คนทำอิฐ • ตอนที่ ๒

(ต่อ)

+ สังเกตเห็นได้ว่าช่วงนี้มีงานเสวนาหรือเวิร์คช็อปเกี่ยวกับ type design บ่อยมาก ทั้งที่สมัยก่อนจะไม่ค่อยมีงานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ type design อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ type design ได้รับความสนใจมาก

ผมมองเป็นเรื่องดีมากนะครับ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นหลักฐานว่ามหาวิทยาลัยไม่ฟังก์ชัน ก็เหมือนกับการเกิดขึ้นของโรงเรียนกวดวิชา แสดงว่าโรงเรียนไม่ฟังก์ชัน แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าในความพยายามของการจัดอบรมหรือให้ความรู้นั้นมีบางส่วนทำกิ๊บเก๋บ้าง ปฏิเสธไม่ได้ แต่รวมๆ ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยไม่เวิร์ค แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่อยากเข้าไปทำเวิร์คช็อปในมหาวิทยาลัย เพราะความยุ่งยากของกฎระเบียบ การต้องรู้จักคนนู้นคนนี้ มันวุ่นวายน่ะ ทำเองดีกว่า

แล้วก็เป็นภาพสะท้อนของระบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นราชการ กึ่งราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัยที่มีโครงสร้างแบบโบราณ ระบบที่มีการเมืองภายใน ขุมอำนาจขั้วอำนาจ ก็เป็นเหตุทำให้คนต้องหาหนทางที่จะทำอะไรที่มันอิสระ ประเทศเราก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด คือต้องพึ่งพาเอกชนในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งก็ไม่ผิดนะ ประเทศที่เจริญแล้วเขาก็พึ่งเอกชนในการขับเคลื่อน แต่ภาครัฐของเขาก็ช่วยสนับสนุนให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเติบโต แต่บ้านเราขอแค่เรื่องพื้นๆ ยังให้กันไม่ได้เลย แต่บ้านเราจะมุ่งแต่สนับสนุนพืชผลการเกษตร คือยังคิดและติดอยู่ในกรอบนั้น ทั้งที่จำนวนเกษตรกรก็น้อยลง แล้วก็สนับสนุนแบบไร้ทิศทาง แต่ก็ยังจะทำแบรนดิ้งแบบเบลอๆ ว่าเรายังเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่

ผมคิดว่าประเทศเรามีปัญหาในเรื่องการวางตำแหน่งตัวเองผิดด้วยนะ ผมไม่เคยเห็นด้วยกับวาทกรรมประเภทชาติไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เราต้องดูตัวเองว่าเราสำคัญตัวผิดหรือเปล่า ตำแหน่งที่เรายืนอยู่ตรงไหน ทำไมเราถึงจะต้องคิดว่าเราเป็น center of the world ทั้งๆ ที่บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็บอกคุณอยู่ว่ามึงไม่ใช่ คุณรู้ไหมว่าคีย์บอร์ดมันบอกคุณแบบนั้น

คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้อยู่ทุกวันนี้ เราเรียกว่า ‘latin-1’ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันรองรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผมกำลังจะบอกว่าคีย์บอร์ดที่เป็นฮาร์ดแวร์ที่เป็นตัวภาษาอังกฤษ แล้วตัว latin-1 ก็ซ่อนอยู่ในคีย์บอร์ดนี้อีกที ตัวภาษาไทยก็ซ่อนอยู่ในคีย์บอร์ดนี้อีกที

คุณดูด้วยตาเปล่าคุณเห็นอะไรบ้างครับ คุณเห็นสัญลักษณ์ดอลลาร์ ชั้นแรกคือภาษาอังกฤษถูกต้องไหมครับ เพราะว่าฮาร์ดแวร์มันเกิดที่อเมริกา คีย์บอร์ดจึงต้องมีสัญลักษณ์ดอลลาร์อยู่ข้างบนไงครับ เป็นหลักฐานเห็นอยู่ตำตาอยู่แล้วทุกวัน ในเลเยอร์ทีjสองก็มี ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และมีเครื่องหมายเงินเยน มีเครื่องหมายปอนด์สเตอร์ลิง คุณจะเห็นว่ามันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งนี้เกิดขึ้นในยุค 80s เขาต้องยอมรับเงินเยน เพราะนั่นคือช่วงรุ่งเรืองของญี่ปุ่น แล้วที่เขาต้องยอมรับปอนด์สเตอร์ลิงเพราะว่าก่อนที่ดอลลาร์จะเป็นเงินสกุลหลักของโลก ปอนด์สเตอร์ลิงเคยเป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลักฐานแม่งเต็มตาอยู่แล้ว มึงยังเกรียนคีย์บอร์ดกันทุกวันประหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลก

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก เราอยากจะมีนักเทนนิสเก่งๆ อยู่ดีๆ เราก็มีขึ้นมาคนหนึ่ง เขาอาจจะดีไซน์ตัวของเขาเอง แต่สังคมไม่ได้ดีไซน์ให้เกิดคนที่สองสามสี่ตามมา เราไม่มีระบบที่จะทำให้มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ มีสภาพอากาศที่พอเหมาะ ที่สามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นตลอดเวลา แต่เขาเผอิญเกิดออกมาจากท้องคนไทยแล้วมีความสามารถขึ้นมา เราจะรอให้จุติแบบนี้ในทุกๆ ห้าปีสิบปี อย่างนั้นเหรอ ทำไมเราไม่ทำให้มันเกิดขึ้นทุกวันไม่ได้ มันออกแบบได้ แต่ก็กลับไปที่โรงเรียนเหมือนเดิมแหละ ก็ไม่ตั้งใจออกแบบให้เป็นแบบนั้นไง เราก็เลยไม่มี เราก็เลยต้องรอให้เขาจุติ

+ อะไรคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่มี นักออกแบบหรือนักศึกษาจึงต้องเสียเงินเข้าไปเวิร์คช็อป

ผมคิดว่าคนโหยหาแรงบันดาลใจ แล้วอยากจะฟังจะดูประเด็นที่เขาสนใจ อินเทอร์เน็ตทำให้คนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกันรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนกันมากขึ้น ก็มีคอมมูนนิตี มีกลุ่มทางสังคม สามารถเจอกันได้ง่ายขึ้น คนที่ไปเวิร์คช็อปเขาต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการอะไรที่รู้สึกว่า เมื่อออกจากเวิร์คช็อปแล้วเขาได้แรงในการทำงานต่อ เหมือนกับการไปเติมไฟ เวิร์คช็อปก็เป็นในลักษณะนั้น ได้เรียนรู้จากคนที่เราชื่นชมในผลงานเขา มันก็ปลิ้นออกมาเป็นปรากฏการณ์เวิร์คช็อป การสัมมนา การพูดให้แรงบันดาลใจคน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นผลของเหตุดังกล่าว

องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้เกิดในมหาวิทยาลัย แล้วมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับองค์ความรู้เหล่านี้ จึงต้องเกิดเป็นเวิร์คช็อป เพราะมหาวิทยาลัยไทยไม่ได้ออกแบบตัวเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเร็วมาก มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยให้แรงบันดาลใจคน ปกติแล้วหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้ให้โครงสร้างทางความคิด ประเทศของเราควรเดินไปทางไหน เป็นศูนย์กลางที่ขับเคลื่อนชุมชนขับเคลื่อนสังคม แต่มหาวิทยาลัยบ้านเราไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เหมือนธรรมศาสตร์เคยเป็น แต่ตอนนี้ก็เหมือนไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นที่อยู่ของปัญญาชนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของอักษรศาสตร์ ในด้านวรรณกรรม มันไม่ได้เป็นแบบนั้น คือเป็นการสอนแบบรูทีน

มหาวิทยาลัยก็ควรตั้งคำถามนี้นะ ว่าคุณเป็นผู้นำทางหรือเปล่า เป็นเบ้าหลอมให้สังคมขึ้นรูปความคิดอย่างไร เวลาไปดูงานจบของนักศึกษาเราควรได้เห็นมุมมองบางอย่างว่าสังคมข้างหน้าจะเป็นยังไง ดีไซน์ไทยจะเป็นยังไง แต่ในงานของนักศึกษา เราจะเห็นสิ่งที่เป็นปัจจุบันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นไปแล้วทั้งนั้นเลย หรือสิ่งที่เป็นเทรนด์ในขณะนั้น เราไม่ได้เห็นอนาคต เราไม่เคยผลิตนักศึกษาที่จะสร้างอนาคต แต่เราผลิตนักศึกษาที่พยายามจะสวมลงปัจจุบัน ถ้าเราผลิตนักศึกษาที่พร้อมจะสร้างอนาคต นักศึกษาจะต้องมีภาษาทางการออกแบบเป็นของตัวเอง มีวิธีคิดของตัวเอง ไม่ใช่ลอกเปลือกงานคนอื่น มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ในเมื่อคุณกำลังทำ final project จากเปลือก

