นี่คือ”ข้อมูล”

บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นพิเศษเพื่อใช้ประกอบในสูจิบัติสำหรับนิทรรศการของ สันติ ลอรัชวี “ไม่ อาจ จะ ใช่” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๕ ถึง ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เรียบเรียงโดย เจิมศิริ เหลืองศุภภรณ์ และจัดทำเป็นภาษาอังกฤษโดย ภูมิ รัตตวิศิษฐ์

➜ การส่งต่อของข้อมูลเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคย และสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป โดยปรกติแล้ว ข้อมูลมักจะถูกแทนความหมายว่าเป็นสิ่งมีค่า ซึ่งมันจะไม่มีค่าเลยถ้าปราศจากผู้รับ เพราะข้อมูลที่ไม่เกิดการส่งต่อ ก็จะทำให้ค่าของมันเป็นเพียงความลับ (ซึ่งในบางทีกลับถูกมองว่าเป็นข้อมูลที่มีค่ามากพิเศษ) หรือเป็นเพียงการบันทึกของผู้สร้างข้อมูล

ในทางกลับกันการสร้างข้อมูลต้องนำข้อมูลอื่นจากหลากแหล่งมาประกอบหรือเปรียบเทียบเพื่อนำมาสู่ข้อมูลใหม่ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าข้อมูลนั้น ตามธรรมชาติของมันคือการเปลี่ยนถ่ายและการแพร่กระจายตนเองอยู่แล้ว ถึงแม้จะถูกเก็บในรูปแบบความลับก็ตาม ในที่สุดก็ไม่อาจจะหนีพ้นข้อเท็จจริงนี้

การออกแบบไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ล้วนเป็นการกระจายข้อมูลเช่นกัน อาจจะเป็นในรูปแบบที่มากกว่าการพูดหรือการเขียนเพื่อสื่อสาร นักออกแบบที่ดีจึงน่าที่จะพูดและเขียนได้ดีด้วย เพราะต้องนำมาประกอบกับการสื่อสารทางภาพ และการสื่อสารทางอารมณ์ผ่านผิวชั้นนอกของงานออกแบบซึ่งอยู่บนพื้นฐานของศิลปะ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการสื่อสารความรู้สึกทางด้านนามธรรมผ่าน สี รูปทรง และองค์ประกอบอื่นๆ

นักออกแบบทุกวันนี้ยังมีปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพูดและเขียน ซึ่งเป็นรากที่แท้จริงของปัญหาการออกแบบที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เรามักลืมไปว่างานออกแบบก็คือการสื่อสารชนิดหนึ่ง เหตุที่ทำให้เราลืมๆ กันก็เพราะ การเกิดขึ้นเป็นนิจของรูปประโยคที่ไม่ดีแต่สุดท้ายมันก็ยังพอที่จะสื่อสารได้ จึงทำให้เส้นกั้นระหว่างความเป็นปัญหาและความไม่เป็นปัญหาดูไม่ชัดเจนไปอย่างถนัดใจ ผนวกกับการที่เรามักใช้แนวคิดแบบรอมชอมเหมารวมเอาว่า “การออกแบบไม่มีถูกและไม่มีผิด” คำกล่าวอ้างความไม่ถูกแล้วก็ไม่ผิดนี้เอง ที่เป็นตัวลงโทษนักออกแบบอย่างเงียบๆ เสมอมา การเป็นเหมือนคำสาปให้ทำอะไรก็ได้เพราะความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่ง ซึ่งเราใช้ประโยคนี้จนเคยชินและเกิดการเพี้ยนทางความหมายและลักษณะการใช้

หากจะเปรียบเทียบข้อมูลเป็นเนื้อหา ข้อมูลก็คือแกนสำคัญ เป็นใจความที่จำเป็นต้องมีสิ่งที่มาบรรจุเพื่อการขนส่ง เปลือกนอกที่นำมาห่อ และจัดเตรียมเพื่อการขนส่งข้อมูล ก็คือการออกแบบนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นแค่ปกรายงาน การเรียงหน้ากระดาษของเลขานุการ หรือการจัดบอร์ดในของนักเรียนมัธยม ไปจนถึงนักออกแบบอาชีพในบริษัทออกแบบชั้นนำ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่บนหลักการเดียวกันนี้ หากจะต่างกันก็น่าจะเป็นที่ทักษะการนำเสนอ ซึ่งมีชั้นเชิงต่างกัน เพราะผู้ที่ผ่านการศึกษาการออกแบบย่อมได้เปรียบในเรื่องของการสร้างเปลือกที่สวยงาม

