—–>ปัจจัยต่างๆในสังคมนั้นจะส่งผลกระทบถึงกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราในสัดส่วนเล็กๆ ก็อย่างเช่น การกระทำใดๆของบุคคลแต่ละคนก็มักจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เปลี่ยนไปของสิ่งรอบข้าง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในขณะที่คนอื่นเป็นสิ่งรอบข้างเรา เราเองก็เป็นสิ่งรอบข้างคนอื่นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ลักษณะต่างๆที่มีต่อกันได้
ความสัมพันธ์ในที่นี้สามารถเกิดขี้นได้ตลอดเวลาผ่านรูปลักษณ์ภายนอกของแต่ละบุคคล จากการกระทำ การแสดงออกทางร่างกาย โดยบางครั้งไม่จำเป็นต้องมีการสื่อสารทางคำพูดสนทนามาเป็นตัวเชื่อมโยง สิ่งเหล่านี้สามารถเข้าแทรกซึมจากผู้ที่มีความนึกคิดมากกว่าสู่ผู้ที่มีความนึกคิดที่ไม่แข็งแรงพอที่จะยืนกรานบนจุดยืนของตนเอง ลักษณะนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกง่ายๆว่าการเอาเยื่ยงอย่าง หรือการลอกเลียนแบบ ขั้นตอนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานของอิทธิพลที่เรามองไม่เห็น แต่ที่น่าทึ่งคือมันสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด การแสดงออกของแต่ละบุคคลได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จากลักษณะขั้นตอนของการการเชื่อมต่อง่ายๆจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนี่งหรือหลายๆบุคคลนี้เอง นำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่าสมัยนิยม ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างธรรมดาพื้นฐาน ในการชี้ให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกันของโครงสร้างต่างๆในสังคมได้ในระดับเบื้องต้นระดับหนี่ง
ระบบการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ การตอบรับในสังคมนั้นมีอยู่มากมายในหลายระดับ แตกต่างกันโดยพื้นฐานด้านประสบการณ์ ความรู้ เหตุนี้จึงทำให้บุคคล(กลุ่มคน)แต่ละระดับก็มีความแตกต่างกันในรูปแบบของการแสดงออก ตั้งแต่ความคิดไปจนถึงการปฏิบัติ
หากมองลึกลงในรายละเอียดเราจะเห็นได้ว่า ในแต่ละชั้นในระบบก็ถูกเชื่อมถึงกันด้วยบางเหตุผลของสังคม จึงน่าจะสรุบได้ว่า ความสัมพันธ์ในแต่ละโครงสร้างสังคมย่อยๆ นั้นสามารถติดต่อถึงกันได้โดยเครือข่ายต่างๆ เช่น ธุรกิจการค้า การเข้าร่วมกิจกรรม และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงกลไกที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้สังคมมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าสังคมมีการเชื่อมโยงซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง(ในลักษณะของสังคมประเทศนั้นๆ) เราจึงควรใช้ข้อดีและประโยชน์ของระบบนี้ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหันมาพิจารณาสิ่งที่เราปล่อยออกไปในระบบนั้น ว่ามันมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ที่จะให้เกิดการเอาเยี่ยงอย่าง หรือการขานรับ จากสังคมโดยรวม ไม่ใช่สนใจแค่เฉพาะกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เพราะกลุ่มเป้าหมายของคุณก็สามารถสร้างผลกระทบในทางอื่นๆต่อกลุ่มอื่นๆในสังคมได้เช่นกัน
สภาพของสังคมปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การเงิน การศึกษา การสื่อสาร และโครงสร้างอื่นๆที่ทับซ้อนกันอย่างนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบถึงกันอย่างเป็นลำดับ สิ่งเหล่านี้ก็มาเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางในอุตสาหกรรมออกแบบเช่นกัน (ในขณะเดียวกันการออกแบบเองก็สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างอื่นๆด้วย) แต่ที่ผ่านมาเกือบตลอดเวลานั้น ถ้าเราสังเกตจะพบว่าโครงสร้างอื่นๆในสังคมมักจะส่งผลบังคับต่อลักษณะการออกแบบ จนบางครั้งเข้ามามีบทบาทควบคุมการออกแบบโดยสิ้นเชิง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สิ่งที่สะท้อนกลับออกไปสู่สังคมโดยรวมจึงไม่ได้มาจากการออกแบบที่แท้จริง แต่กลับมันถูกดัดแปลงให้สามารถเข้ากับปัจจัยต่างๆรอบข้าง และเงื่อนไขที่นักออกแบบไม่สามารถเข้าถึง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นการออกแบบเป็นประเด็นหลักในเชิงธุรกิจอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบริการการออกแบบ)
ในขณะที่นักออกแบบ(ที่ดี) พยายามจรรโลงสังคมด้วยการสร้างงานที่ดี เพื่อเป็นสิ่งแวดล้อมทางการออกแบบที่เอื้อต่อการพัฒนาการของผู้บริโภคในอนาคต แต่กลับถูกดึงลงด้วยข้อแม้ของธุรกิจในปัจุบัน จากที่กล่าวมานี้ได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่งานออกแบบสะท้อนออกไปในโครงสร้างใหญ่ของสังคมมันไม่ใช่สิ่งที่มาจากความนึกคิดจริงๆ ของนักออกแบบอย่างร้อยเปอเซ็นต์ หากเป็นเช่นนี้คุณค่าของงานออกแบบจะอยู่ที่ตรงไหน? อยู่ตรงที่สามารถตอบความต้องการของตลาดตามเงื่อนไขและข้อจำกัด หรือคุณค่าจะอยู่ที่ตรงสามารถเอาใจคณะกรรมการของลูกค้าที่เป็นผู้ตัดสินใจที่จะซื้องาน หรือคุณค่ามันควรสถิตอยู่ที่ตัวเนี้องานของการออกแบบชิ้นนั้นซึ่งควรวัดในเชิงคุณค่าทางศิลปะ?
เราเคยคิดบ้างไหมว่าคุณภาพของงานออกแบบนั้นสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่คุณภาพของการศึกษา รสนิยม วิสัยทัศน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม และพฤติกรรมการบริโภคสินค้า หากพิจรณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าความเจริญของศาสตร์ทางด้านการออกแบบสร้างสรรค์นั้นสามารถบ่งบอกได้เด่นชัดที่สุดถึงความแตกต่างของความเป็นโลกที่1 หรือโลกที่3
การออกแบบที่เป็นผลมาจากความต้องการของธุรกิจต่างๆนั้นอยู่รายล้อมเราไปทุกที่ มีที่ดีบ้างไม่ดีบ้างปะปนกันไป ตามปัจจัยของผู้จ้างและความสามารถของนักออกแบบแต่ละคน ทั้งหมดนี้รวมๆ กันเป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ตั้งแต่บ้าน หรือห้องที่เราอยู่ ป้ายรถเมล์ที่ต้องขึ้นอยู่ประจำ แก้วกาแฟที่ใช้ดื่ม หรือนิตยสารเล่มโปรด สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราล้วนมีผลต่อความนึกคิด รสนิยม และความรู้สึก โดยที่เราไม่สามารถมองเห็นอิธิพลของการออกแบบได้เป็นรูปอธรรมในห้วงเวลานั้นๆ หากแต่สิ่งเหล่านี้มันได้เกิดการสะสมในตัวของแต่ละบุคคลจากช่วงเวลาหนึ่งสู่ช่วงเวลาหนึ่ง และในที่สุดก็ถูกกลั่นกรองออกมาในแบบต่างๆกัน ด้วยการแสดงออกต่างๆ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละบุคคลได้รับได้สัมผัส และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แวดล้อมในสังคมนั้นๆ
ในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เพียงแค่เดินเข้าร้านหนังสือ เราก็ต้องเสี่ยงต่อการรับเราอิทธิพลที่ไม่ต้องการโดยไม่รู้ตัว เราสามารถที่จะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับสื่อนิตยสารในทุกวันนี้ได้อย่างชัดเจน ปัญหาในการขาดการออกแบบที่ดี (ซึ่งนิตยสารบางเล่มไม่คิดจะแก้เพราะเกรงใจผู้อ่าน หรืออย่างไรมิทราบได้) เราจะเห็นลักษณะของการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์เข้ามาสาดใส่ลงไปบนทุกๆอย่างที่ขวางหน้า ลักษณะของการใช้ตัวอักษร3มิติ อย่างไร้สติ (ทำตัวเหมือนเพิ่งได้เคยใช้คอมพิวเตอร์) ไม่ได้พิจารณาถึงความสมควรว่ามันตอบโจทย์การออกแบบนั้นๆหรือไม่ ตรงนี้เกิดขึ้นมาจากไหนอะไรเป็นสิ่งจูงใจ? มันเป็นการรับเอาสิ่งที่ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานทางการออกแบบมาเป็นบรรทัดฐานทางการออกแบบหรือไม่? หรือรับเอาสิ่งที่เป็นบรรทัดฐานมาแต่ไม่สามารถบรรลุความตั้งใจ หรือคิดเอาว่ามันถึงบรรทัดฐานทั้งๆที่มันไม่ได้เป็น สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นแบบอย่างลักษณะที่ดีของการได้รับอิธิพลจากสิ่งรอบข้างหรือเปล่า?
จากการกระทำของคนหนึ่งสะท้อนสู่อีกหลายคน หากเป็นตัวอย่างที่ดีก็เป็นโชคดีของสังคมไป เราคงได้มีโอกาสที่จะถูกรายล้อมด้วยงานออกแบบที่ดีๆ แต่ถ้าหากเป็นในทางตรงกันข้ามก็คงไม่ต้องยกตัวอย่าง เพราะที่เราเผชิญอยู่ในบ้านเรา มันไม่ใช่ก็ใกล้เคียง
ด้วยเหตุนี้การออกแบบจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความก้าวหน้าทางสังคมด้วย ในฐานะนักออกแบบ เราจึงควรมีจิตสำนึกเสมอว่านอกจากที่จะต้องผลิตงานออกแบบที่ดีแล้ว ยังต้องทราบว่างานออกแบบที่ไม่ดีนั้นมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของคนในสังคมมากเพียงใด กล่าวคือนักออกแบบในโครงสร้างสังคมปัจจุบันควรพยามทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่โครงสร้างสังคมหยิบยื่นให้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งผลักดันให้โครงสร้างอื่นๆ มีทัศนคติที่ถูกต้องเพื่อที่จะเขาเหล่านี้นเข้าใจคุณค่าของการออกแบบให้มากขึ้น) ข้อสำคัญก็คือให้มีจิตสำนึกอยู่เสมอว่าไม่ใช่การทำงานที่เป็นลักษณะการทำงานให้เสร็จไปวันๆ เพราะผลกระทบที่เรามองไม่เห็นจากงานที่เราสร้าง มันมีมากกว่าที่เราจะคาดถึง
งานออกแบบที่ไม่ดีนั้นจะมีผลกระทบกับประสบการณ์ของบุคคลในสังคม และเมื่อคนส่วนใหญ่ได้รับ “อิทธิพลประสบการณ์” จากการออกแบบที่ไม่ดีแล้วมันก็จะกลายไปเป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง และเมื่อมันถููกละเลยจนฝังรากลึก มันก็จะกลายไปเป็นบรรทัดฐานของสังคม และท้ายที่สุดมันก็จะส่งผลกระทบต่อสภาวะการสร้างนักออกแบบใหม่ๆ หากเป็นเช่นนี้ทัศนคติ และรสนิยมที่ดีในการบริโภคงานออกแบบก็จะไม่มีวันขยับไปข้างหน้า ท้ายสุดสิ่งที่เราทำไปโดยไร้ความรับผิดชอบในวันนี้ ทั้งหมดนี้ก็จะย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งมันจะคอยหน่วงเหนี่ยวไม่ให้การออกแบบในบ้านเราได้คลานไปข้างหน้าเลย