คุณไปดูเขาสิว่าเวลาเขาทำ thesis หรือ degree project  เขาคิดจากอะไร เขาคิดอยากจะทำโปสเตอร์ อยากจะทำมิวสิควิดีโอ คิดอยากจะทำหนังสั้น เขาไม่ได้คิดว่าเขามีข้อศึกษาอะไรที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่เขาประมวลและสังเคราะห์ได้จากสี่ปีที่เรียนมา เป็นแค่เพียงงานโชว์ฝีมือว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้มีอะไรงอกใหม่

ฉะนั้นผมมองว่ามันเหมือนๆ กันทุกๆ ที่ มหาวิทยาลัยไม่ได้นำสังคม ซึ่งน่าเสียดายเราจะไม่มีโรงเรียนที่สร้างคนที่พร้อมจะเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะคณะศิลปะด้วยนะ ที่ต้องการมากๆ อย่างตอนนี้คือคณะมนุษยศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คือเราไม่มีคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

+ คุณเคยเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลาเหล่านั้นคุณเห็นอะไรในระบบการศึกษา

เอาแบบนี้ อาจารย์มีหลายประเภทนะ ผมเองไม่ใช่อาจารย์ประจำ แต่ทางเทคนิคแล้วเคยมีสถานะเป็นอาจารย์ประจำนะ ส่วนใหญ่คนไม่ทราบ ผมบอกได้ว่าอาจารย์ที่เราขาดมากไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มคณะที่เป็นดีไซน์ด้วยนะ เรามีอาจารย์ที่สอน แต่ไม่มีอาจารย์ที่สามารถจุดประกายเด็ก ถ้าอาจารย์ไม่สามารถที่จะสามารถให้แรงบันดาลใจ ที่เด็กได้มันก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนสอนให้มันจบหน้าที่ ถ้าคุณไม่สามารถที่จะทำให้เด็กสามารถรับรู้ได้ถึงแรงส่งตรงนั้น ไม่สามารถทำให้รับรู้ได้ว่า เราอยากจะเป็นคนที่เก่ง  แล้วพอมองภาพรวม เราจะรู้เลยว่ามีจำนวนอาจารย์ที่สามารถให้แรงบันดาลใจคนได้เท่าไหร่ นั่นคือคุณภาพของอาจารย์ที่เรามี ผมเชื่อว่าถ้าเรานึกกลับไปสมัยที่เรียนหนังสือเพื่อหาว่ามีอาจารย์กี่คนที่จุดประกายคุณได้ ผมไม่เชื่อน่ะเรื่องพอร์ตโฟลิโออะไรเนี่ย แล้วเวลา คัดสรร ดีมาก รับคนเข้าทำงาน ผมไม่เคยขอดูเลยนะทรานสคริปต์ ไม่มี ไม่มี ไม่ดูพอร์ต ไม่ดูประวัติ ไม่ชอบดูพอร์ต พอร์ตแม่งเฟค

+ คัดสรร ดีมาก คัดคอย่างไร เพราะงานดีไซน์ต้องดูทักษะ

ผมไม่ค่อยแคร์หรอก เพราะคนพัฒนาทักษะได้ คนมาทำงานที่นี่ก็เรียนใหม่หมดครับ type designer ที่นี่กว่าจะถูกเรียกว่า type designer ต้องมีอย่างน้อยๆ หนึ่งปีกว่าๆ บางคนสองปีด้วยซ้ำ

+ พูดคุยเพื่อค้นหาคุณสมบัติที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเดียวเลยหรือ

ใช่ครับ ดูว่าเป็นคนใฝ่รู้ ดูแล้วเขาอยากจะเป็นคนเก่ง มีเป้าหมายที่จะไป มีศักยภาพที่จะพัฒนา มีจิตวิทยาที่ดี ผมว่าพวกนี้เป็นพื้นฐานที่ดี ก็อย่างที่ผมบอกถ้าเรียน typography มาก็ใช้ไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะไปดูพอร์ตทำไม ก็ไม่ดู เพราะไม่เชื่อหน้าไหนเลย

