บันทึกปลีกย่อยเกี่ยวกับ ทัศนะ และ อนุภาพ

➜ ผ่านไปรวดเร็วเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ผมเองยังจำได้ว่าเหมือนเริ่มจัดทำแคตาล็อก เพื่อโปรโมทฟอนต์ของพฤติกรรมการออกแบบไปเมื่อไม่นาน ทุกวันนี้เพื่อนนักออกแบบเวลาเจอหน้ากันยังคงถามถึงแคตาล็อกประจำปี ซึ่งอันที่จริงแล้วเราไม่ได้จัดพิมพ์อีกเลยตั้งแต่เล่มสาม ก็คือเมื่อประมาณปีสองพันถ้วน

จะว่าไปแล้วก็เป็นการประหยัดงบประมาณของออฟฟิตได้มาก อีกอย่างคือมันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วด้วยว่าสามารถเพิ่มความสนใจ แต่ไม่ได้ช่วยให้กำลังซื้อมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เวลาในการจัดทำและค่าจัดพิมพ์นั้นมันไม่เท่าไหร่ ค่าจัดส่งไปๆมาๆแล้วเกินวงเงินไปหลายช่วงตัว จะไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เราจัดส่งฟรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วงหลังจึงต้องพยายามจัดทำเวปไซท์ของเราให้รองรับหน้าที่นี้แทน

นับนิ้วแบบเด็กๆ ย้อนไปไม่นานเท่าไร ในขณะนั้นการออกแบบตัวอักษรและศาสตร์ว่าด้วยการจัดวางยังไม่ได้เป็นที่สนใจมากเหมือนทุกวันนี้ ทั้งๆที่มีการเรียนการสอนกันในรั้วมหาวิทยาลัยกันมาตั้งนานแล้ว ผมเฝ้าดูจากมุมที่ปัจจุบันผมยืนอยู่ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนี้มาโดยตลอด ทุกวันนี้นักศึกษาผลิตงานเออกแบบชิงทดลองมากขึ้น ประสานงานออกแบบกับความสนใจทางเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว บ้างก็พยายามออกแบบตัวอักษรเอามาใช้งานกันเอง กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เป็นพัฒนาการในทางที่ดีของวงการออกแบบของบ้านเรา

มีหลายคนมาบอกกับผมว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังสือบันทึกบรรยาย ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณบุคคลเหล่านั้นที่ยังคงติดตามงานเขียน และติชมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ส่วนตัวแล้วผมเองกลับมองว่าจะยกความชอบมาให้บันทึกบรรยายเสียทีเดียวคงไม่ถูกต้องนัก ผมมักเสริมเสมอว่าบันทึกบรรยายบังเอิญออกมาคล้องจองกับเวลาก็เท่านั้นเอง เจ้าห้วงเวลาที่ว่านั้นก็ยังเปิดอยู่ เพราะเราต้องการเหลือเกินที่เห็นความเคลื่อนไหวเชิงวิชาการ ความต้องการเอกสารประกอบการสอน หนังสืออ่านที่เป็นภาษาไทยสำหรับนักออกแบบ หรือแม้แต่การทำให้การออกแบบตัวอักษรและอักขรศิลป์ชัดเจนขึ้นในสังคม

ตั้งแต่เราเริ่มผลักดันโดยการให้ความรู้กับนักศึกษา และนักออกแบบอาชีพ ให้เข้าใจงานออกแบบอัขรศิลป์และธุรกิจเชื่อมโยงมากขึ้น ธุรกิจการออกแบบตัวอักษรก็เริ่มเป็นรูปร่าง ลูกค้าที่เริ่มเข้าใจนั้นถึงแม้จะมีจำนวนน้อยนิดเพียงหยิบมือ หรือการที่เราเองเริ่มชินกับการทำใบเสนอราคางานออกแบบชุดอักษรร่วมสิบรายต่อปี เพื่อเพียงให้ได้ลูกค้าที่ตกลงปลงใจสักหนึ่งราย อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจเหตุผลของราคา ว่าไปแล้วเหก็มือนกันกับกรณีของแคตตาล็อกนั่นประไร เพิ่มความสนใจแต่ไม่เพิ่มกำลังซื้อ คิดว่าถึงแม้วัฒนธรรมการครอบครองซึ่งฟอนต์ นั้นไม่สามารถเกิดได้อย่างเป็นระบบ แต่ก็ได้เริ่มกระบวนการไปบ้างแล้ว

บ่อยครั้งที่เพื่อนนักออกแบบหรือนักศึกษานำหนังสือนิตยสารต่างประเทศมาให้ผมดูเพื่อที่จะถามว่านี่มันใช้ฟอนต์อะไร จะหาได้ที่ไหน หลายต่อหลายครั้งที่จนใจ ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรเพราะไม่ทราบจริงๆ เหตุก็เพราะมันเป็นแบบตัวอักษรที่สั่งออกแบบพิเศษเพื่อหนังสือเล่มนั้นๆ นี่ก็คือข้อแตกต่างข้อต้นๆที่สังเกตุได้ ของการให้ความสำคัญในเรื่องอักขรศิลป์ของหนังสือนิตยสารไทยกับนิตยสารต่างประเทศ

