จาก หนังสื่อบันทึกบรรยาย
ในชื่อเดิม: การออกแบบตัวอักษร กับความสามารถในการอ่าน
ของคนในยุคที่การออกแบบต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์
➜ ทุกวันนี้เราคงเคยเจอปัญหาในการอ่านข้อมูล จากสื่่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิมพ์ นิตยสาร โฆษณา หรือสื่อลักษณะใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หลายๆคนคงเคยอย่างน้อยสักครั้งที่บ่นว่า ทำไมตัวหนังสือนี้มันอ่านยาก ทำไมใช้แบบตัวอักษรนี้ ทำไมใช้ตัวขนาดเล็กขนาดนี้ ขนาดมันเล็กเกินไป เป็นต้น จึงเกิดปัญหาวกกลับมาถามว่า แล้วสิ่งที่อ่านได้ง่ายในความคิดของคุณ มันสมควรที่จะเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงน่าจะจัดได้ว่านี่คือความเหมาะสมกับการอ่าน? นักออกแบบเองก็มักจะบอกว่า สิ่งที่ทำก็คิดว่าอ่านง่ายดี แต่ทำไมคนอื่นจึงบอกว่าอ่านยาก? จุดนี้จึงกลายเป็นข้อสงสัย ตกลงแล้วจะต้องทำอย่างไรให้มันอ่านได้ง่าย? ต้องประมาณแค่ไหนที่ยังอ่านได้? มันเป็นความบกพร่องของใคร? นักออกแบบ หรือ ตัวหนังสือ หรือ ตัวคนอ่าน? จะเห็นได้ว่าแท้จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องลักษณะของต่างคนต่างความคิด แต่อย่างไรก็ตามนักออกแบบเองก็ควรทำความเข้าใจกับข้อพิจารณาพื้นฐานบางประการของการอ่าน การพิจารณาเกี่ยวกับสมรรถนะในการอ่านนั้นมีข้อที่จำเป็นเบื้องต้นที่เราควรทำความเข้าใจอยู่ดังนี้
ก่อนอื่นควรที่จะต้องทำความเข้าใจอันดับแรกก่อนว่า แบบตัวอักษรที่ดีนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นแบบตัวอักษรที่อ่านง่ายเสมอไป เหตุผลก็คือตัวอักษรแต่ละแบบนั้นได้ถูกออกแบบมาเพื่อสนองลักษณะงานที่ต่างกัน บางตัวก็ถูกออกแบบมาเพื่อสนองการอ่านโดยตรง แต่บางตัวก็ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวสำหรับการตกแต่ง เพราะฉะนั้นความคิดในลักษณะที่ว่า แบบตัวอักษรอันนี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้ดีกว่าอันนั้น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการนำแบบตัวอักษรแต่ละแบบแต่ไปใช้นั้นเป็นการเลือกของนักออกแบบ หากงานออกแบบออกมาไม่ดี ความผิดก็ไม่น่าที่จะตกเป็นของแบบตัวอักษร ฉะนั้นประเด็นที่ชอบอ้างกันว่า งานออกแบบไม่ดีเป็นเพราะตัวอักษรไม่ดี ประเด็นนี้จึงน่าจะตกไป ที่ถูกควรจะเรียกว่างานออกแบบไม่ดี เป็นความผิดของผู้เลือกแบบตัวอักษรมาใช้จึงจะถูกต้อง แบบตัวอักษรเลือกตัวเองได้เสียที่ไหน? ทุกแบบตัวอักษรนั้นมีลักษณะที่รองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้่าที่ของนักออกแบบที่ควรให้ความใส่ใจกับการเเลือกใช้ ขอยกคำกล่าวของ Jeffery Keedy ศิษย์เก่า Cranbrook รุ่น Discourseซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณาจารย์ของ Cal Art ได้กล่าวไว้ในบทความของเขาซึ่งถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Eye ไว้อย่างน่าคิดว่า ” There is no such a thing as bad typeface….just bad typography. (ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแบบตัวอักษรที่ไม่ดี จะมีก็คงมีแต่การจัดวางตัวอักษรที่ไม่ดี) ” ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีใจความตรงกันกับข้อสังเกตุข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกใช้แบบตัวอักษร จึงแสดงถึงความสามารถที่แท้จริงของนักออกแบบคนนั้นๆ ออกมาได้อย่างเด่นชัด
