วิกฤติรูปพรรณ

➜ ดูเหมือนว่าการปลุกกระแสชาตินิยม รักษ์ความเป็นไทยจะมาแรงในยุคนี้ อาจจะเป็นเพราะระบบโลกปัจจุบันนั้นแคบลงทุกขณะ หลายฝ่ายจึงเกิดการวิตกกังวล หากเราไม่ป้องกันอธิปไตยทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายไว้ให้เหนียวแน่น ก็เกรงกันว่าจะสิ้นชาติในทางพฤตินัย อันที่จริงแล้วกระแสนี้มันก็ไม่ใช่ของใหม่อะไร ในช่างเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา บ้านเราก็เห่อทำเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เป็นพักๆ พอรู้สึกเป็นห่วงที่ก็เห่อขยายความกันออกมา จนเริ่มเห็นได้ว่ามันเลยกลายเป็นลักษณะที่ว่า คนปลุกกระแสก็ทำไปเพราะเป็นหน้าที่ คนส่วนหนึ่งก็เฮรับกระแสกัน

เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แต่ไหนแต่ไรบ้านเรานั้นก็รับเอาอิทธิพลศิลปะ และวัฒนธรรมต่างชาติมาผสมอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย หรือประเทศตะวันตก ตามตำราที่สอนกันในโรงเรียนก็จะกล่าวในเชิงที่ว่า ในวันวานเมื่อเรารับมาก็เพื่อนำมาปรับปรุงประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรามีอยู่ (แต่บางที่ก็อดคิดไม่ได้ว่า คนสมัยก่อนก็เห่อของนอกเหมือนๆคนยุคนี้นี่นั่นเอง) ปัจจุบันนี้การรับอิทธิพลต่างชาติก็ยังคงมีอยู่

เหตุนั้นเกิดมาจากที่ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตนเองที่เป็นที่ยอมรับของโลก เราจึงไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่จะให้ต่างชาติเจริญรอยตามในทางวัตถุ ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่ส่งออกนวัตกรรม (innovation/ invention)

ในขณะเดียวกัน เราอยากจะส่งออกวัฒนธรรม (ในที่นี้อาจหมายรวมถึงการท่องเที่ยว)แต่เราก็ไม่มีขีดความสามารถที่ได้มาตรฐานเพื่อบรรจุและนำเสนอ หลายครั้งที่เราพลาดโอกาสที่เราไม่รู้ว่ามี เพราะความด้อยของการสร้างภาพพจน์ทางวัฒนธรรม

ประเทศเราเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีที่ดีเสมอมา ตั้งแต่หลังจาก ประเทศทางตะวันตกมีการปฎิวัติอุตสาหกรรม เราเป็นผู้ที่ชอบใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เราเคยตัวกันเกินไปหรือเปล่า กับการเลือกซื้อเทคโนโลยี จนไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตนเอง เพื่อให้คนอื่นต้องวิ่งตามเราบ้าง ทุกวันนี้เราจึงต้องถูกบีบให้เจริญตามเส้นทางของประเทศเจ้าของเทคโนโลยี จะกลับตัวตอนนี้ โยนทุกอย่างทิ้งแล้วเริ่มกันเองมันก็ทำไม่ได้เสียแล้ว

อิทธิพลต่างชาติจากสื่อต่างๆ ไม่ได้น้อยไปกว่าเดิมเลย มิหนำซ้ำจะมีแต่มากขึ้นทุกวันเพราะระบบการค้าเสรีที่เราเป็นสมาชิก หากแต่พฤติกรรมการประยุกต์ใช้ของคนไทย เพื่อให้รับกับสังคมไทยมันดูจะหดหาย กลายเป็นการรับมาปฏิบัติกันตรงๆ ยังไม่นับกรณีที่รับมาด้วยความเข้าใจผิด เช่นการเรียนรู้ความเป็นอเมริกันจากภาพยนตร์ จุดนี้จึงทำให้นักเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์ความเป็นไทยออกมาแสดงความเป็นห่วงอยู่เนืองๆ

