สรุปย่อ สัมมนาอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๗

➜ งานสัมมนาวิชาการอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 หรือในชื่อย่อว่า BITSMMXIV ในปีนี้ถูกขับเคลื่อนโดยชมรมอักขรศิลป์กรุงเทพฯ หรือ Typographic Association of Bangkok (TAB) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา (2013) และเข้ามารับหน้าที่ในการดำเนินงานเป็นครั้งแรกในปีนี้ สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงทีมดำเนินงานมาเป็น TAB ก็เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆ มีการจัดการที่เป็นระบบสากลมากขึ้น การก่อตั้งชมรมของกลุ่มวิชาชีพ มีข้อดีคือสามารถรองรับและเป็นศูนย์กลางให้กับเครือข่ายของธุรกิจออกแบบตัวอักษรในประเทศ และให้ผลใหญ่ที่สุดคือ ทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงการมีอยู่จริงของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะว่าไปนั่นก็คือเป้าหมายของ BITS มาโดยตลอดเช่นกัน ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนวิธีนำเสนอกันไปในแต่ละปี แต่หัวใจหลักของงานก็ยังคงเป็นความต้องการที่จะสร้างพื้นที่ให้กับอุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรในประเทศไทย

กิจกรรมสัมมนาเชิงวิชาการอักขรศิลป์ในลักษณะเดียวกับ BITS มีอยู่มากมายกระจายกันไปตามมุมต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า องค์ความรู้ในแขนงนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้อื่นๆ ในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เป็นโลกของการสื่อสาร หลายๆ คนที่ยังไม่คุ้นเคย หรือกระทั่งไม่เคยรู้ว่ามีอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรอยู่ คงจะแปลกใจที่ได้ทราบว่า ศาสตร์ของตัวอักษรมีความสำคัญและมีกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของผลงานเหล่านี้อยู่มากมายอย่างคาดไม่ถึง

สิ่งที่น่าภูมิใจอย่างหนึ่งคือ BITS เป็นงานสัมมนาอักขรศิลป์ (Type Design) และอักษรศิลป์ (Typography) ที่แรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีรูปแบบเนื้อหาครอบคลุมทั้งมิติของการออกแบบตัวอักษรไปจนถึงการนำตัวอักษรไปใช้ในงานออกแบบ นำเสนอแรงบันดาลใจทั้งในเชิงของ การออกแบบเชิงทดลอง งานวิชาการเชิงประวัติศาสตร์ข้อมูล และในเชิงของงานออกแบบพาณิชย์ ทั้งหมดมุ่งหมายที่จะนำเสนอภาพความหลากหลาย และขยายโลกทัศน์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน และปัจจุบันก็ไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่า BITS เป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการอักขรศิลป์อันดับต้นๆ ของทวีบเอเชีย และเป็นหมุดหมายหนึ่งที่อยู่ในความรับรู้ของนักออกแบบตัวอักษรจากทั่วโลก

สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์กับ BITS คงพอที่จะทราบลักษณะธรรมเนียมของงาน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกิจกรรม รูปแบบการจัดการ กิจกรรมเสริมต่างๆ ความหลากหลายของวิทยากรรับเชิญที่มาจากหลายเชื้อชาติ และนำมาซึ่งความหลากหลายของเนื้อหาที่อยู่ในช่วงการบรรยาย (Conference) รวมไปถึงกิจกรรมภาคปฏิบัติ (Workshop) เชื่อว่าหลายๆคนที่เข้าร่วมงาน BITS อาจจะมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องการออกแบบตัวอักษร หรือที่เราเรียกกันอย่างเข้าใจง่ายๆว่า ‘ฟอนต์’ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการจัดงานนี้ขึ้นมา แต่นอกเหนือจากนี้ BITS ยังมีวัตถุประสงค์ ในการที่จะเป็นพื้นที่สำหรับโอกาสทางธุรกิจของนักออกแบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษร หรือกระทั่งนักออกแบบในแขนงต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับการใช้ตัวอักษร

