อ่านเพื่อเป็นายตัวเอง

➜ เวลาพูดถึงหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบ เรามักจะนึกถึงหนังสือภาพรวมงานออกแบบแบ่งเป็นประเภทของงานที่น่าสนใจ บ้างก็เป็นการรวมเล่มงานชนะการประกวดรายการต่างๆ หนังสือประเภทนี้จะเน้นที่การนำเสนอภาพของงานออกแบบที่คัดสรรมาจากหลากหลายที่ เป็นแหล่งข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์และกระแสของการออกแบบในปัจจุบัน

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่แวะเวียนไปตามร้านหนังสืออยู่เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ก็ตามแต่เวลาจะอำนวย ไปทีไรก็อดบ่นกับตัวเองไม่ได้ว่า ร้านหนังสือบ้านเราไม่ค่อยมีความหลากหลายของหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบที่ใช้สำหรับอ่าน ครับผมหมายถึงหนังสือสำหรับอ่านจริงๆ ที่ไม่ใช่หนังสือภาพที่บางคนมักชอบซื้อกันมาตั้งประดับเป็นของตกแต่งบ้าน

เมื่อพูดถึงหนังสือสำหรับอ่านทางการออกแบบ ร้อยทั้งร้อยต้องมีชื่อของ “สตีเฟน ฮีลเลอร์” ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ผมเองก็เป็นแฟนหนังสือของ สตีเฟน ฮีลเลอร์ มานานแล้ว ความรู้และสติปัญญาที่ใช้ทุกวันนี้ในการประกอบอาชีพ ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่สังเคราะห์ได้มาจากหนังสือหลายเล่มของเขา คิดๆ ดูแล้ว ผมว่าผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากงานเขียนของเขา มากมายกว่าในห้องเรียนเสียด้วยซ้ำ

บางคนอาจจะสงสัยว่าคุณฮีลเลอร์ เป็นใครมาจากไหน เขาคนนี้เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบมานานมากคนหนึ่ง ถ้าดูจากประวัติการทำงานยาวเป็นหางว่าว จะบอกได้ว่าหน้าที่การงานหลักของเขาคือการเป็นผู้กำกับศิลป์อาวุโสของสิ่งพิมพ์ในเครือนิวยอร์คไทมส์ และอีกหน้าที่หนึ่งที่น่าอัศจรรย์ใจว่าเขาเอาเวลาและเรี่ยวแรงจากไหนมาทำ ก็คือการเป็นนักการศึกษาตัวยง ควบคุมทั้งการสอนและหลักสูตรให้กับหลักสูตรปริญาโทของ สคูล ออฟ วิชวล อาร์ต ในนิวยอร์ค

คุณสตีเฟน ฮีลเลอร์ เป็นคนขยันออกหนังสือเหลือเกิน บางทีปีละสองสามเล่มบางทีก็เกินกว่านั้น ถึงจะออกถี่เหลือเกินแต่ทุกเล่มล้วนมีคุณภาพคับแก้วทั้งสิ้น ครอบคลุมการออกแบบหลายประเภทที่เชื่อมโยงกับกราฟิกดีไซน์ บ้างก็เขียนเอง บ้างก็กวาดงานเขียนเรียบเรียงจากงานของใครต่อใครที่มีชื่อเสียงหลายคน เวลาผมไปต่างประเทศก็ไล่กวาดซื้อเอามากองๆ ไว้ ทะยอยอ่านไปเรื่อยๆ ตามแต่เวลาจะอำนวย นั่นไม่ได้หมายความว่า เราต้องรีบร้อนอ่านให้ทันแกเขียนหรอกนะครับ

ส่วนใครอยากจะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับการออกแบบเลขนศิลป์และอักขรศิลป์ ผมขอแนะนำให้ไปลองหามาอ่านดู ลองหันมาสะสมข้อมูลทางการออกแบบในลักษณะนี้บ้าง นอกเหนือจากหนังสือประเภทภาพรวมงานที่ให้ข้อมูลทางเทคนิคและสไตล์ล่าสุด

ผมเพิ่งจะตามอ่านย้อนหลังหนึ่งในหลายเล่มจากกองหนังสือที่ว่า เจ้าเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2002 โน่น ซื้อมาตอนปีถัดมา เพิ่งจะมาได้อ่านเอาปีนี้ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “Education of a design entrepreneur”

