จากทางแยกสู่ทางเลือก — ฟลูธิเกอร์ ภาษาไทย ในบริบทของยุคสมัย

➜ ก่อนที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมฟลูธิเกอร์ภาษาไทย (Frutiger THAI) จึงถูกออกแบบมาทั้งสองลักษณะ ครอบคลุมสองแนวทางของตัวอักษรไทย ทั้งตามแบบแผนนิยมที่มี ‘หัวกลม’ (Loop Terminal) และตัวอักษรไทยร่วมสมัยแบบ ‘ไร้หัว’ (Loopless Terminal) เราควรทำความเข้าใจเรื่องการจัดแบ่งประเภท (Classification) ของตัวอักษรไทยกันเสียก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการจัดแบ่ง Classification ของตัวอักษรไทย เรามักจะใช้วิธีการเปรียบเทียบกับ Classification ของตัวอักษรลาติน นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมาโดยตลอดเมื่อมีการพูดถึงประเภทของตัวอักษรไทย และยังส่งผลถึงลักษณะการใช้งานของตัวอักษรไทยร่วมกับตัวอักษรลาติน

‘อักษรไทยหัวกลม’ เปรียบได้กับ ‘อักษรลาตินแบบมีเชิงฐาน’ (Serif) ได้หรือไม่ คำถามนี้ต้องตอบโดยการพิจารณาบริบทรอบข้าง อันที่จริงเราจะคิดกับตัวอักษรไทยหัวกลมในเชิงเปรียบเทียบกับอักษรลาตินแบบมีเชิงฐานโดยสำนึกอยู่แล้ว ในขณะที่ ‘อักษรไทยไร้หัวกลม’ (Loopless Terminal) ก็มักจะถูกนำไปเทียบเคียงกับ ‘อักษรลาตินไร้เชิงฐาน’ (Sans Serif) แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ถูกรับมาใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า ตัวอักษรไทยหัวกลมมีความยืดหยุ่นมากกว่านั้น โดยสามารถนำมาใช้คู่กับอักษรลาตินไร้เชิงฐานได้อย่างไม่ขัดเขิน ฉะนั้นการกำหนดบทบาทตายตัวให้ตัวไทยหัวกลมใช้งานร่วมกับตัวละตินที่มีเชิงฐานเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งกรณีนี้ต่างจากการใช้ตัวอักษรลาตินที่มีเชิงฐานมาคู่กับตัวอักษรไทยไร้หัวกลมที่กลับให้ความรู้สึกว่าเป็นการจัดการที่ผิดพลาด

จะเห็นได้ว่าตัวอักษรไทยทั้งสองประเภท มีจุดร่วมเดียวกันในเรื่องของความสามารถในการใช้งานคู่กับตัวอักษรลาตินไร้เชิงฐานได้เป็นอย่างดี เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? เราอาจคิดว่านี่คงเป็นมายากลชนิดนึงของอักขรศิลป์ไทย แต่แท้จริงแล้วเราสามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ว่า ตัวอักษรภาษาไทยเพิ่งพัฒนากลุ่มตัวไร้หัวขึ้นมาเป็นทางเลือกเมื่อ 30-40 ปีมานี้ ก่อนที่จะกลายมาเป็นมาตรฐานเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา แบบอักษรไทยไร้หัวโดนมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในช่วงแรกที่กำเนิดขึ้น ก่อนที่จะค่อยๆ แทรกตัวเข้ามาในพื้นที่ความคุ้นชินของคนไทย และขยับขยายบทบาทเข้ามาเป็นตัวเนื้อความในยุคดิจิตอล จากเหตุผลและความจำเป็นของยุคสมัยที่ว่านักออกแบบอาจต้องการใช้งานตัวเนื้อความที่มีความร่วมสมัย แต่แบบอักษรไทยหัวกลมในเวลานั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะรูปร่างหน้าตาของแบบตัวอักษร หรือชุดน้ำหนักซึ่งไม่ได้ถูกคิดตามลักษณะการใช้งานจริงอย่างเป็นระบบ จึงทำให้เกิดความจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการนำตัวอักษรไทยแบบไร้หัวมาใช้เป็นตัวเนื้อความ ซึ่งตัวอักษรไทยแบบไร้หัวกลมในเวลานั้นต่างก็ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นตัวพาดหัวเสียมากกว่า (ใช้ในขนาดใหญ่) โดยพิจารณาจากรายละเอียดของรูปร่างตัวอักษรที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการถูกนำไปใช้เป็นตัวเนื้อความในขนาดเล็ก จึงอาจกล่าวได้ว่านั่นคือการใช้งานตัวอักษรอย่างผิดประเภท (ในเชิงรูปแบบกายภาพ) อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวก็นับเป็นหนึ่งในหลักหมุดที่สำคัญของประวัติศาสตร์การออกแบบเลขนศิลป์ไทย ในแง่ของการสร้างการรับรู้ใหม่ของตัวอักษรไทยแบบไร้หัว ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการอ่าน ไปจนถึงลักษณะการใช้งานของตัวอักษรไทยแบบไร้หัวในปัจจุบัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่แบบอักษรไทยหัวกลมไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยมีแนวคิดเรื่องชุดครอบครัว (มีมากกว่าหนึ่งน้ำหนัก) นอกจากจะเป็นการเปิดช่องให้แบบอักษรไทยไร้หัวได้ลองเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวเนื้อความแล้ว แบบอักษรไทยหัวกลมยังสูญเสียโอกาสที่จะถูกใช้งานเป็นตัวพาดหัว เนื่องจากการเกิดขึ้นของแบบอักษรไทยไร้หัวที่มีความพร้อมเรื่องระบบครอบครัวตัวอักษร กล่าวคือประกอบไปด้วยน้ำหนักที่มากกว่าหนึ่ง แบบอักษรไทยไร้หัวจึงมีความเหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวพาดหัวในช่วงเวลานั้น ก่อนที่จะค่อยๆ สร้างพื้นที่ในการรับรู้จากคนทั่วไปว่าเป็นแบบตัวอักษรสำหรับการพาดหัว จนแทบจะกลายเป็นมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน น่าสนใจว่าหากแบบอักษรไทยหัวกลมถูกวางแนวคิดเรื่องชุดครอบครัวในเวลานั้น รูปแบบการใช้งานของตัวอักษรในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร

จะเห็นได้ว่าการขาดแนวคิดเรื่องระบบครอบครัวของแบบอักษรไทยหัวกลม นัยหนึ่งก็นำมาซึ่งการเปิดโอกาสให้กับแบบอักษรไทยไร้หัวได้เข้ามาจับจองและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับอักขรศิลป์ไทย ขณะเดียวกันแบบอักษรไทยหัวกลมก็ถูกลดบทบาทลงเหลือแค่ทำหน้าที่เป็นตัวเนื้อความ โดยอาศัยเพียงปัจจัยเดียวคือความคุ้นชินของคนอ่านที่มีต่อแบบ คาดว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รูปแบบของตัวอักษรไทยหัวกลมขาดช่วงของพัฒนาการ และตามหลังตัวไร้หัวตลอดมา

ย้อนกลับไปพิจารณาตามเส้นแบ่งเวลาของตัวพิมพ์ไทย จะพบว่าอักษรไทยแบบหัวกลมที่มีมาอยู่ก่อน ย่อมมีความชอบธรรมในการเป็นตัวเลือกสำหรับใช้เทียบเคียงกับตัวละตินไม่ว่าจะเป็นแบบมีเชิงฐาน หรือแบบไร้เชิงฐาน ในขณะที่พัฒนาการและการเข้ามาของตัวไร้หัวกลมนั้นมาพร้อมๆ กับการที่เป็นฟอนต์ฟอร์แมทที่ออกแบบมาทำงานควบคู่กับตัวลาตินไร้เชิงฐานเพราะมีปฏิสัมพันธ์ทางด้านกายภาพ ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดข้อยกเว้นในการจับคู่ข้าม classification เมื่อเทียบแบบกับละติน (Sans Serif : Loopless Termainal), (Sans Serif : Loop Terminal)

อย่างไรก็ตามการออกแบบ อักษรศิลป์ (Typography) และอักขรศิลป์ (Type Design) ไทยร่วมสมัยก็ได้รับเอารูปแบบของ classification แบบละติน มาใช้ในการจับคู่การใช้งานและการออกแบบ กล่าวคือเรามักจะพบตัวอักษรไทยแบบหัวกลมถูกจับคู่กับตัวละตินที่มีเชิงฐาน และตัวอักษรไทยแบบไร้หัวก็ถูกจับคู่กับตัวละตินไร้เชิงฐาน จากมุมมองนี้จะเห็นว่า classification แบบตะวันตกมีผลต่อวิธีคิดเรื่อง classification ของไทยอยู่พอสมควร ซึ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เราควรยอมรับความคิดเรื่อง Classification แบบลาตินเพื่อนำมาใช้กับตัวอักษรไทยหรือไม่? รับและมีข้อแม้พิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะของอักษรไทยเรา หรือไม่รับแล้วมอง Classification ของอักษรไทยแบบไม่มีเชิงเปรียบเทียบ นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องนำไปขบคิดเพื่อที่จะหาข้อสรุปกันต่อไป