+ เวลาเวิร์คช็อป คุณขึ้นบรรยายด้วยไหม

ผมไม่ค่อยได้บรรยายแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ ใน คัดสรร ดีมาก เป็นผู้บรรยาย ผมเชื่อในเรื่องของการกระจายความรู้ เชื่อในเรื่องพัฒนาการของคนที่ผมทำงานด้วย ให้เขาพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาในที่นี้หมายความว่าเขาสามารถที่จะเติบโตขึ้นมาและสามารถทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำได้ เราไม่ได้มีความคิดตายตัวว่าดีไซเนอร์ของเราต้องเป็นแบบไหน แต่เรามีความต้องการพื้นฐานว่าคุณจะต้องพูดได้ พรีเซ็นต์ได้ สอนเป็น เขียนหนังสือได้ ผมว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อคุณเขียนได้ หมายความว่าคุณเรียบเรียงได้ แต่คุณจะส่งต่อความรู้ของคุณได้หรือเปล่า ก็ต้องมีทักษะในการพูด ในขณะที่คุณเรียนรู้ที่จะพูด คุณต้องเรียนรู้หลักจิตวิทยา ทำอย่างไรให้ข้อความของคุณเข้าถึงคนที่คุณกำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ผมว่าทักษะเหล่านี้ไม่มีในดีไซเนอร์ แล้วไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่สอนการออกแบบแล้วสนใจเรื่องพวกนี้เลย เราจึงไม่มีนักออกแบบที่มีคาแรคเตอร์ เรามีแต่นักออกแบบที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ แล้วก็ปิดอาร์ตเวิร์ค ไม่มีนักออกแบบที่ชี้นำสังคม มีแต่ผลิตนักออกแบบที่ไม่ฮืออือกับเหี้ยอะไรเลย

+ ในมหาวิทยาลัยก็มีวิชา presentation สิ่งเหล่านี้คุณมองว่าไม่มีผลต่อนักออกแบบเลยหรือ

แล้ววิชาเหล่านี้ใครสอน คุณจะตั้งชื่อวิชาอีก 5-6 วิชาที่ฟังดูดีมากๆ เลยก็ได้ จิตวิทยาการออกแบบ  หรือ ศิลปะการออกแบบและสังคม เอาให้สวยหรูขนาดไหนก็ได้ แต่ใครสอน มันไม่ยอมรับไงว่าไม่มีคนสอน ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนแบะอกออกมารับว่าไม่มีคนสอน ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก บางทีจะเปิดเทอมอยู่อาทิตย์หน้า ยังไม่มีคนสอน สุดท้ายก็คือใครก็ได้ นักศึกษาไม่รู้เบื้องหลังเหล่านี้ไง รู้แล้วก็เลิกแปลกใจได้แล้วว่าทำไมอาจารย์คนนี้คนนั้นมาสอนได้ไง คุณรู้ไหมว่าบางมหาวิทยาลัยมีอยู่สี่เซค บางที่แม่งหกเซค แล้วเซคหนึ่งมีกี่คน 40-50 คน คิดง่ายๆ ว่ามหาวิทยาลัยที่สอนการออกแบบมีกี่แห่ง ผมไม่พูดถึงวิชาอื่นนะ เอาเฉพาะ typography นี่แหละ ไม่ใช่ type design ด้วยนะ เอาเฉพาะ typography คุณคิดว่ามีคนสอน typography เยอะพอกับจำนวนนักศึกษาไหม นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวิชาที่สวยหรู conceptual thinking อะไรแบบนั้น…ใครสอน ผมถามแค่นี้ว่าใครสอน ถ้าเรามีคนสอนได้จำนวนเยอะขนาดจริงๆ นะ หมายว่าเราต้องมีคนทำ typography ได้ดีมากเป็นร้อยๆ คนจริงไหม

ผมว่าประเทศเรากราฟิกดีไซน์ต้องเจ๋งมาก ดีที่สุดในโลกเลย นี่ไงความจริง พูดกันสิความจริง ใช่ไหม ก็แม่งทุเรศไง เลยไม่พูดกัน แล้วคุณก็รู้ว่ารุ่นคุณจบมาทำงานมันฟังก์ชันไหม ฟังก์ชันกี่คน ถ้ารุ่นหนึ่งมี 40 คน ฟังก์ชันสามคน หมายความว่าที่เหลืออีก 37 คนมันคืออะไร