ทีนี้จึงเกิดคำถามต่อไปว่า แล้วจะเอาอะไรมาวัดว่าตัวอักษรนี้อ่านได้ดีกว่าตัวอักษรนั้น? ที่จริงแล้วข้อพิจารณาเบื้องต้นที่เราควรคำนึงถึงเสมอในการตัดสินแบบตัวอักษรก็คือ หลักการง่ายๆของ typography เบื้องต้น ก็คือเริ่มต้นการพิจารณาแบบตัวอักษรที่รูปร่างหน้าตา และความชัดเจนในการเป็นตัวอักษรนั้นๆ เช่น การออกแบบตัว ถ ทำให้เกิดความสับสนกับตัว ภ หรือไม่ เป็นต้น ตรงนี้ฟังดูเหมือนว่าคำตอบที่ว่า ให้พิจารณาจากรูปร่างหน้าตาของตัวอักษร เป็นการตอบแบบกำปั้นทุบดิน แต่ความหมายจริงๆที่หมายถึงนั้น มันรวมความไปถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการอ่านด้วยเช่น ความห่างระหว่างตัวอักษรแต่ละตัว (tracking) ความห่างระหว่างตัวอักษรเฉพาะตัว (kerning) และความห่างระหว่างบรรทัด (leading) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบมักจะละเลย ไม่เอาใจใส่เวลาออกแบบ ยิ่งในยุคของการทำงานบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปต่างๆ ด้วยความที่คิดว่า tracking kerning และ leading ของ font นั้นๆดีอยู่แล้ว
มาถึงตรงจุดนี้จึงอยากจะขอยกคำกล่าวที่มีความคิดน่าสนใจเกี่ยวกับการพิจารณาแบบตัวอักษร จากคำกล่าวที่ว่า “People read best what they read most (การอ่านนั้นสามารถเป็นไปได้ดีที่สุดโดยผ่านแบบตัวอักษรที่คุ้นตา)” ของ Zuzanna Licko หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Emigre ประโยคดังกล่าว เป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมโลกเราจึงยังคงใช้ font อย่าง Helvetica, Times และ Garamond นอกจากที่ว่า font เหล่านี้จะมี tracking kerning และ leading ที่พอเหมาะกับการอ่านแล้ว ก็เป็นเพราะแบบตัวอักษรเหล่านั้นได้สร้างความคุ้นเคยกับเรามาเนิ่นนานจนเราสามารถอ่านมันได้คล่อง และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเราเกิดความเคยชิน ฉะนั้นความเคยชินต่อแบบตัวอักษรจึงมีส่วนอย่างมากในการตัดสินว่าแบบตัวอักษรใดอ่านง่าย แบบใดอ่านยาก ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่สามารถนำมาสนับสนุนความคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดีก็คือ บทเรียนที่เราได้จาก Baskerville ย้อนไปเมื่อปี คศ 1757 เป็นครั้งแรกที่โลกเราได้รู้จักและสัมผัสกับแบบตัวอักษรที่ชื่อว่า Baskerville แบบตัวอักษรนี้เป็นลักษณะที่เรียกกันว่า Transitional ที่ถูกนำออกมาใช้ในขณะที่กระแส และความคุ้นเคยของสังคมยังเป็นการอ่านตัวอักษรลักษณะ Oldstyle หลังจากมีการเริ่มใช้แบบตัวอักษรนี้ในการพิมพ์เพื่อเป็นเนื้อความของหนังสือ ได้จึงเกิดกระแสการปฏิเสธ Baskerville เป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เรียกว่า “อ่านได้” ในสังคมขณะนั้นคือแบบตัวอักษรแบบ Oldstyle อย่าง Garamond โดยคนสมัยนั้นให้เหตุผลว่า Baskerville เป็นแบบตัวอักษรที่ไม่สวย และแบบตัวอักษรที่มีความแตกต่างของเส้นหนาและเส้นบางมากเกินไป ทำให้อ่านยาก แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า Baskerville นั้นจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสิบของแบบตัวอักษรที่สามารถตอบรับการอ่านได้ดีที่สุด กรณีเดียวกันก็เกิดขึ้นอีกหลายครั้งกับแบบตัวอักษรอื่น เช่น Helvetica (Akzidenz Grotesque) และ Futura ของยุค modern หรือแม้แต่ Template Gothic และ Tema Cantante ของ postmodern ทฤษฏีนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการอ่านและความสามารถในการอ่านนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ และไม่มีความคงที่ ดังนั้นการจะชี้ว่าแบบตัวอักษรใดอ่านได้ดีกว่าแบบใด จึงน่าจะอยู่ที่ลักษณะงานกับกลุ่มเป้าหมายที่งานชิ้นนั้นๆต้องการสื่อสารถึง เพราะแต่ละกลุ่มเป้าหมายก็มีความสามารถ และความเคยชินในการอ่านจากแบบตัวอักษรที่ต่างกัน