หากพิจารณาต่อจากย่อหน้าที่แล้วจะพบว่า ปัจจุบันตัวอักษรไทยแบบมีหัวถูกจัดประเภทแบบหลวมๆ เป็นเพียงกลุ่มของตัวอักษรที่มีหัว โดยเทียบเคียงกับตัวอักษรลาตินให้อยู่ในกลุ่มของ Oldstyle, Transitional และ Modern ไปพร้อมๆกัน แต่อันที่จริงในกลุ่มของอักษรไทยหัวกลมก็จำเป็นจะต้องมีการแยกแยะรูปแบบกายภาพย่อยลงไปอีก ตามปัจจัยของลักษณะโครงสร้างในชุดนั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีลักษณะของการตะหวัดหัวกลมแบบต่างๆ และด้วยรายละเอียดทางกายภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวอักษรไทยดังกล่าว ทำให้การเทียบเคียงประเภทของอักษรไทยกับระบบการแบ่งประเภทแบบลาตินอาทิ Oldstyle, Transitional และ Modern เป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว ในขณะที่ตัวอักษรไทยแบบไร้หัวกลมกลับไม่พบปัญหานี้ และสามารถเข้าคู่ได้อย่างง่ายดายกับระบบ classification แบบลาตินด้วยเหตุที่มีโครงสร้างไปในแนวเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ฟลูธิเกอร์ ภาษาไทย ทั้งแบบมีหัว (Frutiger neue TH Loop) และไร้หัว (Frutiger neue TH Loopless) ที่ออกแบบมาให้ใช้งานคู่กับละตินจะไม่สามารถเป็นไปได้เลย หากสังคมมิได้ยอมรับอย่างเข้าใจแล้วว่าปัจจุบันภาษาไทยมีสอง classification ใหญ่ๆ ตามที่กล่าวมา ฟลูธิเกอร์ ไทย ถูกออกแบบมาในสองทิศทางก็เพื่อให้มีทางเลือกที่ยืดหยุ่นพอในการใช้งาน ครอบคลุมความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นโดยเข้าใจความเคลื่อนตัวทางสังคม วัฒนธรรมและการใช้งานจริงของตัวอักษรไทยปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ฟลูธิเกอร์ ไทย เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบความสามารถทางการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจเรื่อง classification ของไทยในมุมมองของผู้ใช้งาน

ฟอนต์ฟลูธิเกอร์ ไทย (Frutiger neue TH Loop, Frutiger neue TH Loopless) จึงเป็นฟอนต์ที่ให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้งาน ในขณะที่ ฟลูธิเกอร์ ตัวต้นแบบเป็นฟอนต์ละตินไร้เชิงฐาน แต่ผู้ออกแบบไม่ว่าจะเป็นชาวไทยที่เข้าใจการใช้งานในแบบไทยอยู่แล้ว หรือนักออกแบบต่างชาติ (ในโลกที่เล็กลงและการก้าวข้ามภาษาเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น) ก็สามารถเลือก ฟลูธิเกอร์ ไทย ในลักษณะที่ต้องการเพื่อใช้ควบคู่กับ ฟลูธิเกอร์ ละตินได้ หากต้องการใช้สื่อสารกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ยังเชื่อว่าตัวเนื้อความต้องเป็นแบบหัวกลมเท่านั้น ก็สามารถเลือกใช้ ฟลูธิเกอร์ ไทย เวอร์ชั่นที่เป็นหัวกลมได้อย่างไม่ต้องบ่นว่าไม่มีทางเลือก ในขณะที่นักออกแบบหรือผู้รับสารที่ต้องการภาพตามสมัยนิยมก็สามารถเลือกใช้ ฟลูธิเกอร์ ไทย แบบไร้หัวกลม เพื่อใช้งานร่วมกับ ฟลูธิเกอร์ ลาติน ได้อย่างสมบูรณ์

ในการออกแบบ ฟลูธิเกอร์ ไทย นอกจากจะยึดโยงการตัดสินใจจากการตัดข้ามไปมาของวิธีการใช้งานจริงในสังคมไทยแล้ว การออกแบบโครงสร้างของตัวอักษรยังให้ความสำคัญกับการออกแบบสัดส่วนที่ถูกต้องของอักษรไทยเมื่อเทียบกับ ฟลูธิเกอร์ ละติน อาจกล่าวได้ว่านี่คือหนึ่งในฟอนต์ภาษาไทยที่มาพร้อมกับระบบครอบครัวที่แบบอักษรหัวกลมแชร์โครงสร้างมาจากแบบอักษรไร้หัว อีกนัยหนึ่งคือการออกแบบตัวไร้หัวด้วยการเทียบเคียงกับตัวอักษรไร้เชิงฐานของละติน (Based on Latin) ให้ได้มาซึ่งแบบตัวอักษรไทยไร้หัว และพัฒนาแบบต่อในการเพิ่มหัวกลมตามอุดมคติกลับลงไปในโครงสร้างของตัวอักษรไทยแบบไร้หัวอย่างสมเหตุสมผล ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักออกแบบ ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ในการเลือกใช้ตามแต่ความเหมาะสมและความสะดวกใจ