ขณะเดียวกันเราไม่ควรเข้าใจว่าหน้าที่ของนักออกแบบคือการสร้างเปลือก เพราะการที่จะสร้างสิ่งที่ใช้บรรจุอะไรสักอย่าง มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำความรู้จักกับสิ่งของที่จะนำมาบรรจุภายใน การทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะนำมาบรรจุนี้เอง เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินทางการออกแบบ เพราะมันเป็นการนำมาซึ่งข้อแม้และเหตุผลของการออกแบบเปลือกนอกที่จะนำพาข้อมูลไปสู่จุดหมาย ฉะนั้นนักออกแบบก็ควรที่จะมีความสามารถสูงในการจัดการกับข้อมูล แต่ในสภาพการเรียนการสอนออกแบบจริงๆ ในระดับอุดมศึกษา เรายังให้ความสำคัญกับส่วนนี้น้อยมาก

เมื่อการจัดการข้อมูลไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าการสูญหายทางข้อมูล แต่เราอย่าสับสนกับการละข้อมูลบางส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นออก เพราะอาจจะทำให้เยิ่นเย้อ หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสื่อสารด้วยเหตุผลทางการตลาด การสูญหายของข้อมูลกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นมาจากการที่นักออกแบบไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอในการย่อยหรือย่อข้อมูล ในบางกรณีอาจจะควบรวมกับนักการตลาดที่มีวิสัยทัศน์แคบ เราจึงมักพบปัญหานี้ได้บ่อยๆ กับการบรีฟงานจากลูกค้า หรือตัวแทนลูกค้าสู่นักออกแบบหรือตัวแทนนักออกแบบ บางครั้งยิ่งเกิดการพูดคุยบ่อยครั้งหรือผ่านหลายบุคคลก็จะทำให้เกิดการผิดเพี้ยนของข้อมูล การย่อยและย่นย่อในขั้นการออกแบบก็จะมีปัญหา ยิ่งเจอนักออกแบบที่มีทักษะจัดการกับข้อมูลต่ำ ก็จะนำมาสู่โศกนาฏกรรมการสื่อสาร

หากจะเปรียบเทียบการสูญหายของข้อมูลให้เป็นภาพชัดเจน ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกมบอกต่อ เมื่อบอกต่อๆ กัน เราต้องพึ่งพาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่อาจจะเป็นข้อมูลมือสอง สาม หรือสี่ ยังไม่นับความน่าเชื่อถือของผู้ส่งสารเอง เมื่อจบเกมจึงมักพบว่าการโอนถ่ายของข้อมูลจากต้นทางสู่ปลายทาง เกิดความไม่ชัดเจนในผู้เล่นเกมคนใดคนหนึ่ง นำไปสู่ข้อความหรือใจความที่ผิดผลาด เช่นเดียวกันกับชีวิตจริง การประชุมที่ดี ครั้งเดียวก็อาจจะเพียงพอกับการทำงาน และย่อมดีกว่าการประชุมหลายครั้งโดยเกินความจำเป็น

เมื่อข้อมูลมาถึงมือ นักออกแบบที่ดีควรมีคุณสมบัติในการชั่ง ตวง วัด เพื่อพิจารณาว่าสมเหตุผลหรือไม่ ฉะนั้นนักออกแบบจึงจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ความรู้รอบตัว การตลาด การประชาสัมพันธ์ และแน่นอน ทักษะทางการสื่อสาร(โดยอยู่บนพื้นฐานของสุนทรีย์) มิเช่นนั้นเราจะมองไม่เห็นความสมเหตุสมผล หรือการตกหล่นของข้อมูล หากนักออกแบบไม่สามารถพินิจวิเคราะห์ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการรับงานมาแล้วก็ทำตามโจทย์ เสมือนว่าไม่ได้ใช้สมอง งานใดที่ดูเหมือนไม่ได้ใช้สมองก็จะถูกสังคมมองว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่การออกแบบ (โดยเฉพาะการออกแบบสิ่งพิมพ์) ในบ้านเรา จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องหรืออาชีพที่ไม่สำคัญเท่าไรนัก ดูเหมือนว่าใครจะทำก็ได้

