➜ เหตุเกิดมาจากคำถามหลังการสนทนาเชิงวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้ฟังการสนทนาท่านหนึ่งส่งผ่านคำถามมาขึ้นมาบนเวที คำถามแบบคำต่อคำนั้นไม่สามารถจำได้ แต่รวมๆ ได้ใจความถอดได้ในทำนองที่ว่า “อยากรู้ว่าการออกแบบนั้นสำคัญอะไรกันนักหนา ไม่มีการออกแบบก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องฟุ่มเฟือยกับการออกแบบ ทำไมนักออกแบบต้องพูดเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือความเป็นจริง” คุณประธาน ธีรธาดา ผู้ดำเนินราย การอ่านทวนคำถาม แล้วส่งชิ้นส่วนกระดาษมาให้ผม พร้อมทั้งสำทับว่าเจ้าของคำถามต้องการให้คุณเป็นคนตอบ
ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากคำถามที่ว่าถูกถาม และผู้ฟังกำลังประมวลสถานการณ์ มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสมองที่เริ่มบวมปนน่วมจากการสนทนาและคำถามก่อนหน้า
ประการแรกชวนให้คิดว่า นี่มันงานสนทนาเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อนักออกแบบ สงสัยว่าคำถามนี้มันเป็นปัญหาปัจเจกอคติหรือเปล่า? ทำไมคุณช่างถามเพื่อชีวิตได้ตกขอบอย่างนั้น หรือว่าคุณถามเอามันส์หรือถามเอาเก๋? ควรที่จะตอบดีหรือไม่? ถ้าคำถามถามด้วยอคติแล้ว ตอบไปอาจจะกลายเป็นต่อปากต่อคำเช่นนั้นคงจะเสียเวลาเปล่า? ไม่ตอบคงจะไม่ดีเพราะคงมีคนฟังที่ไม่ใช่นักออกแบบอยากรู้จริงๆ หรือแค่อยากฟังคำตอบว่าวิทยากรจะตอบหรือรับมือกับคำถามอย่างไร และหากว่านี่มันไม่ใช่เพียงคำถามกวนอารมณ์ แต่มันเป็นความใส่ใจจริงที่อยากถามปัญหาเพื่อปัญญา ก็สมควรที่จะตอบ ตกลงผมว่าจะตอบ แต่ถ้าตอบจะตอบอย่างไรให้สั้น ง่าย และได้ใจความที่สุด?
ผมเริ่มต้นคำตอบโดยกล่าวว่า ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนักออกแบบถึงไม่ค่อยชอบเวทีงานสัมมนาหรือการขึ้นเวทีต่อหน้าชุมชน เพราะมันไม่ใช่แค่ภูมิความรู้เรื่องสายงานประจำวัน หากแต่ต้องอาศัยความอดทนและไหวพริบอย่างปัจจุบันทันด่วน การที่จะสื่อสารอะไรบางอย่างที่ทุกคนไม่ได้อยู่บนหน้ากระดาษเดียวกันนั้น ต้องใช้ยุทธศิลป์หลายหลาก นี่ยังไม่นับว่าจะต้องมีขันติต่ออัตตาส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ฟังเป็นนักออกแบบด้วยกันเอง เพราะอัตตาอาจนำไปสู่วิกฤติได้
จากนั้นสมองผมเริ่มเข้าสู่การตอบคำถาม โดยแบ่งเป็นคำถามใหญ่ๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้
1. การออกแบบสำคัญต่อการดำรงชีพอย่างไร
2. เราต้องการงานออกแบบจริงๆ
หรือ และ
3.งานออกแบบทำไมจึงมีราคาแพง
ผมประมวลเป็นคำตอบว่าการออกแบบไม่ได้สำคัญอะไรเลย… แบบการตัดเสื้อผ้าที่คุณใส่มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบายกว่าเก้าอี้ตัวโน้น มันเป็นปรากฏการณ์ลึกลับที่อาจจะเชื่อมโยงกับไสยศาสตร์ บ้านหลังนี้อยู่สบายและประหยัดพลังงาน ล้วนเป็นเรื่องบังเอิญทั้งสิ้น อย่ามาโกหกกันเลย โถ…ถ้าคุณมีระบบการคิดตกขอบสุดขั้วเช่นนั้น มันคงต้องใช้เวลานานทีเดียวในการอธิบาย คุณไม่เพียงอยู่บนหน้ากระดาษเดียวกันกับคนอื่น หากแต่คุณอยู่คนละ “คตินิยม” เอาเป็นว่าลองยกเอาข้าวของทั่วไปมาเป็นกรณีศึกษา ถ้วย ไห จาน ชาม และลูกปัดบ้านเชียงเป็นตัวอย่าง มันเป็นหลักฐานที่จับต้องได้และบอกเรื่องราวถึงความรอบรู้ในการดำรงชีวิต สิ่งของเหล่านั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น หรือเพื่อตกแต่งร่างกายให้สวยงามเกิดคุณค่าทางจิตใจ
จะเห็นได้ว่ากี่ร้อยกี่พันปีผ่านมาคอนเซ็ปต์ดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา คอนเซ็ปต์และเหตุและผลของจานชามและลูกปัดก็ยังเหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังถูกพัฒนามาเป็นเครื่องครัวสมัยใหม่รวมไปถึงการออกแบบอัญมณี
ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำรงชีพ ลองเอาเรื่องใกล้ตัวที่สุด เสื้อผ้ากับการออกแบบเครื่องแต่งกาย การแต่งกายเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน ที่ใช้เพียงแค่ปกปิดร่างกาย เมื่อวัฒนธรรมของมนุษย์เจริญขึ้น การแต่งกายก็เริ่มมีเรื่องของวาระโอกาสและกาละเทศะเข้ามาเกี่ยวข้อง คิดเล่นๆ สนุกๆ ถ้ามนุษย์เรากลับไปอาศัยอยู่ในถ้ำ เราก็ยังต้องใช้ขวานหินเป็นอุปกรณ์สำคัญ นำขนสัตว์มานุ่งห่ม มันก็หนีไม่พ้นการออกแบบที่สอดคล้องกับการดำรงชีพอยู่ดี
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการออกแบบเป็นพฤติกรรม และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สร้างวัฒนธรรม อารยธรรม แล้วมันสำคัญต่อการดำรงชีพไหมนี่?
ผมคิดว่าผู้ถามจริงๆ แล้วต้องการที่จะถามว่า เราต้องการการออกแบบในชีวิตประจำวันขนาดไหน แน่นอนที่แต่ละบุคคลมีความต้องการไม่เท่ากัน การออกแบบแต่ละขนานก็ตอบสนองระดับความต้องการต่างระดับกันไป จึงน่าจะเป็นการฉลาดกว่าที่จะรู้จักเลือกซื้องานออกแบบให้ตรงกับความต้องการและงบประมาณของตน
มองไปรอบๆ ตัวเราจะเห็นได้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยเหตุผลและถูกรองรับด้วยการออกแบบ หน้าตาของการออกแบบนั้นๆ ก็สอดคล้องกับตัวเลขงบประมาณ ซึ่งมันเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นสัจธรรม จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากขายของแพงจนไม่มีคนซื้อ โดยทั่วไปแล้วการออกแบบนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาของการดำรงชีวิตแล้ว ในเชิงพาณิชย์ ธุรกิจ และอุตสาหกรรม การออกแบบก็ยังถูกใช้เป็นกระบวนการเพิ่มค่าให้สินค้าเช่นกัน เหตุผลเรื่องมูลค่า ราคา และตัวเลข บังเอิญต้องไปเกี่ยวพันกับการตลาด มันไม่ใช่เหตุผลของการออกแบบล้วนๆ
ผมขอยืมหลักการตลาดเบื้องต้นมาอธิบาย หากสินค้าสามารถขายได้มาก มีคนเสพงานออกแบบมากขึ้น มันก็ส่งผลให้เกิดการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น ราคาต่อหน่วยก็ย่อมถูกลงเป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตาม แพงหรือถูก มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะเอามาอ้างในการไปละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ออกแบบ เรามักพบเห็นลักษณะของการเจตนาดีแต่ประสงค์ร้ายได้บ่อยๆ เอาของเขามาฉีดพลาสติกทำแบบใหม่ขายสามอันสิบบาท ก็คุณออกจะหวังดีที่จะทำให้คนทั่วไปเสพงานออกแบบในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นการทำลายไม่ใช่สร้างสรรค์ มองในแง่การตลาดแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยให้ราคางานออกแบบของแท้ถูกลงจริงๆ
อีกแนวคิดหนึ่งคือแนวคิดของการผลิตในจำนวนจำกัด เพื่อตั้งใจให้เกิดการจำกัดจำนวน ราคาต่อหน่วยบางครั้งก็อาจถูกบวกเพิ่มไปเป็นค่ารับประกันความโหล บางกรณีอย่างเช่นอุตสาหกรรมแฟชั่นมันก็ต้องมีค่าแบรนด์เนม พอมีแบรนด์เนมเกี่ยวข้องมันก็ต้องมีค่าการตลาดตามมาอีก เจ้าค่าระดับของแต่ละยี่ห้อนี่เองที่เติบโตมาบนแนวคิดคล้ายๆ กันกับวรรณะ มันเป็นการแบ่งกลุ่มการตลาดในภาษาของการค้าสมัยใหม่
ทั้งหมดมันก็อยู่ที่ว่า ผู้ออกแบบวางจุดยืนของตนและผลงานที่ตรงไหน นี่ยังไม่นับรวมตัวแปรอื่นๆ เช่น จรรยาบรรณส่วนตัวของนักออกแบบที่ตั้งใจจะโปรดมวลชน โปรดการตลาด โปรดโลภ โปรดตัวเอง หรือตั้งใจที่จะโปรดศิลปะ ไหนจะค่าวิชาชีพและเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างสรรค์ อย่าได้ตกใจไปเลย ที่กล่าวมามันก็เป็นสูตรวิธีคิดเดียวกันทั้งนั้นไม่ว่าสินค้า บริการ หรืออาชีพไหนๆ ในโลก
เนื้อความทั้งหมดที่ผมพล่ามไปข้างต้น เป็นคำตอบสดต่อคำถามสดในวันนั้น อาจนำมากระชับได้ว่า “การออกแบบก็มีทั้งที่ดีและไม่ดีอยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นธรรมดาเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่มีทั้งคนคุณภาพมากและน้อยแตกต่างกันไป อยากให้มองการออกแบบในแง่ของความเป็นบันทึกทางวัฒนธรรม มากกว่าการเป็นสิ่งสิ้นเปลือง
งานออกแบบที่อยู่รอบๆ ตัวเราในทุกรูปแบบ มันเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงระดับความคิด ชีวิต ความเป็นอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ มันสามารถบอกถึงรูปแบบความต้องการของมนุษย์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมารองรับ เนื้อหาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เราเรียน ก็มาจากสิ่งของและวัตถุที่หลงเหลือให้เห็น ถ้าคิดว่ามันไม่สำคัญ ก็ไม่ต้องไปขุดมันขึ้นมาให้เสียเวลาเปล่า หรือควรพอใจกับการมีชีวิตกันไปแบบวันนี้และพรุ่งนี้ก็พอแล้ว
ผมยกคำตอบสั้นสดต่อคำถามสด ในงานสนทนาเชิงวิชาการวันนั้นขึ้นมา ไม่ได้จะคิดทำให้ใครขุ่นเคืองแต่ประการใด โปรดอย่าสรุปคิดเจตนาด้วยจินตนา เพราะจะว่าไปแล้วมันเป็นคำถามที่น่าตอบมากคำถามหนึ่ง เพื่อบุคคลทั่วไปจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการออกแบบและชีวิตประจำวัน
การที่จะตอบคำถามใหญ่ๆ ให้ได้ใจความในเวลาที่จำกัดนั้นเป็นเรื่องยากลำบากทีเดียว หากว่าคำตอบในวันนั้นทิ้งท้ายให้ท่านผู้ถามระคายเคือง ก็อยากให้เข้าใจเถอะว่ามันเป็นเจตนาดีล้วนๆ ไม่มีเจือปน และอนุภาพของคำถามของคุณในวันนั้นมันก็ได้ขยายผลแล้วในหน้ากระดาษนี้