พูดแบบตรงไปตรงมา เรามี ผศ. เรามีศาสตราจารย์ เรามี ดร. กี่คน แทบจะเดินชนกันตายแล้ว ผศ. โดนบังคับไง ต้องมี ผศ. ไม่งั้นคณะไม่ผ่านประเมิน ผศ. ต้องทำไร แปลหนังสือ? ต้องมีวิจัย? ถ้ามีวิจัยที่มันเวิร์คเยอะขนาดนั้นประเทศเราไปไหนแล้ว คิดสิครับ ตรรกะง่ายๆ

+ ที่ถูกที่ควรต้องเป็นยังไง

ผมว่าที่ถูกที่ควรอย่างแรกมหาวิทยาลัยไหนที่ไม่พร้อมจะเปิดวิชาเหล่านี้ควรยุบ ยุบภาควิชา ไม่ได้หมายความว่าทุกมหาวิทยาลัยต้องมีทุกคณะเหมือนๆ กัน ไม่จำเป็นนะ ไม่ได้มีกฎข้อไหนเขียนไว้เลย ไม่ใช่ อุ๊ย มหาวิทยาลัยของเรายังไม่มีศิลปกรรมเลย แล้วไม่ดูว่าตัวเองมีบุคลากรที่จะเปิดหรือเปล่า เปิดแล้วเราผลิตคนอย่างไหน แบบที่สร้างภาษาทางการออกแบบ แบบที่เพื่อสร้างอนาคต หรือแค่แบบใช้เดี๋ยวนี้

+ นักออกแบบที่เก่งและดีต้องเป็นอย่างไร

นักออกแบบที่จะลุกขึ้นมากล้าออกมาบอกว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรหรือวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดเห็นกับสิ่งที่เขาทำ หรืองานของเขาโดดเด่นมีความเฉพาะมากๆ ที่ผ่านมาและทุกวันนี้ และน่าจะต่อไปเรากลับต้องดูงานที่เจ๋งๆ จากประเทศอื่น เราไม่เห็นงานที่มีเอกลักษณ์หรือสำเนียงเฉพาะในประเทศเรา เพราะเราไม่สร้างภาษาทางการออกแบบของเราเอง

+ แสดงว่าคุณไม่เชื่อในเทรนด์

ไม่เชื่อ แต่รู้ไว้ก็ดีว่าตอนนี้มันเป็นยังไง แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงกับสิ่งนั้น ถ้า คัดสรร ดีมาก ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงกับสิ่งนั้น คัดสรร ดีมาก จบไปนานแล้ว ผมมองว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่อยู่ได้นานทั้งหมด ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราทำมันเก๋ดี ยังไม่มีใครทำ type foundry ที่มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสากล ไม่ได้มองแค่นั้นน่ะ เรามองว่าเราอยู่ยาว ถ้าเรามองว่าเราอยู่ยาว เราทำตัวที่เป็นแฟชั่นมากไม่ได้ ตรรกะเป็นแบบนั้น เรามีวิณญาณของความเป็นสถาบัน ไม่ได้เป็นแฟชั่น สิ่งที่เราทำคือการสร้างภาษาของงานออกแบบ คุณจะเห็นเลยว่าฟอนต์ของ คัดสรร ดีมาก มันพิเศษ ผมพูดได้เต็มปากว่ามันต่าง มันมีลักษณะเฉพาะตัวกว่าค่ายอื่นๆ ที่คุณรู้จักและคุ้นชินก่อนหน้านี้ นี่คือภาษาที่ผมพูดถึง ผมอยากให้สร้าง language เพราะมันคือหัวใจของทุกสิ่ง งานกราฟิกดีไซน์ไทยที่เล่น typography มากไม่ได้ ส่วนนึงมีปัจจัยมาจากไม่มีตัวหนังสือที่เหมาะกับการที่จะทำ type play เฉกเช่นกับคุณใช้ helvetica condensed แต่คุณไม่มีตัวหนังสือภาษาไทย ที่จะจับความรู้สึกแบบนั้นตรงนั้นในการเรียงร้อยตัวหนังสือได้ นี่ก็มีปัญหาใช่ไหม นี่ไม่นับความหยาบของนักออกแบบที่ไม่ได้สนใจเรื่องอักษรศาสตร์ก่อนฝึกฝน typography ทำให้การสื่อความหมายและการเลือกคำมีผลอย่างมากต่อการออกแบบ

