแบบตัวอักษรและการที่ลูกค้าเข้ามามีบทบาทสำคัญ ที่จริง เขายังเน้นในตอนต้นของการบรรยายว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานออกแบบโดยปราศจากความเข้าใจเบื่องต้นต่อบริบทและวัตถุประสงค์ของลูกค้า เขาแนะนำเราผ่านผลงานต่างๆ อันมีทั้ง Parisine, Henderson, Retiro และ Vuitton หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจซึ่งถูกยกขึ้นมาในการบรรยายนี้ก็คือแนวคิดเรื่อง modernization แบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่าง Louis Vuitton และ AW Conqueror (ทั้ง 2 แบรนด์นี้ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ Porchez) นั้นต้องการการพัฒนา และทางที่จะทำได้ก็คือการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูทันสมัย แต่อะไรคือความทันสมัย เราใช้คำๆ นี้กันจนเกร่อมาเป็นสิบปีและแน่นอนว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปในอีกสิบปีข้างหน้า สำหรับคนส่วนใหญ่ ผู้ซึ่งไม่ได้สนใจในความทันสมัย นี่อาจจะเป็นคำที่พูดออกมาง่ายกว่าคำว่าร่วมสมัย เมื่อผู้ชมถาม Porchez ว่า “แล้วถ้าอย่างนั้น จะมีวิธีไหนที่เราสามารถทำให้ตัวอักษรของเราดูเป็นสมัยใหม่” เขาก็ตอบว่า “คุณเป็นนักออกแบบในยุคสมัยของคุณ นั่นเป็นเหตุผลให้ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม มันก็จะออกมาทันสมัย ดังนั้นจงพยายามเป็นตัวของตัวเองเสมอ” เป็นคำพูดที่ฟังดูหลงตัวเองแต่ก็เป็นเรื่องจริง เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนและปรับปรุงการดำรงชีวิตของคนในทุกวันนี้ แล้วอย่างนี้ ตัวอักษร ผลผลิตจากการสรรสร้างโดยตัวเราเองจะไม่เป็นผลผลิตของวันเวลาของเราเชียวหรือ แม้แต่บริบทที่เรานำไปเปลี่ยนแปลงตัวอักษรก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอักษรบางแบบอาจถูกออกแบบหลายปีก่อนที่จะกลายมาเป็นที่นิยมหรือกลายมาเป็นเครื่องบ่งบอกถึงยุคสมัย มันก็แค่ขึ้นอยู่กับว่าที่ไหนและเมื่อไหร่ที่นักออกแบบและผู้ใช้งานจะนำผลงานเหล่านั้นออกมาแสดงใช้จนได้รับความสนใจสังคม