ธรรมชาติของการถ่ายทอดข้อมูลอธิบายได้ดังนี้ การป้อนข้อมูลด้วยการสื่อสารทางวาจาผ่านการรับฟัง การรับฟังถูกบันทึกเป็นการเขียน การเขียนต้องอาศัยทักษะทางด้านภาษาเพื่อให้ข้อมูลคงสภาพเดิมได้มากที่สุด ผู้รับข้อมูลผ่านทางการบันทึกด้วยภาษาก็ต้องมีทักษะทางการอ่านและการทำความเข้าใจ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน จะเห็นได้ว่าหากทักษะการใช้ภาษาทั้งในด้านของทักษะการเขียนหรืออ่าน ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคงอยู่ของข้อมูลเดิม

เมื่อพิจารณาขั้นตอนการเดินทางของข้อมูลดังที่กล่าวมา เราจะพบว่าจุดอ่อนของการถ่ายเทข้อมูลอยู่ที่ตัวมนุษย์นั่นเอง ความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ที่เกิดขึ้นจากทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ไม่เท่ากัน ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดั้งเดิมโดยเจตนา อย่างเช่น การเสนอข่าวที่ตั้งอยู่บนความคิดเห็นส่วนตัว มีความคิดแบบปัจเจกหรืออคติเข้ามาผสม (bias) ก็จะทำให้ข้อมูลที่น่าจะเป็นข้อเท็จจริงไม่สามารถข้ามผ่านมาได้ ผู้รับสารจึงต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลสูง และต้องมีการเปรียบเทียบแหล่งข้อมูล บวกกับข้อด้อยของภาษาที่ผู้รับสารต้องมีทักษะ ความเข้าใจและการตีความ จึงเป็นช่องว่างให้เกิดการเล่นข่าว (spin) นักออกแบบหรือนักโฆษณาที่ต้องเลือกพูดเฉพาะข้อดีของลูกค้าและผลิตภัณฑ์ โดยการละข้อด้อยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการทางการตลาด ก็นับว่าเป็นการเล่นกับข้อมูลเช่นเดียวกัน

มนุษย์เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากการทำสำเนาข้อมูลให้ได้บันทึกทางภาษาเหมือนกันทุกครั้ง เพื่อลดปัญหาและข้อบกพร่องของมนุษย์ในการสื่อสารให้มากที่สุด เครื่องถ่ายเอกสารหรือแม้แต่ยูเอสบีไดรฟ์ก็ถูกสร้างขึ้นบนคอนเซ็ปท์นี้ (ต่างกันก็เพียงพื้นฐานของสื่อที่อันหนึ่งเป็นแอนนาล็อคและอีกอันเป็นดิจิตอล) จะเห็นได้ว่านิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ก็ใช้พื้นฐานนี้เช่นกันในการนำเสนอข้อมูล แต่เนื่องด้วยขั้นตอนก่อนการทำเป็นสำเนาอาจจะเกิดความบกพร่องจากการเล่นข่าวหรือจากอคติได้อยู่เสมอ ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจทางการตลาด ภาระจึงตกอยู่กับผู้รับสารเอง ที่ต้องใช้ความสามารถและระดับสติปัญญาส่วนตัวอย่างมากในการรับข้อมูล

การเก็บข้อมูลแบบดิจิตอลดูจะได้เปรียบเพราะมีข้อดีของการทำซ้ำได้เหมือนต้นฉบับทุกครั้ง จึงเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในปัจจุบัน จนมีการกังวลกันว่าหากมนุษย์พึ่งพาการจัดเก็บข้อมูลและการบันทึกข้อมูลด้วยวิธีนี้มากยิ่งขึ้น แล้ววันใดเราเกิดสูญเสียความสามารถในการเรียกใช้ข้อมูลที่เป็นระบบดิจิตอล ข้อมูลก็อาจจะสูญหายได้อย่างง่ายดาย เราหาได้ฉุกคิดไม่ว่า ระบบการบันทึกแบบดิจิตอลนี้สามารถถูกดัดแปลงหรือแก้ไขได้ง่ายมาก และมันก็ไม่ได้คงทนถาวรเลย ที่จริงแล้วอายุของมีเดียอย่างซีดีรอมที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนั้นสั้นกว่าการสลักหินแบบโบราณเสียอีก

