เรื่องของตู้บริการสื่อสารสาธารณะ

➜ ไม่ได้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมานานแล้ว ก็เป็นเพราะว่าความสะดวกสบายที่ได้รับจากมือถือ มาเริ่มคิดถึงโทรศัพท์สาธารณะก็ตอนที่ต้องการที่จะติดต่อธุระ แต่มือถือมาทำหมดลมใส่ในบ่ายวันหนึ่ง ก็เลยได้กลับมามองตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อนเก่า ที่เราทำลืมๆ ไปว่ามีอยู่ทุกหนแห่งอีกครั้ง พาลให้คิดอะไรได้อีกหลายอย่างเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารสาธารณะรุ่นดั้งเดิม

”มือถือ” กลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนทั่วไป หลายคนละทิ้งการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะไปพึ่งพาความคล่องตัวของมือถือ พอไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับโทรศัพท์สาธารณะ เลยทำให้มองข้ามเรื่องของโทรศัพท์สาธารณะที่เรียงรายทั่วไป แต่ถึงกระนั้นปริมาณของโทรศัพท์สาธารณะก็ยังมีอยู่มากทีเดียว

พอมาเริ่มสังเกตุอย่างจริงจัง จึงพบว่าตู้โทรศัพท์นั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างมาก มีทั้งตู้ที่ออกแบบโฉบเฉี่ยวขาวสะอาด ซึ่งไม่ทนความเขรอะของฝุ่นควันรถกรุงเทพ แบบโมเดิร์นใสโปร่งที่เอาไว้อวดใครต่อใครในเขตเมืองเก่า แบบอวกาศล้ำยุคด้วยการออกแบบโค้งมนและสีโทนฉูดฉาด ติดฟิล์มทึบแสงจนไม่แน่ใจว่าต้องการความเป็นส่วนตัวมากอะไรอย่างนั้นเชียวหรือ

ไหนจะรุ่นครึ่งตู้ก็มีให้เห็นสลับกันไปในบางพื้นที่ ล่าสุดมีนวัตกรรมใหม่ตู้โทรศัพท์ทรงสามเหลี่ยมที่จะว่าไปแล้วหน้าตาเข้าท่า ดูไม่เลวเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับประเภทที่โครงสร้างคล้ายๆ กันแต่ต่างตรงสีสัน หัวสีน้ำเงิน หัวสีเหลือง หัวสีส้ม หัวสีเขียว แต่ที่เริ่มหาชมได้ยากเห็นจะเป็นรุ่นหัวสีแดง มีประตูบ้างไม่มีประตูบ้าง หรือบ้างก็เคยมีประตู ไปจนถึงตู้โทรศัพท์รุ่นที่เป็นผลพวงจากงานมหกรรมกีฬาแห่งเอเชีย รุ่นหลังนี้จะเป็นที่ติดตาตรึงใจอย่างยิ่งถือว่าเป็นลิมิตเต็ท เอดิชั่น ผลงานชิ้นโบว์แดง เริ่มหาชมได้ยากเช่นกัน เป็นการอัพเกรดมาจากตู้โทรศัพท์สาธารณะปกติ ให้มีความเป็นไทยแบบสำเร็จรูป จนกลายมาเป็นตู้โทรศัพท์รุ่นศาลพระภูมิสีเขียวสะดุดตาตามบาทวิถี ใจก็เกรงว่าถ้าตู้ไหนโทรศัพท์เสียใช้งานไม่ได้ อาจกลายเป็นที่สิงสถิตย์ของสิ่งที่มองไม่เห็น

เบื่อจริงๆ เลยเวลานึกว่าจะทำให้เป็นไทยแล้วก็คิดกันแบบตามสบาย เอาสะดวกแค่ใช้ลายไทยมาปะลงไป หรือใส่ชฏาครอบหลังคาจั่ว แหมมันช่างสำเร็จรูปเสียจริง แบบนี้ต้องขนานนามว่าเป็นการออกแบบในลักษณะ “เอาอดีตมาครอบปัจจุบัน”

ระหว่างที่ผมทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตู้โทรศัพท์ ผมเหลือบไปเห็นตู้ไปรษณีย์ ญาติห่างๆ ลูกต่างมารดา ในขณะที่ตู้โทรศัพท์มีวิวัฒนาการแบบลิงโลด ตู้ไปรษณีย์กลับมีวิวัฒนาการน้อยมากในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา สงสัยต้องมีการอัพเดทตู้ไปรษณีย์ให้ทันสมัยโดยการเอาหลังคาทรงไทยไปครอบด้วยกระมัง

