สายเสียแล้วสำหรับการปฎิรูปการศึกษาการออกแบบ

➜ก่อนที่เราจะนำระบบการเรียนการสอนการออกแบบมาใช้อย่างในปัจุบัน ในอดีตนักออกแบบทำงานด้วยความรู้สึกของตนเองเป็นหลัก มีหลักการที่อ้างอิงจากตัวของตัวเอง มีความคิดที่ค่อนข้างเป็นปัจเจกบุคคล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จากประสบการณ์ที่สะสม เมื่ออิสรภาพทางความคิดนั้นมีอยู่มาก การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองจึงสามารถเป็นไปได้

แต่ปัจจุบันการที่นักออกแบบสักคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองกลับกลายเป็นเรื่องยาก เพราะในการเรียนการสอนการออกแบบสมัยใหม่ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เท่าที่ควร มันเป็นเพียงทางเลือกที่ผู้สอนจะบรรจุไว้ในรูปแบบการสอนเท่านั้น

ในที่สุด การที่มีความเป็นตัวของตัวเองกลับกลายเรื่องแปลก กลายเป็นข้อพิเศษที่จำเป็นต้องมองหา และต้องใช้ความสามารถอย่างสูงของผู้สอนที่จะนำความเป็นตัวของตัวเองออกมาจากตัวนักศึกษา มันกลายเป็นปัญหายุ่งยากข้อใหม่ ซึ่งการเรียนการสอนการออกแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั่นเองเป็นตัวสร้างความยุ่งยากนี้ขึ้น

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการสอนให้เป็น มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวนักออกแบบแต่ละคนอยู่แล้ว ผู้สอนและแนวทางการสอนที่ดี ควรเป็นลักษณะของการส่งเสริมนักศึกษา ให้เขาเหล่านั้นหาสิ่งที่เป็นตัวของเขาให้เจอ ให้เขาตอบโจทย์ด้วยวิธีของเขา ให้เกิดการทดลองเพื่อให้เห็นความหลากหลายและความเป็นไปได้ ค้นหาความพอใจของตนเอง ไม่ใช่สอนให้เขาทำงานแบบที่เหมือนๆ เดิม ตามแบบกันไป ส่วนวิธีคิดก็เน้นเพียงเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในฐานะนักออกแบบคนหนึ่ง ผลที่ทุกวันนี้ที่เราได้รับก็คือนักออกแบบที่เป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ทำการออกแบบสไตล์ไหนก็ได้ เราได้ลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่าการเรียนการออกแบบนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อการดำรงชีพ มันเป็นการนำไปสู่การค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ทางความคิด มันมากกว่าการทำงานเพื่อแลกมาเป็นเงิน

ต้นเหตุของปัญหาที่กล่าวมานี้มาจากอะไรถ้าไม่ใช่การให้ศึกษาแบบเก่า ที่ไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาศาสตร์นี้อย่างแท้จริง แล้วเมื่อไหร่ศาสตร์การออกแบบในบ้านเรามันจะเจริญได้ทันกับนานาประเทศ ตราบใดที่การเรียนการสอนการออกแบบบ้านเรายังคงเป็นไปอย่างปัจจุบันที่มีเพียงชื่อวิชา โจทย์สั่งงาน อาจารย์ตรวจให้คะแนน และตัวนักศึกษา เราจึงมีนักออกแบบจำนวนมากที่สูญเสียสิ่งที่ควรจะได้รับจากโรงเรียนไปในโรงเรียนนั่นเอง ซ้ำร้ายนักออกแบบส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีอุปนิสัยในการให้การศึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งนักออกแแบบจำนวนมากก็ภูมิใจกับความรู้อันน้อยนิดที่ได้มาจากโรงเรียน แล้วก็คิดเอาเองว่ามันมากพอ เหล่านี้เป็นข้อสำคัญที่ทำให้นักออกแบบในเมืองไทยเองไม่สามารถผลักดันอาชีพนี้ในบ้านเราให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตรงนี้เองคือจุดที่การศึกษาการออกแบบในลักษณะใหม่ควรเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาศาสตร์การออกแบบไม่ให้เป็นเพียงการเข้าอบรมโปรแกรมฝึกวิชาชีพอีกต่อไป