ตามปรกติตัวอักษรมักถูกมองว่าเป็นเครื่องบรรจุข้อความ แต่ในบางครั้งตัวอักษรก็สามารถเป็นข้อความในตัวของมันเองได้เช่นกัน ในภาพประกอบการบรรยายของ Hubert Jocham ซึ่งเขาได้พูดเกี่ยวกับโลโก้ตัวอักษร เมื่อใดก็ตามที่เราคิดถึงโลโก้เรามักจะคิดถึงสัญลักษณ์ แต่ยังมีสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมหลายแบรนด์ที่เป็นเพียงแค่ตัวอักษร บางอันใช้เพียงแค่ฟอนท์ Helvetica ก็ดูมีเอกลักษณ์ ตัวอักษรที่ถูกสร้างมาอย่างดีเหล่านี้มีความหมายในตัวของมันเอง ภาพและรูปแบบของตัวหนังสือมักจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่แม้ว่าข้อความหรือการใช้ตัวสะกดจะเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่ได้ทำลายภาพความทรงจำของแบรนด์ อย่างไรก็ตามโลโก้แบบตัวหนังสือที่ดีก็หาไม่ได้ง่ายๆ อาจะเป็นความจริงที่ว่านักออกแบบสมัยนี้หลายคนยังขาดความสามารถในการออกแบบตัวอักษร จึงต้องไปจำกัดตัวเองอยู่กับแค่ 4 ลักษณะของการออกแบบอัตลักษณ์ อันได้แก่ การมีโลโก้ตัวหนังสือ (ที่มักจะอยู่หน้าสุด) และสัญลักษณ์อยู่ด้านบน ติดกัน หรือแยกห่างจากกัน ในขณะที่ขั้นตอนที่ 4 คือ จับมันมารวมกัน ซึ่งใกล้เคียงกับการเป็นโลโก้ตัวอักษรมากที่สุด ในหลายกรณี โลโก้ตัวอักษรที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีนั้นมีพลังพอที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นการเพิ่มสัญลักษณ์ต่างๆ เข้าไปกลับกลายมาทำให้งานดูซ้ำซาก และตัวหนังสือเองก็อาจจะแสดงความรู้สึกได้มากกว่าภาพหรือสัญลักษณ์ Jocham กล่าวว่า “ตัวหนังสือสามารถตะโกนในขณะที่รูปภาพนั้นทำไม่ได้” เมื่อเขาบรรยายว่าตัวหนังสือสามารถสื่อสารและออกคำสั่งได้มากกว่าในบางสถานการณ์ อย่าง ป้ายที่เขียนว่า “ห้ามเข้า” เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งที่คุ้มค่าพอให้พูดถึงในช่วงที่ Jocham บรรยายก็คือคำตอบที่เขาตอบคำถามของผู้ชมซึ่งถามว่า อะไรคือความแตกต่าระหว่างอัตลักษณ์ขององค์กรกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ เขาให้คำตอบอย่างระมัดระวังจากมุมมมองของคนเยอรมัน จากมุมมองของคนไทย คำตอบของเขานั้นค่อนข้างน่าสนใจสำหรับผม “ผมคิดว่าต่างกันมาก แต่ผมคงพูดได้แค่ว่าที่เยอรมนีเป็นอย่างไร อัตลักษณ์ของแบรนด์นั้นเป็นเรื่องของการตลาด และค่อนข้างเกี่ยวกับสินค้าและการโฆษณา ในขณะที่การออกแบบเพื่อองค์กรนั้นมีบางสิ่งที่ต่อต้านมุมมองทางการตลาดในเชิงธุรกิจ และมักไม่ค่อยใช้เอเจนซี่โฆษณา มันเป็นเรื่องของการพูดถึงสิ่งที่ถูกต้องโดยมีวัฒนธรรมองค์กรแฝงอยู่” คำตอบนี้โดดเด่นมากในการประชุมนานาชาติ มันเป็นเรื่องของมุมมองที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และทัศนคติซึ่งทำให้การเสียเวลามานั่งฟังของคุณคุ้มค่า

Masayoshi Kodaira นั้นต่างจากวิทยากรชาวต่างชาติคนอื่นๆ เพราะไม่ได้เป็นนักออกแบบตัวอักษร เขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชาวโตเกียวซึ่งนำตัวหนังสือมาใช้ในผลงานหลายๆผลงานของเขาได้อย่างโดดเด่น ผลงานของเขาไม่ได้ซับซ้อน มันเรียบง่ายแต่ผ่านการคิดไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี เราเห็นได้ว่ากระบวนการทำงานของเขานั้นไม่ได้เริ่มต้นขึ้นโดยไม่มีแผนงาน หากแต่การวางแผนนี้เองที่กลับทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่พูดเกี่ยวกับผลงานของเขาและกระบวนการออกแบบ รวมไปถึงการแสดงผลงานบางส่วนจาก Art Fair Tokyo, Fukatake House, Nara Yoshimoto Exhibition Signage และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่สื่อสารอย่างตรงตรงมาโดยไม่ได้แฝงนัยอะไรเอาไว้ ความไร้เดียงสานี้อาจไม่ได้ทำให้ผู้ชมร้อง “ว้าว” แต่กลายเป็นเสียงชื่นชม “อ๋อ…” แทน มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับการที่จู่ๆ เราก็เข้าใจสมการทางคณิตศาสตร์ คิดขึ้นมาได้เอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้สึกที่ดี เป็นสเน่ห์แบบที่กราฟิกดีไซเนอร์ทุกคนฝันถึง