ในขณะเดียวกันมันก็มีมุมมองอีกด้านที่ตรงกันข้าม อย่าลืมเสียว่าการถ่ายเททางวัฒนธรรมในโลกเราไม่ใช่สิ่งใหม่ อะไรเลย มันเป็นสื่งที่มีมานานแล้วคู่มากับการเกิดขึ้นของมนุษย์และการเกิดของสังคม อย่าลืมว่าการถ่ายเททางวัฒนธรรมนี่เอง ที่ทำให้โลกเราเจริญมาจนเป็นโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ วัฒนธรรมที่ไม่แข็งแรงก็จะค่อยๆ หดหายไป ตัวอย่างก็มีให้เห็นในประวัติศาสตร์ หนทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ก็คือพัฒนาวัฒนธรรมของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

เมื่อใดที่ยุคการปฏิวัติการสื่อสาร และการค้าเสรี ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นระบบที่ทำงานอย่างเต็มที่ วัฒนธรรมที่คงเหลืออยู่ก็จะอยู่บนพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะโลกมันกำลังถูกบีบให้เปลี่ยนไปเป็นสังคมโลกเดียว (one world culture)

ที่นี้ก็วกกลับมาที่จุดมุ่งหมายของบทความนี้ ในเรื่องของกราฟฟิกดีไซน์ หรือที่เราพยายามผลักดันคำว่า “เลขนศิลป์” ขึ้นมาใช้ ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้พัฒนากราฟฟิกดีไซน์ของโลก จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ประวัติศาสตร์กราฟฟิกดีไซน์ จึงไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเอาเสียเลย ยิ่งไปกว่านั้น หากจะมองว่ากราฟฟิกดีไซน์เป็นศาสตร์ที่เติบโตมาบนพื้นฐานของการพัฒนาสิ่งพิมพ์ ตามที่ปรากฏอ้างอิงในหนังสือประวัติศาสตร์กราฟฟิกดีไซน์ History of Graphic Design โดย Philip Meggs ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการเรียนการสอนกราฟฟิกดีไซน์ทั่วโลก ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ คำตอบที่ได้ก็คือ เมืองไทยไม่มีการพัฒนาสิ่งพิมพ์ในเชิงอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยีของตนเอง หากจะว่าไปตามจริงแล้ว เครื่องพิมพ์แท่นแรกของเมืองไทยนั้นเป็นเครื่องพิมพ์นำเข้า ปัจจุบันเราก็ยังต้องนำเข้าเครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์ต่างๆอยู่

ในเมื่อกราฟฟิกดีไซน์ไม่ได้เกิดและโตที่บ้านเรา แล้วเราจะทำให้มันเป็นเอกลักษณ์ของเราได้ด้วยวิธีไหน อย่างไร? ในชณะเดียวกันที่เราบัญญัติคำว่า “เลขนศิลป์” หรือบางคนอาจจะใช้คำว่า“เรขศิลป์” มาให้ดูดีมีความเป็นไทย เพราะไม่อยากใช้ทับศัพย์ แต่เลขนศิลป์หรือเรขศิลป์ ของบ้านเราทำไมไม่มีความเป็นไทยสมกับชื่อภาษาไทยที่ตั้งให้กับคำว่า “กราฟฟิกดีไชน์”?

งานออกแบบกราฟฟิกดีไซน์นั้นเป็นภาษาสากล มันเพียงแต่ต้องการสำเนียงของการปรับปรุงเพื่อให้ได้รสชาติที่ไม่เหมือนกัน หากเราถูกถามว่างานกราฟฟิกดีไซน์ ของอเมริกากับอังกฤษ แตกต่างกันอย่างไร? หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่รู้จะอธิบายโดยย่อได้อย่างไรเหมือนกัน แต่สามารถแยกออกได้อย่างไม่ยากนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นกระบวนการการอ่านภาษาทางการออกแบบที่เกิดขึ้นในสมอง เหมือนกับเป็นการอ่านรหัสบางอย่าง และเราสามารถแยกสำเนียง (หรืออาจใช้คำว่า “สไตล์”) ทั้งสองออกจากกันได้ กล่าวคือเราแยกงานเหล่านี้ออกได้ว่า สไตล์ของอเมริกา หรือนี่มันงานแบบอังกฤษ เราไม่ได้แยกออกว่านี่มันงานอเมริกันตรงที่งานของอเมริกานั้นใช้ดาว และเฉดริ้วสีแดงขาวของธงชาติ หรือการใช้อิทธิพลจากศิลปะอินเดียนแดงพื้นเมือง หากแต่เราอ่านที่สำเนียงภาษา จากเนื้อของงานออกแบบ วิธีการแก้ปัญหา วิธีเข้ากระทำกับโจทย์ หรือแม้แต่ลักษณะของโจทย์การออกแบบเองก็ตาม บางคนอธิบายอย่างเคยชินด้วยซ้ำว่า ภาพรวมของงานอังกฤษนั้นเรียบและดูเป็นทางการกว่างานอเมริกัน

จะเห็นได้ว่าข้อแตกต่างระหว่างอังกฤษกับอเมริกานั้นไม่ใช้ที่ภาษา(ตัวหนังสือ) หากแต่เป็นภาษาทางการออกแบบ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ หลายครั้งที่เราเห็นงานออกแบบของญี่ปุ่นบางชิ้น ใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆในการออกแบบ แต่กลับมีสำเนียงความรู้สึกที่เป็นญี่ปุนสถิตอยู่ จากที่กล่าวมาจึงน่าจะสรุปได้ว่า ภาษา (ตัวหนังสือ) ที่ปรากฏในงานออกแบบไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก ในการจำแนกที่มาของงานออกแบบชิ้นนั้นๆ ความรู้สึกที่เป็นญี่ปุ่นนั้นมันอยู่ที่ท่วงทีของงานที่ออกมา หรือการใช้สีและการใช้พื้นที่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับทีแปรงที่ทำให้งานมีความเป็นญี่ปุ่น

ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า การสร้างความเป็นไทยในงานออกแบบกราฟฟิกดีไซน์นั้น การใช้แต่ตัวหนังสือภาษาไทย ลายกนกหรือลายไทย จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับการทำงานออกแบบให้เป็นไทย

ความเด่นชัดของงานออกแบบเลขนศิลป์ในประเทศที่เอ่ยมาเป็นตัวอย่าง สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะความคงที่ในแนวทางการออกแบบ และความคงที่ในความเป็นตัวของตัวเองที่นักออกแบบในภูมิภาคนั้นๆ สะสมกันมา มีพัฒนาการคงที่อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นบรรทัดฐานของท้องถิ่น ผลที่ตามมาก็คือนักออกแบบในรุ่นหลังได้ผ่านตา และเคยคุ้นชิน กับงานออกแบบที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวของวัฒนธรรมนั้นๆ และสำเนียงทางการออกแบบที่ชัดเจนจนเป็นเอกลักษณ์

หากเป็นเช่นนี้ บรรทัดฐานทางการออกแบบของแต่ละประเทศ จึงน่าจะเป็นเครื่องวัด ถึงบทบาทของวัฒนธรรมการออกแบบ และ อุตสาหกรรมการออกแบบที่มีต่อสังคมในประเทศนั้นๆ

หลายๆ คนมักกล่าวว่า เราควรที่จะไปศึกษาตัวอย่างจากญี่ปุ่น หรือจีน ในการค้นหาความเป็นไทยในการออกแบบเลขนศิลป์สมัยใหม่

พิจารณาญี่ปุ่นเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะความเป็นเอกลักษ์ และ อัตลักษณ์ ของภาษาทางการออกแบบของญี่ปุ่น ในงานออกแบบสมัยใหม่นั้น สามารถสัมผัสได้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงถูกยกมาเป็นสมมุติฐานและข้อศึกษาเปรียบเทียบ สำหรับการผสมความเป็นไทยลงไปในกราฟฟิกดีไซน์อยู่บ่อยครั้ง เราตั้งสมมุติฐานแบบไม่พิจารณาปัจจัยรอบด้าน พิจารณาเพียงว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติเอเซียด้วยกัน จึงน่าจะเป็นการณีศึกษาที่ใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยให้เราทำความเข้าใจกับวิธีการที่ญี่ปุนใช้ ในการพัฒนาภาษาทางการออกแบบ และนำมาปรับใช้กับการพัฒนาแนวทางของบ้านเรา ส่วนตัวแล้ว ความคิดนี้เป็นความคิดที่น่าจะผิดประเด็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุใด?

หากกลับไปอ่านตอนต้นของบทความนี้ และทำความเข้าใจ เราจะเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการพัฒนาการพิมพ์ของตนเอง เขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นสถานภาพและเหตุจำเป็นที่ทำให้เกิดการพัฒนาภาษาทางการออกแบบ ของ ญี่ปุ่น กับ ไทย จึงต่างกันโดยสิ้นเชิงในชั้นโครงสร้าง และลักษณะทั่วไปของการเกิดขึ้นการออกแบบสิ่งพิมพ์ เราจึงมิสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาแบบอย่างเพื่อเจริญรอยตาม ในการค้นหารูปลักษ์ของความเป็นไทย (สำเนียงการออกแบบของไทย) ลงในงานออกแบบสมัยใหม่

อาจจะเป็นด้วยการตั้งสมมุติฐานที่ผิดนี้เอง งานออกแบบเลขนศิลป์ในประเทศแถบภูมิภาคเราจึงตกอยู่ในวังวนเดียวกันคือ พยายามที่จะยัด ‘วัฒนธรรมทางประเพณีปฎิบัติ’ และ ‘ศิลปพื้นบ้าน’ เข้าไปในการออกแบบ เพื่อที่จะบอกว่านี่คือเอกลักษ์ และ อัตลักษณ์ ของตน เพราะประเทศตนไม่มีภาษาทางการออกแบบเลขนศิลป์เป็นของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีปะลายกนก ยกชฎาในการออกแบบสิ่งพิมพ์ หรือหลังคาตู้โทรศัพท์ เอเชี่ยนเกมส์ นั้นคงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่มีพัฒนาการด้านวัฒนธรรมการออกแบบ

หากคิดกลับไปให้มากกว่าที่กล่าวมา จะพบว่า ญี่ปุ่นถูกยกเป็นต้นตำหรับงานออกแบบในสไตล์ อาร์ตนูโว (Art Nouveau) ที่สามารถส่งอิทธิพลให้นักออกแบบตะวันตกยอมรับและทำตามความนิยม หากจะโยงเส้นให้ครบโดยคิดให้มากไปกว่านี้ ก็จะเห็นความจริงที่ว่า อาร์ตนูโว ขยาย อิธิพลไปทางตะวันตกจากงานพิมพ์ของญี่ปุนนั้นเอง ฉะนั้นการที่เราเอากรณีของญี่ปุ่นมาศึกษา จึงเป็นการศึกษาจากผลลัพย์ที่ออกมาเป็นงานออกแบบเท่านั้น เราลืมกันไปว่าบ้านเราไม่ได้มีรากลึกในประวัติศาสตร์การพิมพ์ สำหรับกรณีของประเทศจีนนั้นยิ่งแล้วใหญ่ เทคโนโลยีการพิมพ์ยุคก่อนปฎิวัติการพิมพ์สมัยใหม่ของ กูเทนเบิร์ก (Gutenberg) นั้นเกิดขึ้นในประเทศจีน

ในเมื่อเราไม่ได้เป็นเจ้าของความรู้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ครั้นจะอาศัยการย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์การกราฟิกดีไซน์ในบ้านเราที่เริ่มจากการพิมพ์ยุกแรกๆ ก็กระท่อนกระแท่น ความต่อเนื่องก็ไม่ค่อยจะมี คิดจะโยนทุกอย่างทิ้งแล้วเริ่มต้นกันใหม่ก็เป็นไปไม่ได้ ดังที่ได้เคยกล่าวไปบ้างแล้วในบทความเมื่อปี ๒๕๔๓ เรื่อง การออกแบบคือการค้นหา “เราตามตะวันกลับมาไกลมาแล้วจะปรับเปลี่ยนอะไรในยุคนี้มันก็เลยลำบาก อย่างดีก็คงต้องปรับตัวบนโครงสร้างสากลให้ดีที่สุด”

แล้วเราจะมีสิทธิ์ไหมในการมีสไตล์การออกแบบที่เป็นตัวของตนเอง? เท่าที่ฟังมามีแต่ปัญหาแล้วจะทำอย่างไรเพื่อที่จะได้มาซึ่งกราฟฟิกดีไซน์ที่เป็นแบบไทย วิธีแก้ไขที่จะขอนำเสนอนั้น อาจจะพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า “พูดง่าย เพราะพูดเป็นอยู่เรื่องเดียว” จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่จะพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องเดียว มันเกี่ยวพันกันไปหมดเป็นโครงสร้าง

คำตอบก็คือ ไม่มีมีอะไรที่จะช่วยได้นอกจากการดึงศักยภาพความเป็นตัวของตัวเองของนักศึกษา ด้วยการทบทวนวิธีการสอน และคุณภาพการสอน ….ก็คงต้องกลับไปที่เรื่องปัญหาเดิมๆ

การศึกษาการออกแบบในระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้อาศัยว่าคนภายนอกเขาไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การนำตรงนี่มาเป็นเกราะกำบังตัวแล้วก็ไปนั้งมุบมิบสอนกันเพราะสังคมไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นช่องว่างขึ้นมาในลักษณะที่งานออกแบบไม่เข้าใจสังคม และสังคมก็ไม่เช้าใจงานออกแบบ งานออกแบบที่ดีมันจึงเป็นได้เพียงแค่ cult ไม่ได้ขึ้นมาเป็น culture เพราะมันไม่มีโอกาสเข้าถึงคนหมู่มากเนื่องจากช่องว่างดังกล่าว ขณะเดียวกันช่องว่างที่ว่าก็ยื่งทำให้นักออกแบบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหารูปพรรณสันฐาน (ภาษาทางการออกแบบ) ในงานออกแบบของตน ทั้งหมดนี้จึงเป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมเราจึงไม่เคยได้ถูกอบรมในสถานบันการศึกษา ว่าการออกแบบมีผลต่อหน้าตาสังคมและการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้แล้วเราผิดพลาดอย่างรุนแรง ที่ไม่ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมไทย (ไม่ใช่การอ้างถึง ลักษณะไทย เช่น ลวดลายประดิษฐ์) และความเข้าใจ ในความสัมพันธ์ของสังคมไทย กับการออกแบบสมัยใหม่ ต้องย้ำว่าตรงนี้ไม่ได้หมายถึง การสนับสนุนวิชาศิลปะไทยที่พยายามใส่ลงไปเพื่อให้หลักสูตรรู้สึกดูดีมีความเป็น”ชาตินิยม”

ในทางปฎิบัติ ที่ผ่านๆมา เท่าที่เห็น จะมีก็มีแต่ชื่อวิชาวิชาศิลปะไทยหนึ่งหรือสองตัว แถมยังไม่ได้เป็นการสอนในลักษณะ “ประสิทธิ์ประสาท” การสอนโดยประยุกต์เนื้อหาศิลปะไทย ในวิชาอื่นๆก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติ ให้สามารถหยิบเอาความรู้มาใช้เป็นฐานในการสร้างแนวคิดและภาษาทางการออกแบบ ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าให้เพิ่มหรือลดวิชาศิลปะไทย เพียงแค่ต้องการที่จะชึ้ให้เห็นว่าถ้าใส่เอาไว้แล้ว ทำไมจึงไม่สามารถ บรรลุถึงการ”ประสิทธิ์ประสาท” ให้เกิดความสัมพันธ์กับการออกแบบในระดับสากลได้

คำตอบคือศิลปะไทยที่ให้นิเทศศิลป์เรียนนั้น ‘ดิบ’ เกินไป เป็นการสอนศิลปะในบทบาทช่างมากเสียกว่าการสอนให้เข้าใจแนวคิด ผู้สอนไม่ได้ทำการบ้านว่าจะสามารถย่อยและซึมซับผ่านตัวนักศึกษาออกมาเป็นภาษาการออกแบบสากลได้อย่างไร ผลที่ได้ออกมาก็จึงเป็นงานออกแบบแบบไทยที่เอาลายไทยมาปู้ยี่ปู้ยำ เราไม่เคยได้โยงเส้นนี้ให้นักศึกษาเห็น

ประกอบกับอาจารย์ที่ไม่สามารถช่วยนักศึกษาหาความเป็นตัวเองให้เจอ นักศึกษาเราจึงไม่มีโอกาสที่จะค้นหาตัวตนของตัวเอง เพราะเขามองหาตัวเองจากหนังสือออกแบบต่างประเทศแล้วเดินตาม มากว่าการที่จะหาทางสำผัส และสื่อสารกับสำเนียงการออกแบบจากตนเอง หรือการกลั่นวัฒนธรรมรอบตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้สอนไม่ได้ช่วยเขาค้นหา นักศึกษาจึงต้องช่วยตัวเองตามที่ทำได้ เข้าต้องดิ้นรนเพื่อให้การบ้านการออกแบบ (ที่ได้มาจากอาจารย์ที่ไม่สอนให้เขาสำผัสและสือสารกับตัวเอง) ของเขาเสร็จตามกำหนดเวลา

พอไม่มีส่วนที่กล่าวมา ขั้นตอนสำคัญต่อไป ที่จะเป็นคำตอบของปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่สามารถเกิดขึ้น การเกิดของสำเนียงการออกแบบส่วนตัว ที่สามารถเติบโต,แข็งแรง,โดดเด่น จนสร้างความแตกต่างจากโทนสำเนียงของงานชาติอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ใช้สิ่งประกอบ (element) เดียวกันจากความเป็นภาษาสากลของกราฟฟิกดีไซน์ จนสามารถก้าวข้ามไปส่งอิทธิพลต่อนักออกแบบอื่นๆ (เลขนศิลป์ และรวมถึงงานออกแบบสาขาอื่น) กลายเป็น สำเนียงของกลุ่มคน เติบโตไปเป็นสำเนียงของเมือง ขยับไปเป็นสำเนียงของสังคมการออกแบบโดยรวมของชาติ จนในที่สุดบรรทัดฐานนี้เองที่ก่อให้เกิดความคาดหวังจากสังคมต่องานออกแบบ

มันอาจจะกลายไปเป็นงานหลากสไตล์ ของหลายนักออกแบบ แต่มันจะอยู่บนสำเนียงรวมๆที่แน่นอน วิธีนี้ต่างหากที่จะได้มาซึ่งภาษาทางการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และนั่นแหละคือคำตอบของคำถามที่เรามักถามหาคำตอบกันบ่อยๆ อาจฟังดูน่าเบื่อหน่าย เพราะมองแล้วหนทางอีกยาวไกล กับการที่จะต้องแก้ปัญหาก็เดิมๆ ในสภาวะสังคมยุคใหม่ที่การเปลี่ยนแปลง และการถ่ายเททางวัฒนธรรมนั้นรุนแรงขึ้นทุกขณะ คงจะกล่าวได้เพียงแค่ว่า อย่าหมดหวังกันเสียก่อน อย่างน้อยมันก็พอมีป้ายบอกทางให้ไปถึงจุดหมายได้ มันอยู่ที่ว่าเราจะไปหรือเปล่าแค่นั้นเอง Make it right then the rest of the world will embrace and recognize your work.