ก้อนหินในรองเท้า • บทนำ

➜ สิบห้าปีที่แล้ว หากมีใครบอกคุณว่าฟอนต์ไทยจะเป็นธุรกิจ แทนที่คุณจะหัวเราะเพราะว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ หากแต่คงมีแต่คนถามคุณว่าฟอนต์คืออะไร? นั่นแสดงให้คุณเห็นว่าความห่างไกลจากความเข้าใจในเรื่องฟอนต์นั้นมีมากแค่ไหน ยังไม่ต้องนำเรื่องไทป์ดีไซน์ที่ดูจะห่างไกลออกไปอีกช่วงตัวจากการทำความเข้าใจเรื่องฟอนต์

หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เอาเป็นว่าย้อนกลับไปประมาณยี่สิบปี นักออกแบบรุ่นใหม่ในขณะนี้อาจจะนึกภาพไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เขาเข้าใจในวันนี้ว่าเป็นอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจ เมื่อสองทศวรรษที่แล้วมันเป็นเช่นไร

ฟอนต์ไทยในวันที่เดสท๊อปพัพลิชชิ่งเพิ่งจะเริ่มถือกำเนิดขึ้นมาถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อสนับสนุนการขายฮาร์ดแวร์ (เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ) นอกจากนั้นก็อาจจะถูกมองเป็นการเปลี่ยนฟอร์แมท ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากหากเราคิดย้อนกลับไป เราจะพบว่าการออกแบบตัวอักษรในช่วงก่อนเดสท๊อปพัพลิชชิ่งนั้นเป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ก่อนที่จะจางและชะลอตัวลงเมื่อการเปลี่ยนแปลงของฟอร์แมทจบสิ้นลง อาชีพนักออกแบบตัวอักษรนั้นแทบจะหายไปเลยเสียด้วยซ้ำเนื่องจากการไร้ข้อตกลงและธรรมเนียมวัฒนธรรมปฏิบัติในการทำงานบนเดสท๊อปพัพลิชชิ่งที่เกี่ยวกับการใช้ไฟล์ฟอนต์

มันดูจะเป็นการโง่เขลาอยู่ใช่น้อยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราในยุค ๘๐ และ ๙๐ (หรือแม้แต่ปัจจุบัน) ไม่เคยเข้าใจในความสำคัญของการพัฒนาฟอนต์เพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์ เพราะการขาดความเข้าใจถึงผลกระทบของคุณภาพการสื่อสาร การส่งสาร การบันทึกข้อมูล จึงทำให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในเกือบทุกภาคส่วน มองข้ามปัญหาเรื่องฟอนต์ไปด้วยพร้อมกันกับปัญหาการสื่อสาร รวมถึงสื่งอื่นๆที่ผูกพันอยู่กับการพัฒนาคอมพิวเตอร์ และวิถีการจัดการข้อมูลสมัยใหม่ เหล่านี้เป็นแกนใจกลางของปัญหาของฟอนต์ในภาคของความเป็นซอฟแวร์และการสื่อสารที่ผกผันอยู่กับเทคโนโลยี

กรณีที่น่าสนใจในประเด็นนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต อาทิเช่นการตัดสินใจเลือกใช้การเรียงแป้นพิมพ์แบบเกษมณีของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งๆที่การวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติพบว่าแป้นพิมพ์แบบปัตตะโชติสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีเกือบ 26% ส่งผลต่อความเร็วในการสื่อสารข้อมูล นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆในอดีตที่ส่งผล(ที่มองไม่เห็น)อย่างมากในการพัฒนาประเทศ มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

เผินๆหลายคนอาจจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนัก แต่หากเราลองคิดดูว่าถ้าข้อมูลความรู้ในรหัสภาษาไทยเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้นเล็กน้อย ด้วยเวลาของหลายๆคนรวมกัน ประเทศเราจะพัฒนาได้เร็วขึ้นขนาดไหน ความรู้จะสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ภาพจะเห็นได้ชัดมากในวงการการสื่อสารและวรรณกรรม ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจกับปัญหาเรื่องยูนิโค๊ตที่เพิ่งผ่านพ้นไป หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับการพิมพ์ รวมถึงการบันทึกข้อมูลด้วยตัวอักษรในลักษณะต่างๆ

ฟอนต์เป็นเรื่องที่ตกหล่นอยู่ตรงกลางระหว่างการสื่อสาร ทั้งในภาคของศิลปะการออกแบบ และในภาคของการส่งต่อข้อมูล กล่าวคือผู้ที่สนใจข้อมูลก็ต้องการเพียงแค่ฟอนต์ที่ใช้งานได้ในการสะกดคำเพื่อให้เข้าถึงความหมายเท่านั้น กลุ่มนี้จะมักมองฟอนต์เป็นซอฟแวร์ ในขณะที่อีกกลุ่มมองเป็นเรื่องของการออกแบบที่ให้คุณค่าหรือสามารถส่งต่อความรู้สึกที่มากกว่าความหมายทางอักษรศาสตร์ แต่ทุกวันนี้เมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตรฐานอีกชิ้นในบ้าน จึงทำให้สองกลุ่มดังกล่าวกำลังมีแนวโน้มที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะแบบตัวอักษรเชื้อเชิญให้เกิดการตัดสินใจว่าตัวอักษรแบบไหนเหมาะสมกับข้อความและข้อมูล

ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้บ้านเรานับว่ามีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดในเรื่องของการออกแบบตัวอักษร และการพัฒนาแบบตัวอักษรในลักษณะของฟอนต์ หรือผูกพันอยู่กับเทคโนโลยีฟอนต์ที่น่าสนใจในหลายจุดทีเดียว สามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้