จริงอยู่ที่เรื่องการออกแบบชุดตัวอักษรพิเศษให้กับนิตยสารดีเอนเอนั้นมีการพูดคุยกันมานานแล้ว เรื่องนี้มาเป็นรูปเป็นร่างแบบจริงจังก็ตอนที่ พฤติกรรมการออกแบบ เข้ามารับหน้าที่ปรับนิตยสารดีเอนเอ ที่เจ้าของต้องการให้เอื้อกับการตลาด หลายคนก็อาจจะคาดหวังกับแบบตัวอักษรที่พิเศษกว่านิตยสารไทยฉบับอื่นๆ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นนิตยสารเล่มแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

หลังจากเริ่มมีการพูดคุยกันในหลักการ ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับคริสเตียน ชวาสท์ ว่าสนใจจะขอนำเอา Amplitude ฟอนต์ตัวใหม่ในขณะนั้นของเขามาใช้ในการทำต้นแบบตัวหนังสือของดีเอนเอ ในใจก็คิดว่าจะทำภาษาไทยให้เข้ากับตัวอังกฤษ แต่ว่ากว่าการพูดคุยกับดีเอนเอจะลงเอย ก็มาโดนหนังสือ Wallpaper ที่อังกฤษ หยิบไปใช้เสียก่อนครั้นจะใช้ก็คงจะไม่ผิด แต่แฟนนิตยสาร Wallpaper ในไทยก็อาจจะสับสนว่าลอกเลียนหนังสือต่างประเทศ

หลังจากเบนความสนใจออกจาก Amplitude ก็มองมาหาแบบที่ง่ายๆ ในกลุ่มนี้มีตัวเลือกเยอะ แต่ที่สามารถเปล่งให้เห็นถึงความแตกต่างจากแบบตัวหนังสือไม่มีเชิงทั่วไปได้อย่างชัดเจนกลับมีน้อย

เรามองหา Sans ที่เรียบแต่ไม่อยู่ในระเบียบมากนัก เพื่อนำมาใช้เป็นตัวเรื่อง และตัวโปรย ครั้นจะใช้ Din หรือ Interstate นั้นก็ออกจะเรียบเกินไป แล้วก็เป็นฟอนต์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงที่ผ่านมา

โจทย์ของนิตยสารที่ชัดเจนเอาเสียมากๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอุดมคติ และการตลาด ทีมนักออกแบบเองนั้นจึงเหลือพื้นที่ไม่มากในการนำเสนองานที่อยู่บนข้อแม้ที่ซับซ้อนทางการตลาด การจัดสรรพื้นที่โฆษณา และโฆษณาแฝงในหลายรูปแบบ ซึ่งโครงสร้างการออกแบบเดิมของนิตยสารไม่ได้ถูกจัดสรรค์มาให้สอดคล้องกับกรอบดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการนำเสนอแนวทางการออกแบบตัวอักษรใหม่ จึงเป็นเรื่องทับซ้อนอยู่บนการตลาดที่มาก่อนการออกแบบ จำเป็นต้องคำนึงเพื่อสภาพคล่องทางธุรกิจ เราจึงต้องคำนึงถึงแบบตัวอักษรที่ไม่ท้าทายการอ่านมากจนเกินไป อีกนัยหนึ่งก็คือแปลกหรือแผลงมากเกินไปก็จะมีผลกระทบกับการตลาด ในขณะที่เราก็ไม่ต้องการให้เรียบเกินไปจนไม่เห็นถึงความพิเศษของแบบตัวอักษรใหม่

หลังจากทดลองตัวอย่างการจัดวางด้วยหลายต่อหลายฟอนต์ ตัวเลือกสำหรับ Sans Serif จึงมาลงเอยที่ Tarzana ออกแบบโดย Zuzanna Licko ฟอนต์ของ Emigré ที่ใครๆออกจะมองข้ามไป เป็นฟอนต์ที่เรียบแต่ไม่ราบ อีกทั้งยังไม่แพร่หลายนักหากเปรียบเทียบกับฟอนต์อื่นๆของ Emigré จากนั้นเราจึงเริ่มการออกแบบภาษาไทยในชื่อ “ทัศนะ” ให้สอดคล้อง สามารถพิมพ์ควบคู่กันไปได้กับต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ในด้านของตัวเนื้อความภาษาไทยหรือ text นั้น ส่วนตัวแล้วผมเองเป็นคนที่ชื่นชอบฟอนต์ ”ชวนพิมพ์”ของอาจารย์เชาว์ ศรสงคราม อยู่เดิมเป็นทุน ชวนพิมพ์เป็นการออกแบบที่มีรายละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็น ส่วนเว้า ส่วนบาก และเส้นเบี่ยง การออกแบบตัวอักษรในยุคก่อนแมคอินทอชนั้นใช้ทักษะมากกว่าปัจจุบัน เพราะต้องคำนึงถึงคุณภาพแท่นพิมพ์ หมึกพิมพ์ กระดาษ เพราะฉะนั้นทักษะการขึ้นรูปโดยเผื่อ ink trap จึงเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนมาก ตัวอักษรชุดชวนพิมพ์สามารถเรียกได้ว่าเป็นงานฝีมือระดับชาติ เป็นแบบตัวอักษรภาษาไทยที่สนองการอ่านได้ดีมากที่สุดตัวหนึ่งของเมืองไทย