ในยุคของเทคโนโลยีการสื่อสาร (Information technology) ที่ก้าวหน้า การเคลื่อนย้ายข้อมูลหรือการสื่อสารเป็นไปได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วและมีอิสระมากขึ้น บุคคลทั่วไปสามารถตีพิมพ์หรือเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างอิสระ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของเวบล็อคที่ได้สร้างเนื้อหาให้กับอินเทอร์เน็ตอย่างมากมาย แม้กระทั่งนิตยสารไทม์ยังยกย่องให้ผู้อ่านทุกคน ที่เป็นผู้ร่วมสร้างเนื้อหาให้กับอินเทอร์เน็ตเป็นบุคคลแห่งปี แถมท้ายด้วยปัจจัยในเรื่องของจำนวนผู้ที่ใช้อีเมลล์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

จากความง่ายในการกระจายข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้ผู้รับสารในยุคปัจจุบันต้องใช้การกลั่นกรองข้อมูลมากเป็นพิเศษ เพราะกระบวนการของการตระเตรียมข้อมูลมีน้อยลง เวลาตรวจทานเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อการสื่อที่มีประสิทธิภาพ ถูกตัดทอนมาสู่การกดเพื่อตีพิมพ์ในหน้าเวบล็อคด้วยเวลาเพียงแค่อึดใจของคนคนเดียว สรุปได้ว่าผู้รับสารจึงต้องใช้เหตุและผลสูงขึ้นในการรับสาร แต่ดูเหมือนว่าทักษะการรับสารของมนุษย์เราไม่ได้พัฒนาไปตามพัฒนาการของการสื่อสาร วิจารณญาณในการเสพข้อมูลยังคงอยู่ในระดับเดิม จึงนำมาสู่ปัญหาความไม่เข้าใจในสังคมหลากหลายประการ

มนุษย์เป็นผู้สร้างข้อมูล ภาษา และตัวอักษรเพื่อเป็นตัวกลางในการการสื่อสาร จึงทำให้เกิดเป็นสังคม ซึ่งตั้งแต่มีมนุษย์สังคมก็ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต่างๆ เป็นวิธีที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี การค้า ศิลปะ ดนตรี การออกแบบ และอีกมากมาย หากมองเรื่องนี้อย่างเข้าใจ เราจะพบว่าความรู้เหล่านี้ก็เป็นอีกรูปแบบของภาษาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารและการถ่ายเทข้อมูล

อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนที่ของข้อมูลก็คือการสื่อสารนั่นเอง ผู้ที่ทำให้ข้อมูลเคลื่อนที่ก็คือมนุษย์ การเคลื่อนที่ของข้อมูลก็คือธรรมชาติของการเป็นสังคม และในเมื่อเราทราบแล้วว่าจุดอ่อนของการเคลื่อนที่ของข้อมูลคือที่ตัวมนุษย์เอง ไม่ว่าเราจะสร้างวิทยาการใหม่ สร้างเครื่องมือใหม่ที่ทำให้การถ่ายเทข้อมูลมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็คงไม่เกิดประโยชน์ หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวมนุษย์เองได้

ความสามารถในการรับสาร ที่เป็นตัวกำหนดว่าการสื่อสารด้วยความฉลาดระดับไหนจึงจะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาทางภาษาศาสตร์ หรือภาษาทางการออกแบบ ล้วนมีความจำเป็นต้องสอดคล้องกับผู้รับสาร

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า สังคมใดที่สมาชิกมีความสามารถในการรับและถ่ายเทข้อมูลต่ำ เป็นสังคมที่ต้องพัฒนาด้านการศึกษาทุกแขนง สังเกตุได้จากการออกแบบซึ่งเป็นตัวสะท้อนระดับของความสามารถในการรับข้อมูลอย่างหนึ่ง เป็นมาตรวัดที่ค่อนข้างเที่ยงตรงที่ทำให้เห็นภาพโดยรวม วัดได้จากทักษะและลักษณะการใช้ภาษาทางการออกแบบที่มีความจำเป็นต้องเหมาะสมกับสังคมนั้นๆ

หากคลุมเครือเอาใจนักออกแบบกันเอง ก็อาจจะอนุมานว่านักออกแบบไม่สามารถเพิ่มทักษะในการออกแบบสื่อสารสูงกว่าที่เป็น เพราะถูกกำหนดจากสภาพแวดล้อมของสังคมโดยรวม ในกรณีนี้คือการไม่เท่าเทียมกันทางการสื่อสาร เกิดความล้มเหลวในเชิงการออกแบบการสื่อสารนั่นเอง