บางครั้งบรรยากาศของการเรียนรู้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องสัมมนาที่มีหนึ่งคนพูดและหลายคนฟัง แต่อาจเกิดขึ้นข้างนอก หน้างาน ก่อนเข้าประชุม ช่วงพักเบรค หลังงานเลิก ซึ่งแน่นอนว่าหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นโอกาสโดยบังเอิญ หรือเป็นผลพลอยได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้เป็น BITS ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่สำหรับหลายๆ อย่าง ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการออกแบบบรรยากาศให้เอื้อสำหรับการเปิดโอกาสทางธุรกิจ งานถูกออกแบบมาให้เนื้อหาภายในอุตสาหกรรมมีการหมุนเวียน มีการเคลื่อนตัว อันที่จริงอาจไม่ใช่แค่การสร้างโอกาส แต่เป็นการออกแบบโอกาส ออกแบบความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับคนที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้

นอกจากการนำเสนอเนื้อหาในส่วนของการบรรยายบนเวที และกิจกรรมเวิร์คช็อปจากเหล่าวิทยากรแล้ว BITS ยังประกอบไปด้วยกิจกรรมเสริมต่างๆ มากมาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามโอกาสและความสะดวกในปีนั้นๆ โดยในปีนี้มีกิจกรรมเสริมที่มากขึ้นกว่าทุกปี เริ่มตั้งแต่ นิทรรศการ TDC60: The 60th Annual TDC Exhibition, Tuesday Night Talk Series, Type Walk, Custom Stencil TYPE with Rukkit Kuanhawate กิจกรรมเหล่านี้ถูกผนวกเข้ากับโปรแกรมการดำเนินงานของ BITSMMXIV และทยอยจัดก่อนหน้ากำหนดการหลักของงานสัมมนาประจำปี

สำหรับรายละเอียดของ BITSMMXIV วิทยากรทั้ง 9 ท่านที่ตอบรับเข้าร่วมงานยังคงบทบาทที่หลากหลายต่างกันไป ตั้งแต่ ผู้กำกับศิลป์ของสื่อสิงพิมพ์ชั้นนำของโลกหลายๆฉบับ, นักออกแบบตัวอักษร, นักออกแบบกราฟิก, อาจารย์และนักวิชาการทางด้านการออกแบบเลขนศิลป์, นักเขียน, นักพัฒนาซอฟแวร์ฟอนต์ ด้วยเหตุนี้เนื้อหาที่ไหลเวียนอยู่ในงาน จึงครอบคลุมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรในหลายๆมิติ ตั้งแต่เรื่องของการออกแบบโดยตัวเอง การออกแบบโดยคำนึงถึงจิตสำนึกทางสังคม การออกแบบเพื่อสะท้อนตัวตน และพัฒนาการของนักออกแบบกับงานที่เขาทำ ฯลฯ