กลับมาเรื่องตู้โทรศัพท์ หากแยกจำแนกตามประเภทของตู้ก็มีมากมายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นตู้ใช้เหรียญ ตู้ใช้บัตรโทรศัพท์ ตู้โทรทางไกลต่างประเทศโดยใช้เครดิตคาร์ด แต่ละตู้ก็ต่างสัมปทานกันไป หน้าตาของแต่ละค่ายก็เลยออกแบบมากันตามอัธยาศัยมาลองคิดๆ ดู ตู้โทรศัพท์สาธารณะบ้านเรานี่นับได้ว่าเป็นการออกแบบร่วมสมัยตามหลักการ “ฟอร์ม ฟอลโล่ ฟังก์ชั่น” อย่างแท้จริง! กล่าวคือ เรื่องการใช้งานมาก่อน ส่วนเรื่องหน้าตาและสารรูปไว้ทีหลัง!จากความหลากหลายของสายพันธุ์ดังกล่าว ทำให้บางหัวมุมถนนกลายเป็นแหล่งชุมนุมสื่อสาร แข่งกันให้บริการสี่ตู้ห้าตู้ตั้งกันเข้าไป หน้าตาก็เป็นสี่ห้าแบบคละกัน หาความเป็นระเบียบไม่มี ที่ติดตั้งใหม่ก็ยังคงสดใส ที่ตั้งไว้นานก็ไม่เคยได้บำรุงรักษา สภาพของตู้จึงเป็นไปตามอายุขัยและความเป็นอยู่ท้องที่ของตู้นั้นๆ จนเฉียดใกล้การกลายเป็น “มลภาวะทางสายตา” ตามหัวมุมถนนและตรอกซอกซอย

พอจะเขียนถึงเรื่องนี้เข้าจริงๆ ผมจึงลองมาสังเกตุปริมาณของตู้โทรศัพท์สาธารณะ เออ มันก็มีเยอะจริงๆ เสียด้วย เรียกว่าถนนบางสายมีตู้โทรศัพท์อยู่ทุกหัวซอย ทำไมมันช่างเป็นสังคมแห่งความไม่พอดีเสียนี่กระไร อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมไม่แบ่งเอาไปให้หมู่บ้านห่างไกลที่เขาต้องการโทรศัพท์เสียบ้างก็ไม่รู้ ไอ้ที่มีเยอะขนาดนี้ก็ยังชวนให้นึกต่อไปว่ามีกี่เครื่องที่ใช้ได้จริง เพราะภาพพจน์ตลอดกาลของโทรศัพท์สารธารณะก็คือ “เสียประจำ” เรื่องวิธีการติดตั้งก็แปลกประหลาดไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพื้นที่ทางเดินเท้าหรอก เอาไปตั้งเบียดบังพื้นที่คนเดิน จนผมเองเคยสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเขามีหลักในการเลือกโลเกชั่นติดตั้งหรือเปล่า เพราะตามที่ได้สำรวจมาบนถนนหลายสายในกรุงเทพ แทบทุกซอยของทุกถนนมีตู้ฮัลโหลตั้งเป็นหมู่ๆ เหมื่อนว่าจะกลัวมันเหงา

หลายต่อหลายจุดที่ตู้เหล่านี้บทบังทัศนวิสัยในการเคลื่อนรถออกจากตรอกซอกซอย ทำไมเวลาที่จะติดตั้งไม่ได้คิดถึงเรื่องแบบนี้บ้างหนอ?

คนที่รู้จักสองสามคนเคยต้องไปโวยวายเรื่องความไม่เป็นส่วนตัวหน้าเคหะสถานของตัวเอง เพราะวันดีคืนดีก็มีตู้โทรศัพท์มาตั้งหน้าบ้าน ก็เข้าใจว่าเป็นพื้นที่สาธารณะแต่ก็น่าจะมีการพูดคุยกันก่อน ทั้งสองสามคนนั้นสำทับว่า ตู้โทรศัพท์กลับกลายเป็นแหล่งชุมนุมของจิ๊กโก๋ประจำซอยอะไรทำนองนั้น กรณีนี้คงคล้ายคลึงกับการห้ามจอดรถหน้าบ้าน ทั้งๆ ที่มันเป็นที่สาธารณะกระมัง

เรื่องทัศนะ ลักษณะการใช้งาน ที่ตั้ง และการออกแบบของตู้โทรศัพท์เป็นเพียงแค่เรื่องหนึ่งในหลายเรื่อง ที่สะท้อนถึงทักษะการออกแบบที่ “หลงทาง” ในการสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัยของบ้านเรา จริงๆ แล้วคอนเซ็ปต์แต่เดิมของตู้โทรศัพท์สาธารณะก็คือตู้บริการการสื่อสารแบบอัตโนมัติ โดยมีการกั้นให้เกิดสัดส่วนเพื่อความเป็นส่วนตัวเวลาพูดคุยธุระ และป้องกันเสียงบางส่วนจากภายนอกเพื่อให้การสนทนาเป็นไปได้ดีขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าคอนเซ็ปต์นี้มันได้ถูกเปลี่ยนหรือถูกลืมไปแล้วหรือเปล่า? จึงได้มีการออกแบบที่ตอบสนองเพียงรูปแบบออกมา