จากคำบอกเล่าของอาจารย์เชาว์ ทำให้ทราบว่า ชวนพิมพ์เองก็เคยผ่านการไม่ได้รับการยอมรับในอดีต เพราะความคุ้นเคยในการอ่านของคนในยุคที่ทุกอย่างพิมพ์ด้วยแบบตัวพิมพ์ของไทยวัฒนาพานิช หากว่าเราเข้าใจประวัติศาสตร์แล้วเราจะเห็นว่า มันไม่ได้ต่างอะไรกับแบบตัวอักษรละตินภาษาอังกฤษในประวัติศาสตร์หลายตัวที่เป็นผลผลิตก่อนกาลเวลาอันควร ซึ่งกว่าเราจะมาชื่นชมและเข้าถึง มันก็ล่วงไปแล้วหลายสิบปี (ในบางกรณีเป็นหลักร้อยด้วยซ้ำ)

พวกเราที่พฤติกรรมการออกแบบนั้นเราเคยมีความคิดในหัวมานานแล้วที่ต้องการจะปรับปรุงปัดฝุ่นตัวชวนพิมพ์ให้ดูทันสมัยขึ้น โดยตั้งโจทย์ว่าอยากให้มีเรื่องของความเป็น Computeristic โดยการกรีดขึ้นรูปตัวอักษรที่ใช้โครงสร้างเรขาคณิตเป็นหลัก ให้ส่วนที่สมควรที่จะกลมมีความกลมจริงมากขึ้น ที่หลี่ยมมีความเป็นเหลี่ยมที่ชัดเจน นอกจากนั้นเรายังนำเอาลักษณะของ Industry Sans Serif เข้ามาเกื่ยวข้องซึ่งเป็นแบบการขึ้นรูปตัวอักษรที่เราถนัด โดยการออกแบบสัดส่วนแบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ที่สามารถใช้ส่วนต่างๆร่วมกันในกลุ่มตัวอักษรที่ใช้ส่วนประกอบใกล้เคียงกัน

เราเริ่มการออกแบบด้วยการคำนวนความสูง “บ” ของต้นแบบเสียใหม่ ซึ่งเรากำหนดให้น้อยกว่าชวนพิมพ์ เพื่อให้ตัวหนังสือป้อมขึ้น แต่ดูกว้างและโปร่ง ความต้องการที่กล่าวมาประกอบกันเป็นโจทย์ในการออกแบบฟอนต์ “อนุภาพ”ที่ใช้เป็นเนื้อความของดีเอนเอ กระนั้นเราเองก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าการ ออกแบบตัวอักษรโดยวิธีมาตรฐานสากลที่เรียกว่า Revival กับตัวอักษรระดับคลาสสิคอย่างชวนพิมพ์นั้นเป็นความท้าทายอย่างมากทีเดียว

เราพยายามออกแบบให้ อนุภาพ ในฐานะตัวเนื้อความ สามารถทำงานควบคู่กันไปได้กับ ทัศนะ ซึ่งทำงานเป็นตัวหัวเรื่องและตัวโปรย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นอานิสงของพื้นฐานที่ดีของชวนพิมพ์ ซึ่งสามารถพิมพ์คู่ขนานกับแบบอักษรอื่นๆได้อย่างสวยงาม หลังจากเราได้ทดลองใช้อนุภาพ และมีการปรับแก้ไขรายละเอียดตามสมควรมาระยะหนึ่ง

ความเชื่อของทีมงานที่ว่าจะมีจุดพอดีระหว่างความเป็นตัวไทยมีหัวกลมมาตรฐานแบบชวนพิมพ์ และความเป็นโครงเรขาคณิตของตัวอักษรสมัยใหม่ได้ถูกพิสูจน์แล้วในระดับหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการจัดวางและนำไปใช้บนการออกแบบร่วมสมัยก็น่าจะสามารถใช้ทักษะเดียวกันกับการจัดวางภาษาอังกฤษที่นักออกแบบมักเลือกใช้ได้