คุณเห็นตัวทองหล่อไหม (ทำเชิงอรรถภาพและอธิบาย) เรามองทั้งภูมิทัศน์ เลยว่า iconic ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง มีฝรั่งเศส โมโนไทป์ ทอมไลท์ ชวนพิมพ์ 4 ฟอนต์นี้เป็น 4 ฟอนต์ที่ทุกคนก็อปกันไปกันมา มีเวอร์ชันของค่ายนู้นค่ายนี้ หน้าตาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แล้วทุกวันนี้เราก็ยังใช้บนแพลตฟอร์มจากรากสี่อันนี้อยู่ แต่เราไม่สร้างอนาคตให้ลูกหลานเลย เราไม่มีอะไรที่เป็นตัวแทนของวันนี้เลย นี่คือวิธีคิดว่าทำไมเราต้องทำฟอนต์ทองหล่อ เราต้องการสิ่งที่เป็นตัวแทนของวันนี้ นั่นคือวิธีคิดว่าทำไมเราจึงต้องทำทองหล่อ ไม่ได้คิดจากความต้องการทำฟอนต์เก๋ๆ ออกมาสักชุดหนึ่ง เราคิดว่ามันต้องมีอีก category หนึ่งที่สะท้อนตัวหนังสือไทยทุกวันนี้ ใช่ เรายังทิ้งตัวมีหัวไม่ได้ เพราะคนส่วนมากที่ยังล็อกความคิดในลักษณะนี้อยู่ แต่ทำยังไงให้ตัวมีหัวดูโมเดิร์นร่วมสมัย สะท้อนความเป็นปัจจุบันที่ทอดไปในอนาคต แล้วเข้ากับบริบทของภาษาไทยที่เราใช้ทุกวันนี้

สิ่งใดที่ type designer ยังไม่เคยได้ทำมาก่อนกับตัวหนังสือแบบมีหัว คุณจะเห็นว่าภาษาไทยมีหัวกลมมักจะมีแค่ตัวบางกับตัวหนา คุณจะเห็นว่าตัวหนังสือปกติของภาษาไทยจะเป็นตัว light ส่วนใหญ่เราจะนิยมใช้ตัว light แล้ว regular จะดูหนาไป ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิธีคิดที่เป็น family ถามว่าเสือกจะมาไทยอะไรตอนนี้ ก็ได้ จะยืนกระต่ายขาเดียวว่า light คือ regular ก็ได้ แต่คุณตามเขามาแล้วทั้ง platform วิธีการจัดระเบียบ family ก็ควรให้เหมือนกันไปด้วย สิ่งที่พูดคือ ผมฉีกซองทองหล่อแล้วเทออกมาให้ดูว่าเรามีกระบวนการสร้างตัวหนังสือขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของยุคสมัย ไม่อยากให้แบบว่าอีก 10 ปีจากนี้เด็กมาถามว่าทำไมทุกอย่างมันจบที่ชวนพิมพ์ ไม่มีใครที่ represent ภาษาไทยในช่วงเวลานี้เลยเหรอ

+ ฟังดูทะเยอทะยานมาก

ครับ…ใช่ ก็ต้องเป็นแบบนั้น ผมก็ถามว่าคุณเห็นตัวหัวกลมที่เป็นเนื้อความแล้วมัน capture spirit ของวันนี้ไหม คุณก็ยังใช้ UPCC ซึ่งก็คือ ทอมไลท์ นั่นแหละ ทำไมมันถึงไม่มีล่ะ เหมือนกรุงเทพไม่มีแลนด์มาร์ค หรือไม่ก็มีแลนด์มาร์คอันเดิมๆ ไม่มีแลนด์มาร์คที่ represent กรุงเทพฯทุกวันนี้ จะว่าทะเยอทะยานก็ใช่ ผมว่าคนชอบใส่ด้านลบให้คำว่าทะเยอทะยาน ซึ่งสังคมไทยเป็นแบบนี้ แต่คุณอย่าลืมว่าความทะเยอทะยานมีข้อดี เพราะมันทำให้คุณมีเป้าหมาย คุณจะทำอะไรแล้วไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มันจะไม่เกิดกระบวนการ ผมเชื่อหมดใจว่าคุณต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าปลายทางมันคืออะไร ไม่เห็นต้องอายเรื่องการมีความทะเยอทะยาน มึงไม่มีความทะเยอทะยานสิน่าอาย คนห่าอะไรไม่มีเป้าหมาย มึงใช้ชีวิตอยู่ได้ไงวะ ใช่ไหม