แหมพอเหมาะพอดี หัวเรื่องเอนเทอพรีนัวร์ (entrepreneur) ที่ว่านี้กำลังกลายเป็นคำฮิตติดปากแวดวงธุรกิจหลังวิกฤติของบ้านเรา คำว่าเอนเทอพรีนัวร์นั้น หากเปิดพจนานุกรมก็จะแปลได้ใจความว่าผู้ประกอบกิจการ อันที่จริงแล้วคำนี้กินความหมายลึกซึ้งกว่านี้นัก มันหมายถึงการเป็นผู้ประกอบการที่กล้าจะแหวกกฎเกณฑ์ทั่วไปทางการตลาด นำเสนอสิ่งใหม่ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ นับว่าได้เป็นการทำธุรกิจบนความเสี่ยง

หนังสือเปิดประเด็นมาก็โดนใจผมเสียเหลือเกิน คุณสตีเฟน ฮีลเลอร์ พรรณนาถึงความพิเศษที่น่าสนใจของอาชีพนักออกแบบ ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถสร้างผลงานให้มีผลต่อสังคมผ่านทางสื่อต่างๆ แถมยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเติบโต นักออกแบบส่วนใหญ่ใช้เวลาตลอดชีวิตของตนเป็นผู้ให้บริการ นักออกแบบเป็นนักแก้ปัญหาให้คนอื่น แต่พอจะต้องเริ่มทำอะไรให้ตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงธุรกิจแล้วด้วยนั้น อืม…ไม่ต้องพูดถึง เหตุนี้จึงมีนักออกแบบจำนวนไม่มาก ที่ก้าวออกจากการเป็นนักออกแบบธรรมดามาเป็นนักออกแบบเอนเทอพรีนัวร์ ทั้งๆ ที่ตนเองก็เรียนมาเป็นนักสร้างสรรค์ มันเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ของนักออกแบบ?

หนังสือยกตัวอย่างนักออกแบบจำนวนหนึ่ง ที่ก้าวข้ามผ่านมาสู่เอนเทอพรีนัวร์ชิป (entrepreneurship) ไว้ในหลายสาขาเช่น แฟชั่น ของเด็กเล่น หนังสือ นิตยสาร เกมส์ การ์ตูน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หรือแม้แต่ฟอนต์ บ้างประสบความสำเร็จ บ้างเท่าตัว บ้างได้ผลไม่คุ้มเสี่ยง แต่ทุกคนได้ชื่อว่าพยายามนำเสนอจุดต่าง นำ “ความสามารถเฉพาะ” ของตนเองในฐานะนักออกแบบประเภทนั้นๆ ประกอบกับความชอบและเอกลักษณ์ของตนมาใช้สร้างเป็นจุดแข็งให้กับธุรกิจ

อย่างนี้เขาน่าจะเรียกว่า การทำสิ่งที่ใจรักให้กลายมาเป็นธุรกิจ เป็นนายทุนตัวเอง จึงได้งานอย่างที่ไม่ต้องถูกนายทุนแปลงเจตนาและรูปแบบ แล้วสังคมก็ได้ทางเลือกในการบริโภคอะไรที่ใหม่และแตกต่างจากระบบการสร้างงานออกแบบที่เอาธุรกิจเป็นตัวนำอ่านเล่มนี้จบผู้เขียนไม่ได้สรุปอะไรให้กลืนง่ายๆ ก็ตามสไตล์ของคุณพี่เขา แต่ผมอ่านจบแล้วฉุกคิดว่า เจ้าหนังสือเล่มนี้มันก็มีความเป็นเอนเทอพรีนัวร์ในตัวมันเอง กล่าวคือคุณสตีเฟน ฮีลเลอร์ เขาก็บุกเบิกหนังสือกราฟิกดีไซน์ประเภทนี้มาเป็นคนแรกๆ จนสร้างให้เกิดกลุ่มการตลาดและกลุ่มผู้อ่านของตนเอง เขามองเห็นว่ายังมีนักออกแบบอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้แต่จะเสพงานออกแบบจากหนังสือภาพรวมเล่มงานชนะรางวัลแต่อย่างเดียว

หนังสือกราฟิกดีไซน์สำหรับอ่านในบ้านเรานั้น ยังมีการนำเข้ามาขายน้อยมากเหลือเกิน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะป้อมปราการทางภาษา แต่ผมเองกลับมองว่านิสัยเรื่องการอ่านของนักออกแบบบ้านเราต่างหากที่เป็นปราการที่แท้จริงเราแทบไม่ต้องพูดถึงหนังสือสำหรับอ่านเกี่ยวกับการออกแบบที่เป็นภาษาไทย นั่นยิ่งน้อยนับเล่มได้ มันน้อยจนน่าใจหายจริงๆ ผมว่านี่มันก็คงอารมณ์ใกล้ๆ (แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว) กับคุณฮีลเลอร์ ตอนที่เขาคิดจะนำตรงนี้มาทำเป็นเอนเทอพรีนัวร์ชิปของตัวเอง