เราต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนการออกแบบในบ้านเรานั้นกำลังประสบความล้มเหลวทางด้านการพัฒนาบุคลากรในระยะยาว ในขณะที่บ้านเรามีนักออกแบบมากมายจนล้นตลาด กลับมีนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความคิด ความอ่านที่แตกต่าง หรือมีสัญชาตญาณความเป็นนักวิชาการทางการออกแบบอยู่จำนวนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

ด้วยเหตุนี้การออกแบบในเมืองไทยจึงไม่ค่อยไปถึงไหน เพราะเราเรียนการออกแบบเกือบทั้งหมดเป็นลักษณะของการเรียนเพื่อจบไปทำงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเข้าข่ายการไม่มีทัศนวิสัยในระยะยาว โดยไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเรียนออกแบบเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

มุมมองแบบนี้นักศึกษาเป็นคนคิดเอาเองหรือโรงเรียนเป็นคนปลูกฝัง? คำตอบนั้นเชื่อว่าทุกคนมีอยู่ในใจอยู่แล้ว ภาพพจน์ของโรงเรียนสอนการออกแบบในทุกวันนี้ได้สะท้อนอะไรบางอย่างถึงสิ่งที่โรงเรียนกำลังปลูกฝังให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยมีจุดหลักก็คือ การออกแบบคืองาน การเรียนการออกแบบคือการผลิตคนเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและความต้องการของสังคม

ศาสตร์การออกแบบจะไม่สามารถเติบโตจนได้รับการยอมรับในวงกว้างได้เลย ถ้านักออกแบบเองไม่พยายามที่จะพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทางความคิดหรือรูปแบบ คิดสร้างสิ่งใหม่ให้สังคมเห็นความสำคัญ เพื่อให้สังคมได้มีตระหนักถึงผลกระทบของการละซึ่งการออกแบบ เราจะไม่มีวันเห็นศาสตร์การออกแบบได้รับการยกย่องในสังคมวงกว้างอย่างจิตรกรรม หากเราไม่สามารถสร้างนักออกแบบที่มีจิตสำนึกที่แตกต่างจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นนักออกแบบจำเป็นที่ต้องทำตัวเองให้ฉลาดขึ้นและเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญของตน

ควรจะให้ระบบการให้การศึกษานักออกแบบเปลี่ยนไปในทิศทางใด? การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นนั้นไม่ใช่การปรับเปลี่ยนอย่างที่ทำกันอยู่ประจำ เช่นการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรวิชาที่สอน หรือให้ความสนใจว่าจะให้วิชาไหนควรจะมีกี่หน่วยกิจ หากแต่วิธีและทิศทางการสอนต่างหากที่ควรได้รับการปรับปรุง เราต้องแยกให้ออกว่าวิธีการสอนนั้นมันไม่ใช่หลักสูตร วิธีการสอนมันเป็นเนื้อหาสาระ การอบรม เป็นการปลูกฝังที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เป็นความรู้สึกที่นักศึกษาสัมผัสได้โดยตรงจากในห้องเรียนและเก็บมาเป็นประสบการณ์ของชีวิตซึ่งมีผลต่อมุมมองและความคิดอ่าน

ถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่าพูดปาวปาวว่าปรับปรุง แล้วจะให้ปรับปรุงอะไร? อย่างไร? ตรงนี้ก็ต้องกลับไปถามว่าคนที่สอนการออกแบบเข้าใจและเห็นสภาพการที่หยุดนิ่งของการเรียนการสอนการออกแบบหรือไม่? ตัวผู้สอนเองมีศักยภาพมากพอที่จะดึงความสามารถของนักศึกษาออกมาได้เท่าไหร่? จะต้องใช้วิธีไหนเพื่อให้สามารถนำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวนักศึกษาออกมาให้ได้มากที่สุด? เพื่อให้นักศึกษารู้จักการค้นหาตัวเอง ตอบตัวเองด้วยภาษาตัวเองก่อนที่จะใช้ภาษานั้นมาสร้างลักษณะเฉพาะตัว ให้นักศึกษารู้สึกดีและมีความเชื่อมั่น(ในทางที่ถูกต้อง)ในงานที่ตนเองผลิต และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสัญชาตญาณของการเป็นนักคิดนักพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพื่อเพิ่มจำนวนนักออกแบบที่เป็นนักวิชาการ นักออกแบบที่เป็นนักการศึกษา นักออกแบบที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในสังคมโดยกว้าง (ไม่ใช่เฉพาะในวงการออกแบบ)

นอกจากนี้ควรมีการแจกแจงชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการออกแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะในเชิงธุรกิจ ควรจะแจงให้เห็นปัญหาของ วิชาการ การศึกษา ตลอดจนคุณค่าของการออกแบบในเชิงของศิลปะชั้นสูง สอนให้นักออกแบบรุ่นใหม่มีไฟที่จะแก้ไขสิ่งที่สมควรได้รับการแก้ไข เพื่อพวกเขาจะได้ร่วมกันแก้ไขในอนาคต ไม่ใช่สอนให้ให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เพียงอย่างเดียว หรือก้มหน้ายอมรับสภาพของโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่

ทั้งหมดนี้คือแนวความคิดในภาพรวมของการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่น่าจะช่วยให้วงการการออกแบบกระเตื่องขึ้นในอนาคต(ถ้าเริ่มทำในวันนี้) ส่วนการนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับนักศึกษาแต่ละคนก็ต้องอาศัยทักษะและวิธีการสอนที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าตรงนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับภูมิความรู้และชั้นเชิงของผู้สอนนั่นเอง

เราควรที่จะทำอย่างไรเพื่อให้บุคคลากรที่สอนการออกแบบในระดับต่างๆ สามารถที่จะทำให้แนวทางการสอนแบบนี้เกิดขึ้นได้? แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้บุคลากรระดับอาจารย์สอนการออกแบบตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้และเกิดความคิดที่จะเปลี่ยน (หรืออาจารย์ผู้สอนต้องพยายามเปลี่ยนตัวเองก่อน?) การเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม จะเป็นผลได้ก็ต้องเกิดการตอบรับและร่วมมือในการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คงต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และภูมิปัญญาของผู้บริหารของแต่ละสถาบันนั้นเอง

อย่างไรก็ดี วิธีการให้การศึกษาการออกแบบที่ต้องมีปัจจัยของผู้สอนและโรงเรียน ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ต่อไป เพราะเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงวิธีนี้ได้ตราบใดที่โลกเรายังหาระบบการพัฒนาบุคคลที่ดีกว่านี้มาทดแทนไม่ได้ แต่จุดสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงก็คือจุดยืน และปรัชญาการสอน เราสามารถที่จะเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการสอนได้ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ หลังจากที่เราผลิตนักออกแบบเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวมาร่วมกว่า 50 ปี และเราก็ยังใช้วิธีการเดิมๆนี้เรื่อยมา การผลิตทรัพยากรมนุษย์ในเชิงอุตสาหกรรมควรได้รับการทบทวนใหม่หรือยัง?

ทุกวันนี้เรามองหานักออกแบบใหม่ๆที่จะมีศักยภาพเต็มที่เพื่อก้าวสู่ยุคต่อไปแทบจะไม่เจอ การปฏิวัติอุตสาหกรรมมันผ่านไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ตื่นขึ้นมาหาวิธีกันเถอะว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างนักออกแบบที่สามารถดึงเอาความสามารถของตนเองออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่การสร้างนักออกแบบให้รู้เป็นอย่างๆ ให้ภูมิใจกับความรู้อันน้อยนิดจากโรงเรียน ให้คิดอะไรเหมือนๆกัน ให้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ในระดับช่างหรือศิลปาชีพ มันสายไปแล้วสำหรับการสร้างนักออกแบบที่มีศักยภาพสอดคล้องกับยุคสมัย จะรอให้สายไปมากกว่านี้อีกหรือ?