นอกเหนือจากการบรรยายแล้ว วิทยากรต่างชาติทั้ง 4 คนยังร่วมทำกิจกรรมเวิร์คช็อปที่ดูแลโดยพงศธร หิรัญพฤกษ์ ซึ่งดึงดูดความสนใจผู้ชม มีทั้งนักออกแบบอาชีพ นักศึกษา หรือแม้แต่อาจารย์ บางคนอาจมีประสบการณ์มาบ้าง ในขณะที่บางคนก็ไม่เคยเลย อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งใหม่ให้ได้เรียนรู้อีก โดยเฉพาะจากคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมและพื้นเพ หากเดินดูรอบๆ ก็จะเห็นได้ว่านักออกแบบแต่ละคนต่างก็มีโจทย์ที่แตกต่างกัน Christian Schwartz มอบหมายให้นักเรียนของเขาออกแบบหัวนิตยสารคำว่า “Sunday” ให้เข้ากับโจทย์นิตยสารประเภทต่างๆ ทั้ง แฟชั่น กีฬา IT ธุรกิจ รวมทั้ง เด็กและครอบครัว แต่แทนที่จะให้ออกแบบใหม่ เขากลับให้ทุกคนออกแบบจากตัวอักษรที่มีอยู่แล้ว ปัญหาที่จะพบก็คือ ส่วนไหนของตัวอักษรที่พวกคุณต้องการรักษาเอาไว้ และส่วนไหนที่พวกคุณจะตัดออก ซึ่งเมื่อทำเสร็จก็อาจได้ตัวอักษรแบบใหม่ขึ้นมา Jean François Porchez กลับใช้อีกวิธีหนึ่ง เขาให้นักเรียนมีโอกาสได้สัมผัสเครื่องมืออื่นนอกจากดินสอ เขาสาธิตวิธีการใช้ปากกาหมึกซึม แบบที่คุณต้องจุ่มหมึกก่อนจะลงมือเขียน สำหรับนักเรียนที่โตขึ้นมากับคอมพิวเตอร์ นี่จึงเป็นเรื่องค่อนข้างน่าสนใจ ประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือแบบโบราณซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาทำให้อย่างน้อย พวกเขาก็ได้รู้สึกถึงเส้นที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างที่ลากตัวหนังสือ ตัวหนังสือที่เขียนขึ้นอาจดูสวยงามเรียบร้อยในตอนท้ายแม้ว่าในตอนเริ่มนั้นอาจดูหยาบ ความงามแบบหยาบๆ เป็นคำที่ Hubert Jocham เลือกมาใช้อธิบายสไตล์ของเขาและมันก็ถูกนำมาใช้ในการเวิร์คชอปของเขาเช่นกัน เมื่อเราเขียนหรือวาดตัวหนังสือ เรามักจากเริ่มต้นด้วยเส้นขอบ แต่แทนที่จะทำเช่นนั้นเขากลับขอให้นักเรียนเติมส่วนประกอบในตัวหนังสือ ทำให้เหมือนกับกำลังวาดภาพด้วยความปราณีต ผลที่ได้แทนที่จะปราณีตกลับกลายเป็นความหยาบ แต่ความหยาบนี่เองที่ทำให้เกิดตัวอักษรในแบบที่ไม่ได้ตั้งใจขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องจำเอาไว้ เพราะเราสามารถออกแบบตัวอักษรในวิธีที่ต่างจากคนอื่น แล้วค่อยมาปรับปรุงในภายหลัง ซึ่งผลที่ได้ก็จะกลายเป็นความงามแบบหยาบๆ

Masayoshi Kodaira เตรียมกิจกรรมอีกแบบให้กับนักเรียนของเขา ซึ่งยังคงเกี่ยวกับตัวอักษร แต่เขาให้อิสระในการทำงานต่างจากคนอื่นๆ เขาให้นักเรียนเลือกคำอะไรก็ได้ที่ต้องการมาทำงานด้วยวิธีอะไรก็ได้ที่ทำให้คำนั้นสื่อสาร แล้วเขาจะวิจารณ์งานทีละคน แม้ว่าจะไม่ได้รับมุมมองใหม่ในการทำงาน แต่กลับได้การพูดคุยต่างๆ มาแทน วิธีของเขาเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่าอีก เวิร์คช็อปกลุ่มอื่น และ Masayoshi เองก็ยังแนะแนวคิดในการแก้ปัญหาที่เขาเคยเจอในการทำงานให้กับนักเรียนของเขาอีกด้วย