Roger Black, Bruno Maag, Catherine Dixon, Georg Seifert, Danh Hong, Julius Hon-Man Hui, ปิยลักษณ์ เบญจดล, วีร์ วีรพร และ ธนรัฐ วชิรัคกุล คือรายชื่อวิทยากรของงานในปีนี้ ภาพรวมของเนื้อหามีการพูดถึงตั้งแต่เรื่องของการออกแบบที่มีเป้าหมายในการทำให้สังคมดีขึ้น โดย Catherine Dixon นักออกแบบหญิงชาวอังกฤษ ที่นำเสนอเรื่องการใช้ศิลปะและการออกแบบ ช่วยเปิดโลกทัศน์และสร้างคนที่ต้องการเป็นคนที่ดีขึ้น การเอาตนเองออกจากปัญหาโดยใช้ศิลปะและการออกแบบในการจัดการกับพื้นที่ที่บกพร่อง และเปิดประตูสู่โลกภายนอกจากชุมชนแออัด ให้คนเหล่านี้ได้เพิ่มโอกาสให้กับตนเองในการที่จะได้คิดว่าตัวเองมีคุณค่า ทั้งหมดนี้เธอใช้เครื่องมือทางศิลปะและการออกแบบอย่างเครื่องพิมพ์ Letterpress เป็นแกนหลักในการทำงาน นอกจากนั้นเธอยังเล่าถึงมิติของการสื่อสารเรื่องราวเชิงสังคมผ่านเครื่องมือที่ดูเหมือนจะหมดยุคสมัยไปแล้วในโปรเจคต์ต่างๆ และการที่เธอนำเทคนิคการพิมพ์ชนิดนี้ไปใช้ในการให้ความรู้กับเด็กๆ เพื่อที่จะให้สร้างสรรค์ผลงานและมีทักษะการใช้เครื่องมือที่ติดตัวและช่วยกระตุ้นให้ใช้ความคิดและแสดงออกด้วยการสื่อสารผ่านงานออกแบบ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ Catherine Dixon นำเสนอในการบรรยายครั้งนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีมิติเกี่ยวกับเรื่องทางสังคมอยู่ไม่น้อย ในแง่ของความพยายามที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องไปกับเนื้อหาของ ปิยลักษณ์ เบญจดล อาจารย์และนักวิชาการทางด้านการออกแบบ ที่ได้นำเสนอวิทยานิพนธ์ว่าด้วยการแกะรอยความหมายของอักษร ญ ผู้หญิง กับสังคมไทย สำหรับเนื้อหาของปิยลักษณ์เธอเน้นไปที่เรื่องราวเบื้องหลังที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ว่าด้วยการพยายามสร้างความหมายให้กับตัวอักษร และเพศหญิง โดยใช้วิธีการทางสัญศาสตร์เชิงภาพ และสัญศาสตร์เชิงสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัด การตามหาความหมายของ ญ เริ่มตั้งแต่ยุคที่มีการสร้างคำต่อท้ายให้กับตัวพยัญชนะ เพื่อขับเน้นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติโดยชนชั้นปกครอง ตลอดการบรรยายของเธอเต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและหาได้ยากในชีวิตประจำวัน

Bruno Maag นักออกแบบตัวอักษรผู้ก่อตั้งค่ายฟอนต์ยักษ์ใหญ่อีกแห่งอย่าง Dalton Maag ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องการออกแบบตัวอักษรเฉพาะสำหรับองค์กร นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรในมิติต่างๆอย่างละเอียด โดยเขาเปรียบเทียบการออกแบบตัวอักษรว่าเป็นส่วนเล็กๆ ที่มีผลมหาศาลต่อเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะในภาคของการออกแบบสื่อสารที่ต้องใช้ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบหนึ่งเสมอ เขาสรุปองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงเสมอในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น หลักความงามของตัวอักษร ในแง่ของสัดส่วนที่ถูกต้องสมบูรณ์ของตัวอักษรแต่ละตัว รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของแบบที่จะทำให้งานมีความแตกต่างและสะท้อนความเข้าใจในศาสตร์ของอักษร ความต้องการที่แท้จริงของโจทย์โดยเลือกเฉพาะด้านที่จำเป็น ความสอดคล้องกลมกลืนกันของแบบเมื่อมีการออกแบบตัวอักษรในหลายๆ ภาษา ซึ่งเป็นลักษณะของธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีความต้องการน้ำเสียงที่จะใช้ในการสื่อสารให้เป็นเสียงเดียวกันไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ กลุ่มผู้อ่านแบบตัวอักษรรวมไปถึงพื้นที่หรืออุปกรณ์ที่ตัวอักษรแสดงผล ความสามารถในการอ่านซึ่งเขาได้อธิบายกลไกการอ่านตัวอักษรของมนุษย์โดยผ่านสมองและการมองเห็นไว้อย่างคร่าวๆ การตอบสนองการใช้งานได้อย่างหลากหลายซึ่งเกิดจากการวางแผนในเรื่องจำนวนน้ำหนักในชุดครอบครัว และตัวอักษรกับความเป็นแบรนด์ ซึ่งเขาเห็นตรงกับ Roger Black วิทยากรอีกท่านที่เป็นที่รู้จักในบทบาทของอาร์ตไดเรคเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนิตยสารชื่อดังหลายๆ ฉบับอย่าง Rolling Stone, Outside, New York, The New York Times, Newsweek, Esquire, Fast Company, Smart Money, Reader’s Digest, The Los Angeles Times และอื่นๆอีกมากมาย Roger Black มองตรงกับ Bruno ในเรื่องของแบรนด์ ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องในการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือสามารถยึดพื้นที่ในความทรงจำของกลุ่มเป้าหมาย ดูเหมือนว่าการบรรยายชุดนี้ของเขาจะเน้นน้ำหนักไปที่เรื่องนี้โดยเฉพาะ และเรื่องที่เขายกตัวอย่างก็คือการใช้แบบตัวอักษรในนิตยสารโรลลิ่งสโตน ที่ถึงจะเปลี่ยนอาร์ตไดเร็คเตอร์ไปแล้ว เปลี่ยนหัวนิตยสารไปแล้ว แต่แบบตัวอักษรที่นิตยสารใช้มันมีอิทธิพลมากพอในการที่จะทำให้เกิดภาวะความรู้สึกของความเป็นโรลลิ่งสโตน Roger Black สรุปทิ้งท้ายการบรรยายได้อย่างน่าสนใจว่า นักออกแบบที่เป็นผู้สร้างแบรนด์ต่างก็มีช่วงเวลาที่จะได้ดูแลแบรนด์แค่สั้นๆ ซึ่งก็เป็นไปตามสมัยนิยมของโลกในปัจจุบัน คนที่เข้ามาสานงานต่อ เมื่อเข้ามาก็อยากปรับอยากเปลี่ยน เพราะอยากสร้างผลงานที่เป็นของตัวเอง แล้วเมื่อครบรอบเวลาการทำงานก็จากไป ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ความมุ่งมั่นของนักออกแบบที่จะสร้างผลงาน สิ่งนั้นก็คือชีวิตของแบรนด์ที่เหมือนจะโดนมองข้ามไปจากเหล่านักออกแบบไฟแรง ทั้งๆที่แบรนด์นั้นอาจจะมีชีวิตที่ยาวกว่าคนที่สร้างมันขึ้นมา เพราะเหตุนี้การทำงานกับแบรนด์จำเป็นที่จะต้องคิดในมิติที่ยาวกว่า และจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งคือกุญแจอีกหนึ่งดอกของความสำเร็จของแบรนด์