อีกคำกล่าวหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบเพื่อการอ่านในช่วงต้นยุค’90 เป็นอย่างมาก มาจาก Rudy Vanderlans หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Emigre เขาเคยกล่าวไว้ใน Emigre ว่า “If you can not read something – never mind, it probably was not written for you”. (หากคุณไม่สามารถที่จะอ่านอะไรบางอย่าง ไม่แน่ที่สิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ต้องการสื่อสารกับคุณ) คำพูดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นคำตอบให้กับคำถามที่มีต่อคำพูดของ Zuzanna Licko ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นก่อนหน้านี้ ตรงนี้พอจะตีความและขยายความได้ว่า คนที่อ่านสื่อนั้นๆ พวกเขามีความเคยชินกับการอ่านในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นหากคุณไม่ใช่แฟนเพลง rock นิตยสารอย่าง Ray Gun ก็คงไม่ได้คิดถึงคุณในฐานะกลุ่มเป้าหมายของนิตยสาร เพราะคุณไม่ใช่คนที่เขาต้องการที่จะสื่อสารด้วย ทีนี้ก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่า แล้วถ้าชอบเพลง rock จำเป็นที่จะต้องชอบรูปแบบของ Ray Gun ด้วยหรือเปล่า? อันนี้น่าคิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นการยากที่จะชี้ลงไปว่าความคิดจากคำพูดของ Rudy Vanderlans ดังกล่าว ควรได้รับการยอมรับเป็นบรรทัดฐานหรือไม่
นอกจากนี้แล้วเราควรคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ นอกเหนือจากแบบตัวอักษรเอง สื่อต่างๆในปัจจุบันก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะ และความสามารถในการอ่าน จุดนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พึงได้รับการพิจรณา นอกจากการพิจรณาที่แบบตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ต ก็มีผลต่อพฤติกรรมการอ่าน เพราะการอ่านข้อมูลจากจอคอมพิวเตอร์นั้นก็มีข้อจำกัดและรูปแบบที่ต่างออกไปจากนิตยสาร หากไม่เคยชินต่อการอ่านข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับความสามารถในการอ่านของตนเองให้รองรับกับการอ่านข้อมูลแบบใหม่ๆ เพราะสื่อใหม่ๆเหล่านี้เข้ามามีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะในโลกปัจจุบัน หากคนจากยุคอดีตข้ามเวลามาในยุคปัจจุบัน แน่นอนที่เขาคนนั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากในการอ่านข้อมูลจากสื่อในยุคนี้ เพราะแบบตัวหนังสือยุคใหม่ที่ไม่เคยชิน และสื่อใหม่ๆที่ต้องการประสบการณ์และความคุ้นเคยในการอ่าน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปเป็นกฏตายตัวเพื่อนำมาตัดสิน บางครั้งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ประมาณเท่าไรจึงสมควรที่จะเรียกได้ว่าอ่านง่าย และถ้าเกินไปจากนี้จะเป็นการอ่านยาก มันไม่มีหลักการที่แน่นอนที่สามารถใช้ชั่งตวงได้เหมือนคณิตศาสตร์ คนแต่ละรุ่นก็มีบรรทัดฐานของความสามารถในการอ่านที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่นักออกแบบควรเข้าใจว่างานของตนต้องการสื่อสารถึงใคร และกลุ่มเป้าหมายรับได้กับการใช้ลักษณะการออกแบบนั้น บนสื่อนั้น โดยใช้แบบตัวอักษรนั้น หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเราจะระบุไปเลยได้หรือไม่ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะมอง? ลักษณะของการออกแบบเพื่อการอ่านที่ดีเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และมันก็ยังคงไม่เคยเป็นสิ่งจับต้องได้