กลับมาในส่วนของการบรรยาย แน่นอนว่ายังมีวิทยากรอีก 4 คน และงานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นในกรุงเทพฯ จึงไม่น่าแปลกที่จะต้องมีการพูดถึงตัวอักษรในบริบทของคนไทย แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าตัวอักษรภาษาไทยแบบร่วมสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลจากตัวอักษรละตินมาอย่างมาก หรือ สิ่งที่เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช นักออกแบบตัวอักษรผู้ทำงานร่วมกับคัดสรร ดีมากมาหลายปี เรียกว่า “ต้นแบบจาก Thai Ni-Yom” โดยการบรรยายของเขาเป็นการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการออกแบบตัวอักษรไทยและตัวอักษรละติน

บางครั้งอาจเป็นเพราะว่าจุดประสงค์ของงานที่ต้องการให้ตัวอักษรภาษาไทยนั้นมีต้นแบบมาจากอักษรละติน เหมือนอย่างเวลาที่ทาง คัดสรร ดีมาก ต้องพัฒนาตัวหนังสือภาษาไทยให้กับบริษัทที่เป็นของต่างชาติ เช่น Nokia Sans THAI และ 3D World THAI มีต้นแบบมาจาก Nokia Sans และ WeddingSans ตามลำดับ ซึ่งนี่ก็เป็น 2 ใน หลายตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องของอุปสงค์กับอุปทาน บ่อยครั้งตัวหนังสือภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ร่วมกับภาษาไทยและเราต้องหาวิธีนำตัวหนังสือที่แตกต่างกัน 2 ภาษามารวมเข้าด้วยกันให้จงได้ ดังนั้นวิธีเข้าทำกับปัญหาก็คือการสร้างฟอนต์ภาษาไทยโดยใช้ต้นแบบจากฟอนต์ภาษาอังกฤษ

ก่อนที่จะพูดถึงองค์ประกอบที่สำคัญของตัวอักษรภาษาไทย เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าอะไรที่ทำให้ภาษาไทยเป็นไทย หนึ่งในลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดเจนซึ่งสามารถเห็นได้ในฟอนต์ที่เอกลักษณ์ได้ทำไว้อย่าง Mekhong Gothic และ HongThong Gothic นั้นคือหางของตัวหนังสือ แต่บางทีอาจไม่ใช่แค่หางที่แหลมของตัวหนังสือแต่เป็นการเล่นหางที่ทำให้ไทยดูเป็นไทย ไพโรจน์ ธีระประภา กล่าวว่า คนไทยมีเคล็ดลับในการ “เพิ่มเติม” ซึ่งต่างจากความเชื่อแบบตะวันตกที่ว่า “less is more” (ซึ่งที่จริงๆ เป็นการประชด ที่ปรัชญาตะวันออกมีทางสายกลาง) แต่ ไม่ว่าเราจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกหรือเรายอมรับว่าอะไรที่เยอะเกินไป (แม้ว่าคำนี้จะค่อนข้างมีนัยยะไปในเชิงลบ) จะไม่ได้ผลเสมอไปก็ตาม เราอาจบอกได้ว่าประเทศไทยนั้นอยู่ในระยะเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นแบบช้าๆ และไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นเราจะสามารถรวมความเป็นไทยที่ว่านี้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เติบโตไปเรื่อยๆ นี้ได้อย่างไร

ไพโรจน์ได้พูดถึงสไลด์แผ่นหนึ่งในการบรรยายของเขาว่า คนที่สามารถวัดค่าความเป็นไทยและกำหนดขอบเขตความเป็นไทยได้ก็คือตัวนักออกแบบ นักออกแบบตัวอักษรชาวไทยอาจถามตัวเองว่าจะออกแบบให้หางตัวหนังสือออกมาแหลมขนาดไหน แน่นอนว่าหางแหลมๆนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทยแต่มันก็สามารถทำให้ดูแข็งหรือฝืนเกินไปได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงควรจบที่การถามตัวเองว่าจะใส่เพิ่มเข้าไปเท่าไหร่ถึงจะพอดี

ในตอนท้ายของการบรรยายเขาพูดว่าเขาต้องการพูดให้ฟังดูไม่เป็นวิชาการมากเกินไป เขาเพียงแค่พูดถึงประเด็นที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ การออกแบบตัวอักษรในประเทศไทยยังคงล้าหลัง และอาจจะเป็นเรื่องซีเรียสเกินไปที่จะเอามุมมองทางวิชาการอันซับซ้อนของตัวอักษรมาพูดให้ผู้ชมฟัง อย่างไรก็ตามผมนั้นไม่ได้สนใจหากประเด็นเรื่องนี้จะฟังดูซับซ้อนถ้าหากว่ามันจะช่วยให้เราเข้าใจในขอบเขตของการรับรู้ตัวอักษร อย่างไรก็ดี การบรรยายนี้ก็ช่วยสร้างความพอดีให้กับงานสัมมนาทั้งหมดด้วยการมาทอนน้ำหนักจากวิทยากรต่างชาติ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ยังมีนักออกแบบที่ศึกษาตัวอักษรในแง่ของรูปแบบการแสดงออกและกระบวนการที่เราใช้สร้างตัวอักษรขึ้นมา รักกิจ ควรหาเวช อธิบายถึงการมองตัวอักษรในฐานะที่เป็นการแสดงออกที่มองเห็นได้ เขาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ชาวไทยผู้เคยทำทั้งงานดีไซน์และงานศิลปะ เขาสร้างกระดานฉลุขนาดพกพาซึ่งมีชิ้นส่วนรูปทรงเรขาคณิตที่แตกออกมาจากตัวอักษร โดยชิ้นส่วนเหล่านี้สามารถนำมาใช้สร้างตัวอักษรบนกระดานฉลุนี้แบบต่างๆนับไม่ถ้วนต่อไปได้เรื่อยๆ หนึ่งในสิ่งที่เจ๋ง (ถ้าผมขอพูดแบบนี้) ก็คือ กระดานฉลุนี้สามารถสร้างตัวอักษรได้ทั้งภาษาไทยและละติน ไปจนถึงรูปทรงกราฟิก การบรรยายนี้ต่างจากการบรรยายอื่นๆ ในงานสัมมนาครั้งนี้ เพราะมันไม่ได้พูดถึงการพัฒนารูปแบบตัวอักษรในเชิงธุรกิจ แต่นั่นคือสเน่ห์ของมัน คืออีกแง่มุมหนึ่งที่ได้จากการสัมมนา การให้ความสนใจในรายละเอียดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ นี่อาจจะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของนักออกแบบตัวอักษรมืออาชีพเลยก็ว่าได้ เวลาเรานึกถึงตัวอักษร เรามักนึกถึงสิ่งที่มีขนาดเล็ก อันเป็นหนึ่งในความคิดที่มาตีกรอบเรา ด้วยความที่มีขนาดเล็ก รายละเอียดและข้อบกพร่องต่างๆ จึงมักถูกละเลย แต่ตัวอักษรนั้นไม่ได้มีขนาดเล็กตลอดเวลา และบ่อยครั้งก็ถูกเอาไปขยายเป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นเวลาใช้งาน ศุภกิจ เฉลิมลาภ วิทยากรชาวไทยคนสุดท้ายของงานนี้ทำงานออกแบบป้ายสัญลักษณ์ โดยเฉพาะป้ายซึ่งต้องมีตัวอักษรขนาดใหญ่ มุมมองที่เขามีต่อตัวอักษรอาจแตกต่างจากมุมมองที่กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบมอง เวลาที่ทำงานขนาดใหญ่ รายละเอียดเล็กๆ นั้นยิ่งมีความสำคัญ และมันสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างงานออกแบบที่ดีกับที่แย่ได้ ความกลมกลืนนั้นจำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เพราะเมื่อถูกขยาย แม้แต่ข้อบกพร้องที่เล็กที่สุดก็สามารถเห็นได้ชัด เส้นที่ใหญ่เกินไป และความไม่เชื่อมโยงกันบนความกว้างของลายเส้นเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่เขายกให้ฟัง ด้วยความที่เป็นนักออกแบบป้ายมืออาชีพ เขาอาจต้องแก้ไขรายละเอียดเหล่านั้นด้วยตัวเอง อันที่จริงการบรรยายของเขาเน้นเกี่ยวกับการขยายสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นของเล็กๆนี้ แน่นอนว่าตัวอักษรบางแบบก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์พิเศษ ยกตัวอย่างเช่น Bell Centennial ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับสมุดโทรศัพท์ และไม่ได้ตั้งใจจะนำไปใช้กับงานขนาดใหญ่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าถ้าตัวอักษรมีขนาดเล็กแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องสนใจรายละเอียด ตัวอักษรทุกแบบควรต้องสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง นั่นอาจเป็นสิ่งที่แยกฟอนต์ในเชิงธุรกิจกับฟอนต์ทั่วๆ ไป Christian Schwartz ตอบคำถามประเด็นเรื่องความชัดเจนของข้อตำหนิในตอนต้นของการสัมมนาว่า “ทำอะไรก็ได้แบบนั้น” ซึ่งก็จริง

หลังจากที่วิทยากรทั้ง 8 ได้พูดคุยและตอบคำถามสุดท้าย งาน BITS MMX ก็จบลง ผู้ชมเริ่มหันไปพูดคุย ปรึกษากันเรื่องประเด็นต่างๆ ที่ถูกยกขึ้นมาพูดในช่วงการสัมมนากับเพื่อนๆ พร้อมกับชื่นชมนักออกแบบคนโปรดของพวกเขา ไม่นานก็มาถึงเวลาบอกลา อนุทิน วงศ์สรรคกร ในฐานะที่เป็นผู้จัดงานสัมมนานี้ เป็นตัวแทนจากคัดสรร ดีมาก เดินขึ้นมาบนเวทีเพื่อกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนทุกฝ่าย โดยเฉพาะสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ของงานครั้งนี้ และแล้วก็มีเสียงปรบมือเป็นสัญญาณให้กับการจบลงของหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ตัวอักษรไทย

ขณะที่เดินเดินออกจากห้องประชุม หลายคนอาจได้แรงบันดาลใจ บางคนอาจจะเพิ่งค้นพบอะไรใหม่ๆ ในขณะที่คนอื่นๆ อาจเริ่มมองตัวอักษรในแง่มุมที่แตกต่างไป ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเยี่ยมยอดหากแต่เกิดขึ้นกับคนเพียงกลุ่มเล็กๆ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมสัมมนา ตัวอักษรนั้นยังคงเป็นเรื่องคลุมเครือ ส่วนมากคนทั่วไปไม่รู้จักแบบตัวอักษรที่ตัวเองกำลังอ่านอยู่ พวกเขาไม่สามารถบอกข้อแตกต่างระหว่าง Didot กับ Bodoni ได้พวกเขาไม่ได้สังเกตว่าเส้นบางเส้นบางกว่าเส้นอื่น พวกเขาไม่ได้มานั่งสนใจรูปร่างของชื่อเรื่อง เขาอาจไม่ทันสังเกตชุดตัวเชื่อมพิเศษระหว่างสองอักษรเข้าด้วยกันที่เห็นอยู่ในประโยคอ่านด้วยซ้ำ ดังนั้นทำไมจึงต้องไปเสียเวลาตั้งมากมายมาขัดเกลารายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้ด้วยหละ? ผมขอบอกว่านี่อย่างไรครับ มันคือข้อแตกต่างของความเป็นมืออาชีพ สัญญาณของคุณภาพ สัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ แม้ว่าคุณอาจไม่เข้าใจมุมมองเรื่องเทคนิคการออกแบบตัวอักษรเลยก็ตาม อย่างน้อยที่สุดคุณก็ได้ชื่นชมในส่วนของกระบวนการ อย่ามองมันแค่ว่านักออกแบบอักษรทำงานออกแบบตัวอักษร แต่ให้พิจารณารายละเอียดเล็กน้อยอันนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบ ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องยอดเยี่ยมที่พวกเราควรพยายามหรอกหรือ? ไม่ว่าคุณจะเป็นวิศวกร สถาปนิก หรือนักวิทยาศาสตร์ ก็คงเข้าใจประเด็นที่กล่าวมาได้ไม่ยาก ดังนั้นจงอย่าบอกว่าคุณไม่ใช่นักออกแบบอักษรหรือไม่ได้ทำงานกับตัวหนังสือ ในความเป็นจริงคุณอยู่กับตัวหนังสือทุกวัน ดังนั้นเมื่อมีงาน BITS MMXI ครั้งหน้า จงไป นั่งลงและเริ่มเปิดใจคิดในเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นตัวอักษร เพื่อเตรียมรับรู้และเข้าใจเรื่องที่ใหญ่ๆ