วีร์ วีรพร เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Conscious และอาจารย์ทางด้านกราฟิกดีไซน์ นำเสนอโปรเจคต์ทดลองที่เขาสร้างโจทย์ขึ้นด้วยตัวเอง ก่อนที่จะนำกระบวนการและผลลัพธ์ที่ได้มาเล่าสู่กันฟังในงาน เบื้องหลังการเกิดขึ้นของโจทย์คือความต้องการที่จะทำงานโดยสามารถตอบสนองตัวตนของเขาเอง นอกเหนือจากโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นอกจากนั้นโจทย์ที่เขาสร้างขึ้นยังต้องสะท้อนตัวตนของเขาให้ผู้อื่นรับทราบได้เช่นกัน เขาเริ่มด้วยการเก็บข้อมูลจากเพื่อนในบัญชีเฟซบุ๊ค ถึงลักษณะส่วนตัวที่เป็นที่จดจำ ผสมเข้ากับความหลงใหลในตัวอักษรตั้งแต่สมัยเรียน และงานอดิเรกที่เขาชื่นชอบไม่น้อยไปกว่าอาชีพประจำอย่างการปั่นจักรยาน ทั้งหมดนี้เกิดเป็นโปรเจคต์ออกแบบตัวอักษรในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตัวพิกเซล ตัวอักษรประดิษฐ์เฉพาะคำ (Lettering) ไปจนถึงการนำตัวอักษรมาสร้างเป็นแพทเทิร์นบนเสื้อผ้าในรูปแบบที่เขาชอบสวมใส่ วิทยากรที่มีเนื้อหาใกล้เคียงวีร์ คือ ธนรัฐ วชิรัคกุล พาร์ทเนอร์ของค่ายฟอนต์ กะทัดรัด จากชลบุรี ที่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์กว่าสิบปีตั้งแต่ช่วงเริ่มทำงานในวงการโฆษณา มาจนถึงปัจจุบันที่ผันมาทำงานทางด้านการออกแบบตัวอักษร เขาเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆที่เคยผ่านมาและช่วยหล่อหลอมเขา ตั้งแต่การเริ่มทำงานโดยที่ไม่มีความรู้ทางด้านอักขรศิลป์ การหาความรู้พิ่มเติมด้วยตัวเอง และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งแรงผลักให้เขาเดินเข้าสู่ธุรกิจตัวอักษรในท้ายที่สุด

