จินตนาการนั้นสำคัญไฉน (๒)

➜ “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” อัจฉริยะอีกคนในยุคปัจจุบัน เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนที่มีความรู้มากที่สุดในโลกอดีต เมื่อเทียบกับคนที่มีความรู้มากที่สุดในโลกปัจจุบัน ก็คงจะกลายเป็นคนที่มีความรู้น้อย เพราะความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ต่อยอดมาจากความรู้พื้นฐานเดิม”

ผมเองกลับคิดว่าคนในปัจจุบันมีความรู้มากกว่าก็จริง เพราะระบบการศึกษาจัดตั้งมาตรฐานการเรียนรู้ไว้ให้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเกิดเป็นระบบการผลิตคนเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครั้นพอมีจินตนาการหลุดลอดผ่านออกมา ระบบการเรียนก็ไม่มีระบบการสอนที่เป็นขั้นตอน ว่าจะสามารถจัดการกับจินตนาการที่ได้มาอย่างไร จะพัฒนามาให้สำริดผลได้อย่างไร ทุกวันนี้คนเราถูกโปรแกรมมาให้ชำนาญการเป็นอย่างๆ โดยความรู้รอบตัวเป็นเพียงแค่ทางเลือกส่วนบุคคลในการบริโภคข้อมูลเท่านั้น แต่ที่แปลกประหลาดที่สุดก็คือขาดการส่งเสริมเรื่องการสร้างจินตนาการ

จะว่ากันไปแล้ว จินตนาการเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้ แต่สามารถถูกป้อนเป็นทักษะเพื่อให้กลั่นออกมาเป็นอุดมคติส่วนบุคคลได้ จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่า หากเราจับจินตนาการมาจัดระเบียบลงในแบบการศึกษาสำเร็จรูปในปัจจุบันแล้ว กลายเป็นว่าเรากำลังส่งเสริมการสร้างจินตนาการ หรือเป็นการหยุดสร้างจินตนาการในทางอ้อมกันแน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา เจ้าสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะ” และ “ความเข้าใจ” ในศิลปะไม่ได้ถูกปลูกฝังในระบบของการเรียนการสอนเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้เกิดการเสียสมดุลในระบบความคิด เพราะจินตนาการมาจากความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการฝึกทักษะทางศิลปะ จะเห็นได้จากความสมดุลในทุกๆ ศาสตร์ ที่ถ่วงน้ำหนักและประสานองค์ความรู้อย่างลงตัว มันจึงทำให้คนอย่าง ดาร์วินชี ใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลจากจินตนาการของเขา ถึงแม้เจ้าตัวไม่ได้มีโอกาสได้ใช้หรือเห็นสิ่งประดิษฐ์เป็นรูปร่าง เจริญงอกงามตามแนวความคิดที่ตนเองคาดหมายไว้ในวันนี้ก็ตาม

การมีจินตนาการหรือการมีวิชั่นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความแตกต่าง ระหว่างการเป็นวิศวกรธรรมดากับวิศวกรที่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ได้ใหม่ หรือการเป็นนักออกแบบทั่วไปแขนงต่างๆ ที่อยู่ในข่ายผู้สร้างสรรค์อยู่แล้วนั้น ก็เฉือนกันตรงที่จินตนาการ ผมว่าคนที่จะเป็นแนวหน้าในอาชีพอะไรก็ตาม นักการเมือง นักเขียน หรือแม้แต่อาชีพอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่พ่อค้าแม่ขาย ก็ต้องใช้ทักษะดังกล่าว ผมว่าเจ้าทักษะจินตนาการนี้เองเป็นระบบวัดความแตกต่างจาก “คนทั่วไป” กับ “อัจฉริยะ”

หนังสือดาร์วินชีโค้ดเล่มที่ว่า เป็นอะไรที่น่าสนใจในตัวของมันเองเช่นกัน เพราะนักเขียนหยิบจับข้อเท็จจริงบางประการ มาผสมปนกับการใช้ตัวละครจากจินตนาการของตนดำเนินเรื่องอิงข้อเท็จจริง ประกอบกับความคลุมเครือทางประวัติศาสตร์ในเชิงของวรรณกรรม นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้จินตนาการพัฒนาทักษะในชั้นเชิงของงานวรรณกรรมสัมพันธภาพระหว่างจินตนาการและเทคโนโลยีนั้น ก็มีการผลักดันซึ่งกันและกันมาโดยตลอด บางครั้งเราก็เห็นจินตนาการเป็นตัวชี้นำให้เกิดเทคโนโลยีมารองรับ ในขณะที่บางคราเทคโนโลยีก็ส่งอิทธิพลและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดจินตนาการใหม่ กระนั้นทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือ ขยายข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่

ลีโอนาโด ดาร์วินชี เป็นบุคคลตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นบุคคลรอบด้าน ที่สามารถแบ่งสัดส่วนการสร้างจินตนาการและเทคโนโลยีในมันสมองก้อนน้อยๆ ของมนุษย์เราได้อย่างน่าทึ่ง ผมมีความเชื่อว่าภาคทักษะทางศิลปะในตัวของดาร์วินชี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลดังกล่าว ระหว่างจินตนาการและเทคโนโลยีในตัวบุคคล

หากเป็นความจริงว่าจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรมีไว้เพื่อให้เกิดทักษะทางการสร้างสรรค์ แต่เสียดายที่ทุกวันนี้ประเทศเราผลักดันแต่เรื่องของเทคโนโลยี หลักๆ ก็คงเป็นเพราะเราขาดจินตนาการที่จะผลักดันเทคโนโลยี ถ้าเปรียบเป็นคานมันก็คงเสียสมดุลเพราะหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง

เอาล่ะครับ ผมคิดว่าคงไม่ต้องอธิบายให้เสียเวลาเปล่าๆ ว่าเรื่องยาวคราวนี้เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องหลักของคอลัมน์นี้ ประเด็นที่ต้องการชี้ได้ข้ามผ่านมาแล้ว ผมเองในฐานะนักการศึกษาคนหนึ่งเข้าใจแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ในการสร้างความสมดุลที่ว่าให้เกิดขึ้น

ขอยกคำพูดเชยๆ ที่ว่า “ศิลปะกล่อมเกลาจิตใจและช่วยสร้างจินตนาการ” คำกล่าวนี้ยังใช้ได้ดีเสมอ หากแต่ทุกวันนี้เราใช้มันแบบประโยคสูตรสำเร็จ ที่พูดกันจนไม่ได้หยุดคิดถึงความหมายที่แท้จริงของมัน