แบรนด์ไทย นักออแบบไทย และรัฐบาลไทย

➜ในสภาวะเศรฐกิจเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเศรฐกิจของประเทศไทยนั้น รัฐบาลทำถูกอยู่หนึ่งเรื่องคือ การส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติ โดยหวังที่จะสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลก และเพื่อการทำการตลาดในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมที่เราขายสินค้าราคาถูกเพียงอย่างเดียว

ทุกวันนี้อย่างที่ทราบกันดีว่าเราไม่สามารถผลิตสินค้าราคาให้ถูกได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นความคิดนี้จึงไม่เลวทีเดียว นับว่าเป็นการมองสถานการณ์ที่ถูกต้อง แต่ก็อีกจนได้ ผู้ริเริ่มโครงการนี้คงไม่ได้มีความเข้าใจว่า การที่จะสร้างภาพพจน์ที่สามารถส่งเสริมการขายในระดับสากลนั้น มันจะไม่สามารถเป็นไปได้จากงานออกแบบเลขนศิลป์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

การสร้างแบรนด์ของสินค้านั้นเป็นเรื่องของการออกแบบเลขนศิลป์โดยตรง อย่างเช่นการที่เรายังคงยึดติดอยู่กับเสื้อผ้าแบรนด์ต่างชาติ ก็เพราะเขามีขบวนการการสร้างภาพพจน์ที่จริงจัง ตั้งแต่สัญลักษ์ของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงบุคลิกที่สอดคล้องกับจุดขาย ทุกอย่างผ่านการออกแบบและทุ่มเทกับการวางคอนเซ็ป หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีการสร้างการมอมเมาที่เป็นระบบ เจาะลึกลงไปถึงรายละเอียด แม้แต่ถุงก็ถูกออกแบบมาให้บรรจุความภูมิใจของผู้ซื้อที่ไม่แต่เพียงเป็นถุงใส่ของราคาแพงหิ้วกลับบ้าน

สำหรับบ้านเรา ต้องยอมรับว่าเรายังอ่อนประสบการณ์ทางด้านการสร้างความภูมิใจในยี่ห้อสินค้า แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เราขาดแคลนบุคลากร นักออกแบบเลขนศิลป์ที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับกับการเติบโตและการช่วยแก้ไขเศรฐกิจตามนโยบายภาครัฐ

เมื่อเป็นเช่นนี้การสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติ จึงเป็นอีกเพียงความฝันลมๆแล้งๆ ที่ผู้บริหารประเทศท่านคิดกันเอาเองว่าโครงการนี้ดีและเราพร้อมที่จะออกรบ (ซึ่งโครงการนี้ก็ดีจริงๆ แต่ท่านรู้ไหม เราไม่พร้อมที่จะทำ)

กล่าวคือผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในระดับบริหารไม่ได้มีความเข้าใจ และไม่มีสายตาที่ดีพอที่จะเห็นว่าเรามีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ปัญหาการผลิตนักออกแบบในระดับอุดมศึกษาตลอดจนการควบคุมคุณภาพของการสอนให้ที่มีศักยภาพสอดคล้องกับงานดังกล่าว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว และเป็นต้นเหตุให้เกิดสถานการณ์หยุดนิ่งของเลขนศิลป์ในบ้านเราอยู่เป็นระยะๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้การเริ่มโครงการส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของสินค้าไทย เพียงแค่ขั้นที่หนึ่งก็ตกม้าตายเสียแล้ว ยังไม่ต้องกล่าวรวมปัญหาที่ร้ายไปกว่านี้ที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อเป็นการปรับพื้นฐานของสังคมก็คือ ปัญหาคนไทยขาดรสนิยมในการเลือกบริโภคผลผลิตจากงานออกแบบ ซึ่งก็เกิดจากนักออกแบบหย่อนความสามารถที่ระดับอุดมศึกษาผลิตออกมาทำงานออกแบบในสังคม

อยากจะขอยกเอาตัวอย่างง่ายๆใกล้ๆตัวเราที่สามารถตรวจสอบสิ่งที่กล่าวมาได้เป็นอย่างดีก็คือ การมองหาคุณภาพการออกแบบเลขนศิลป์โดยรวมของบ้านเราบนแผงหนังสือ จะเห็นได้ว่าเพียงแค่นี้ก็คงจะได้คำตอบในใจที่คล้ายๆกัน แล้วจะหวังอะไรกับการสร้างภาพพจน์ให้สินค้าไทยดูดีและน่าเสียเงินซื้อ หรือสามารถเทียบเคียงกับรัศมีของยี่ห้อดังๆจากต่างประเทศได้ ในเมื่อค่าเฉลื่ยมาตรฐานของงานออกแบบสิ่งพิมพ์พื้นฐาน ยังไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น การตรวจวัดจากแผงหนังสือ อาจจะเรียกได้่เป็นมาตรวัดสถานการณ์เลขนศิลป์ ที่เราสามารถตรวจสอบและให้ผลเที่ยงตรงได้เสมอ

ในอีกด้านหนึ่งก็คงจะเป็นในประเด็นของนายทุน ตราบใดที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตไม่สามารถทำความเข้าใจว่าภาพพจน์ที่ดีเป็นอย่างไร และการที่จะได้ภาพพจน์ (brand loyalty) มานั้นมันต้องลงทุนด้วยการออกแบบ (ซึ่งเลขนศิลป์ที่ดีจากนักออกแบบที่มีความสามารถจริงๆก็อาจมีราคาเหมาะสมที่สูง) และต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความจริงจัง เข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ใช่งานออกแบบโบรชัวร์แผ่นพับที่ช่างฝีมือในคราบนักออกแบบ เพราะฉะนั้นต้องนับการออกแบบเลขนศิลป์เป็นงบที่ใหญ่พอสมควร (และต้องหานักออกแบบที่เป็นนักออกแบบจริงๆมาใช้งบ) หากอยากจะขายของแพงแต่ไม่มีส่วนประกอบทางความรู้สึกให้ผู้ซื้อกลับไปเป็นความมภูมิใจด้วยนั้น สิ่งที่เรียกว่าความเชื่อมั่นในแบรนด์มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้

จากที่กล่ามา ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อต้องตอบคำถาม ในลักษณะที่ให้ออกความคิดเห็นว่าทำไมวงการออกแบบเลขนศิลป์ของเมืองไทยมันไม่ไปถึงไหนเสียที? เหตุใดทำไมมันรู้สึกเงียบๆไป? ทำไมเราพัฒนาเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้สักอย่าง? ต้นเหตุที่ทำให้มันเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ ประเด็นที่นักออกแบบเราๆควรเพ่งพินิจก็คือ เราไม่มีความสามารถที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ และเมื่อมันไม่มีอะไรเป็นศูนย์กลาง ก็เท่ากับเราไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาการออกแบบกับสังคมได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะได้รับความสนใจ จากบุคลากรที่บริหารประเทศจึงไม่เกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ เราไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไรในการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งทำให้คนที่นัั่งข้างบนซึ่งเป็นผู้ออกนโยบาย ไม่ได้มีความเข้าใจถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดว่ามันเป็นการข้ามขั้นตอนที่สำคัญ เมื่อไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจน รูปแบบของนักออกแบบเลขนศิลป์ในเมืองไทยจึงกลายเป็นอาชีพบุคคลที่รักสันโดษ ไม่มีกลุ่มก้อนสมาคมเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีกิจกรรมความสัมพันธ์อะไรต่อสังคม ที่นอกเหนือจากการสื่อสารผ่านงานที่ทำ(งานทั้งประเภทที่ดี และไม่ดี) เพื่อแลกกับเงิน ไม่คิดที่จะต่อสู้อะไรเพื่อให้อาชีพนี้มีบทบาทในการก้าวไปของสังคม จึงไม่มีใครลุกขึ้นมาบอกเจ้าของนโยบาย ว่าก่อนจะผลักดันแบรนด์ไทยไปแข่งขันตลาดบนในระดับสากล คุณมีความจำเป็นต้องผลักคุณภาพของเลขนศิลป์ให้เป็นสากลเสียก่อน

หากลองนึกให้ครบรอบทิศทางแล้ว ในวงการออกแบบเลขนศิลป์ของเมืองไทย น้อยคราที่เราจะได้สัมผัสกับคำว่า คืนกำไรให้สังคม นักออกแบบอาชีพมีความห่วงใยในสังคมมากน้อยเพียงใด? นักออกแบบเองอาจจะต้องหันมาตั้งคำถามนี้กับอาชีพที่ตนเองประกอบอยู่

ปัญหาคุณภาพนักออกแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่สอนการออกแบบเลขนศิลป์ไม่เคยได้รับการเหลียวแล หรือรับการช่วยเหลือในในด้านการพัฒนาบุคลากร เหตุก็อาจจะเป็นเพราะ รัฐบาลไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาของอุตสาหกรรมนี้ คงไม่มีความจำเป็นที่เราจะตั้งคำถาม เคยมีบ้างไหมในการที่จะหันมายกเครื่องการเรียนการสอนศิลปะและการออกแบบ สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายพรรคการเมืองไหนช่วยบอกที?

หากเป็นไปได้ สิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นที่สุดก็คงน่าจะเป็นลักษณะของ ทุนวิจัยทางด้านการออกแบบเลขนศิลป์ เพื่อการพัฒนาทางความคิด วิธีคิด และรูปแบบ เพื่อช่วยยกระดับภาพสะท้อนของสังคมโดยรวม เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการออกแบบให้บุคคลทั่วไปในสังคม

เมื่อเราพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า ไม่เคยแม้แต่ที่จะมีเงินอุดหนุน หรือการช่วยเหลืออย่างจริงจัง และจริงใจ จากบริษัทออกแบบเลขนศิลป์เพื่อพัฒนาการศึกษา บริษัทส่วนใหญ่รับเอาแต่นักออกแบบรุ่นใหม่เข้าไปใช้งาน ทำเงินมากมายจากอดีตนักศึกษาเหล่านั้น แต่กลับไม่เคยคิดที่จะพัฒนาแหล่งที่ฝึกบุคลากร แถมวันดีคืนดียังนั่งโทษสถาบันการศึกษาว่าสร้างเด็กที่ไม่สามารถใช้งานได้ทันที เป็นภาระให้ต้องฝึกสอนกันใหม่ แล้วเราจะไปโทษใคร? ก็คนในสังคมเขาไม่รู้่ว่าเรามีปัญหา จะโวยวายกันไปก็คงจะเท่านั้นเพราะเราเป็นพวกนักออกแบบไร้สมาคม ก็เลยต้องฝากสมาคมของชาวบ้านเขาแจกรางวัลประจำปี คิดแล้วมันอดอิจฉานักออกแบบแขนงอื่นๆ อย่าง โฆษณา สถาปัตยกรรม ภาพยนตร์ หรือ ออกแบบภายใน ที่ผู้บริหารประเทศเขายังพอรับรู้บ้างว่ายังมีอาชีพ และตระหนักว่าอาชีพเหล่านั้นมีส่วนในการพัฒนาสังคม