Julius Hon-Man Hui นักออกแบบตัวอักษรชาวฮ่องกง เป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบตัวอักษรรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ในชุดการบรรยายครั้งนี้เขาเลือกนำเสนอประเด็นที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือเรื่องของการพัฒนาตัวอักษรจีนให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยเขามีประสบการณ์จากการทำงานออกแบบตัวอักษรในหลายๆภาษา และได้นำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการออกแบบฟอนต์ภาษาจีน Julius มองว่าสิ่งที่จะช่วยปลดล๊อกให้กับพัฒนาการของตัวอักษรจีนก็คือเรื่องของสัดส่วนตัวอักษร ที่มักจะถูกออกแบบมาให้มีสัดส่วนที่ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการจัดวางและการระบบการเขียนในภาษาจีน อย่างไรก็ตามเขาได้นำเสนอทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในการออกแบบตัวอักษรจีนให้แตกต่างจากที่เคยเป็นมา เพื่อที่จะทำให้แบบตัวอักษรจีนเกิดพัฒนาการที่เห็นได้ชัดขึ้น วิทยากรคนต่อมา Danh Hong เป็นนักออกแบบตัวอักษรและนักพัฒนาซอฟแวร์ชาวกัมพูชา เล่าถึงประสบการณ์ในการออกแบบฟอนต์เขมร เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์ โดยเนื้อหาที่เขานำมาเล่าครอบคลุมไปถึงเรื่องตั้งแต่การออกแบบ และการแก้ปัญหาเมื่อมีการนำฟอนต์ไปใช้ในระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์เทคโนโลยี นอกจากนั้นเขายังเสริมในส่วนของทิศทางในอนาคตของแบบตัวอักษรในภาษาเขมรไว้ได้อย่างน่าสนใจ Georg Seifert นักออกแบบตัวอักษรที่มีบทบาทอีกด้านหนึ่งเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์ที่ใช้ในการออกแบบฟอนต์ที่มาแรงและมีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่าง Glyphs เขาเริ่มต้นการบรรยายด้วยบทบาทแรกคือการเป็นนักออกแบบตัวอักษร โดยยกตัวอย่างผลงานต่างๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ใจความของชุดบรรยายนี้  คือการเริ่มต้นพัฒนา Glyphs ซอฟแวร์ที่ใช้ในการออกแบบฟอนต์ และด้วยความที่เขาเป็นนักอออกแบบตัวอักษรมาก่อน จึงส่งผลให้เขาสามารถออกแบบและวางระบบการทำงานของซอฟแวร์ได้อย่างเข้าใจการทำงานออกแบบตัวอักษรจริงๆ ในทุกขั้นตอนตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการมีฟีเจอร์พิเศษที่จะช่วยเป็นลูกเล่นเสริมให้กับนักออกแบบฟอนต์ที่เลือกใช้ Glyphs โดยระหว่างการบรรยายเขาได้แสดงให้เห็นระบบการทำงานของตัวซอฟแวร์อยู่เป็นระยะ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ร่วมฟัง

ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นใน BITSMMXIV เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้ และงานในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากขาดผู้ที่ให้การสนับสนับสนุนอย่าง Goethe Institut, British Council, TCDC และทีมในการดำเนินงาน TAB และสำคัญที่สุดคือทุกคนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆของธุรกิจฟอนต์ สำหรับคนที่ไม่เคยใกล้ชิดกับศาสตร์แขนงนี้มาก่อนก็ได้รู้ว่ามีอุตสาหกรรมนี้อยู่ในสังคม คนที่อยู่ในสายงานนี้อยู่แล้วก็ได้เรียนรู้ ขยายมุมมอง เพื่อนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป