ทศวรรษที่สองของสุขุมวิท — สุขุมวิท ตัดใหม่

บทความฉบับเต็ม เรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องหลังและก้าวต่อไปของฟอนต์ ‘สุขุมวิท’ คัดลอกและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากฉบับย่อซึ่งถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์ Design Now ของ นิตยสาร Hamburger ฉบับที่ ๑๙๖ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

➜ ในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมา แวดวงอุตสาหกรรมการออกแบบ ‘ตัวพิมพ์ดิจิตอล’ หรือที่เรียกทับศัพท์ง่ายๆว่า ‘ฟอนต์’ ในประเทศไทย ได้ขยายขอบเขตพื้นที่ของตัวเอง ในแง่ของการรับรู้และความเข้าใจเบื้องต้นจากผู้คนทั่วไปในสังคม ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจอื่นๆที่เริ่มเข้าใจว่าฟอนต์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับการสื่อสารขององค์กร พัฒนาการของธุรกิจฟอนต์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการที่ผู้คนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจว่าฟอนต์เป็นผลิตผลทางการออกแบบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางด้านการตลาด และในหลายๆประเทศอุตสาหกรรมฟอนต์ ถึงกับถูกจัดให้เป็นศาสตร์เฉพาะอย่างเป็นทางการ มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานทับซ้อนเกี่ยวกระหวัดไปกับศาสตร์อื่นๆ ของมนุษย์ มีองค์ความรู้ที่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นแบบแผน ได้รับการดูแลและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และแน่นอนมีผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของฟอนต์ตัวหนึ่งมากมาย ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆในสังคม

สำหรับประเทศไทยเอง คนทั่วไปเริ่มรู้จักกับฟอนต์ที่อยู่นอกคอมพิวเตอร์ของตัวเอง หลายคนเริ่มเสาะหาฟอนต์เพื่อนำมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในแง่ที่ฟอนต์เริ่มเป็นที่รู้จักและไดรับความสนใจมากขึ้น หนึ่งในฟอนต์ภาษาไทยที่ไล่เรียงดูแล้วเป็นที่รู้จักในลำดับต้นๆ ก็คือ ‘สุขุมวิท’ ผลงานของคัดสรร ดีมาก ซึ่งถือว่าเป็นใบเบิกทางในการเริ่มต้นธุรกิจออกแบบฟอนต์ในประเทศ หลายคนอาจเคยผ่านตากับ ‘สุขุมวิท’ ในสมัยที่ไม่ได้อยู่ในชื่อสุขุมวิทด้วยซ้ำ นั่นเพราะว่าก่อนจะมาเป็น ‘สุขุมวิท’ หรือ ‘สุขุมวิท ตัดใหม่’ ในเวอร์ชั่นล่าสุด ต้นแบบของฟอนต์ตัวนี้คือ ‘เอสเอ็มบี แอดวานซ์’ ฟอนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้ควบคุมภาพลักษณ์ของ เอไอเอส และพรีเมี่ยมแบรนด์ของเอไอเอส อย่าง จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ (ชื่อเรียกในขณะนั้น) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 ภายใต้การดูแลของเอเจนซี่ เอสซีแมทบอกซ์ บริษัทที่รับหน้าที่ในการดูแลภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์เอไอเอส ซึ่งได้ว่าจ้าง คัดสรร ดีมาก ในการออกแบบฟอนต์ขึ้นมาอีกทอด ถึงตรงนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าชื่อฟอนต์ ‘เอสเอ็มบี แอดวานซ์’ เกิดขึ้นจากการผสมกันระหว่างชื่อย่อของบริษัทเอสซีแมทบอกซ์และชื่อท้ายของแบรนด์เอไอเอส จีเอสเอม นั่นเอง

‘เอสเอ็มบี แอดวานซ์’ นับเป็นจุดเริ่มของฟอนต์ที่เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของนักออกแบบไทยที่มีต่อตัวอักษรภาษาไทยในการจัดวางแบบอักขรศิลป์สากล ด้วยความที่เป็นฟอนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยคำนึงถึงความกลมกลืนกันของพื้นผิวทั้งสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) เมื่อพิมพ์เคล้ากัน นอกจากนั้นยังเป็นครั้งแรกที่ ‘คอสตอมฟอนต์’ กลายมาเป็นศัพท์ที่รู้จัก และใช้กันทั่วไปในวงการการออกแบบพาณิชย์ของบ้านเรา สำหรับที่มาของแบบฟอนต์เอสเอ็มบี แอดวานซ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของอาร์ทไดเรคเตอร์ในขณะนั้น ที่ต้องการให้ฟอนต์ภาษาไทยชุดใหม่สามารถพิมพ์ควบคู่กันไปกับฟอนต์ละตินคลาสสิคอย่าง ‘ฟรูธิเกอร์’ ของเอเดรียน ฟรูธิเกอร์ ที่ทางเอสซีแมทบอกซ์ได้เลือกเพื่อใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของแบรนด์เอไอเอสและจีเอสเอ็ม

หลังจากฟอนต์ชุดนี้ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ ก็เกิดกระแสความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิความโดดเด่นของ ห.หีบ ในฟอนต์เอสเอ็มบี แอดวานซ์ ต้นตอของเรื่องนี้เกิดจากความคิดเห็นของคุณประชา สุวีรานนท์ ที่ปรึกษาของโปรเจค ที่มีต่อฟอนต์เดโมต้นแบบ คุณประชาเอ่ยขึ้นว่า “ผมชอบชานหลังตัว R ของฟรูธิเกอร์ เราจะทำอะไรกับมันได้บ้างไหม” อนุทิน วงศ์สรรคกร ผู้ออกแบบเห็นด้วยจึงได้รับปากที่จะนำลักษณะดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบฟอนต์ชุดนี้ และตัวเลือกของทั้งสองคนก็มาลงตัวที่ ห.หีบ ดังนั้นการกล่าวสรุปว่า ห.หีบ ของ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ เหมือนตัว K จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย

นอกจากรูปแบบตัวอักษรที่มีความกลมกลืนกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โจทย์อีกข้อคือ การออกแบบสัดส่วนของตัวอักษรทั้งไทยและอังกฤษให้มีความกลมกลืนกันที่สุด เพื่อให้ไม่ต้องปรับขนาดตัวอักษรภาษาไทยขึ้น ๑ ถึง ๒ พ๊อยท์ ทุกครั้งเพื่อให้มีขนาดใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษเมื่อมีการใช้งานร่วมกัน โดยเฉพาะตัวเลขอารบิคซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้คู่กับภาษาไทยในลักษณะการใช้งานจริง จึงทำให้ฟอนต์ชุดนี้กลายมาเป็นต้นแบบวิธีการกำหนดความสูง และสัดส่วนของตัวภาษาไทยโดยคำนึงถึงเรื่องของความสะดวกในการใช้งานเป็นหลัก กลายเป็นที่มาของลักษณะการออกแบบตัวอักษรของคัดสรร ดีมาก มาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดมาตรฐานใหม่ในการกำหนดค่าความสูงภาษาไทยในฟอนต์ไทยร่วมสมัย

10 ปีต่อมา แรงบันดาลใจจาก ‘เอสเอ็มบี แอดวานซ์’ นำมาซึ่งการพัฒนาเขียนแบบขึ้นใหม่ ปรับปรุงสัดส่วนความกว้างให้สอดรับกับยุคสมัยยิ่งขึ้น และถูกเผยแพร่ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง ‘สุขุมวิท’ ชื่อถนนที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อฟอนต์ สร้างความสงสัยให้กับหลายๆคนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อนุทิน วงศ์สรรคกร เคยให้คำตอบสั้นๆไว้ว่า สุขุมวิท เป็นถนนที่เชื่อมต่อจากที่ตั้งของคัดสรร ดีมาก ในย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นที่ๆฟอนต์ถูกออกแบบขึ้น ก่อนจะถูกส่งต่อไปที่ชลบุรีในช่วง post production เพื่อทำการแลปเทสฟอนต์ รวมถึงจัดการกับเรื่องทางเทคนิคของไฟล์ฟอนต์โดย ศุภกิจ เฉลิมลาภ ทีมออกแบบของคัดสรรดีมาก ที่เพิ่งเข้ามาดูแลในส่วนของ post production ในขณะนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ สุขุมวิทเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างสองขั้นตอนของการทำงานเข้าด้วยกัน จากทองหล่อสู่ชลบุรี จากชลบุรีกลับมาทองหล่อ ด้วยเหตุนี้ถนนสุขุมวิทจึงเปรียบเสมือนเส้นทางหลักและกลายมาเป็นชื่อฟอนต์ชุดนี้

หลังจากถูกเเผยแพร่ออกไปไม่นาน ‘สุขุมวิท’ ได้กลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะของฟอนต์รีเทลได้รับความนิยมในตลาดฟอนต์รีเทลระดับบนในบ้านเรา สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร งานป้ายชนิดต่างๆ ไปจนถึงในโฆษณาทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ฟอนต์ ‘สุขุมวิท’ ยังเป็นผลงานที่ทำให้ชื่อของ คัดสรร ดีมาก ได้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการจับตามองในฐานะบริษัทที่รับออกแบบฟอนต์เพื่อควบคู่กับการออกแบบเพื่อการสื่อสาร

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของแอปเปิลอย่างไอโฟน คงได้ผ่านตากับเวอร์ชั่นล่าสุดของฟอนต์ ‘สุขุมวิท’ ฟอนต์ภาษาไทยที่ถูกบรรจุอยู่ในระบบปฏิบัติการโทรศัพท์ iOS7 เพื่อแสดงผลในอินเทอร์เฟซของแอปพลิเคชั่นต่างๆของแอปเปิล ร่วมกับฟอนต์ Helvetica Neue ในภาษาอังกฤษ สำหรับคนที่มีความสนใจเป็นพิเศษคงใช้เวลาไม่นานในการสืบค้นว่าฟอนต์ดังกล่าวคือ สุขุมวิท ซึ่งใช่ว่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ที่ถูกต้องจริงๆคือ ฟอนต์ภาษาไทยที่ถูกใช้ในระบบสื่อสารองค์กรและการตลาดของแอปเปิล โดยมีการทดลองใช้ใน iOS7 ของ iPhone และผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของ OSX Yosemite ฟอนต์ดังกล่าวเป็นเวอร์ชั่นพัฒนาล่าสุดของ ‘สุขุมวิท’ ในชื่อ ‘สุขุมวิท ตัดใหม่’ นั่นเอง

‘สุขุมวิท ตัดใหม่’ ถูกพัฒนาปรับปรุงขึ้นจากสุขุมวิท เพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายขึ้นนอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์ ตามแนวโน้มของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ส่งผลให้พฤติกรรมการอ่านผ่านหน้าจอเริ่มเป็นที่นิยมขึ้น โดยเฉพาะในอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต คอมพิวเตอร์ บนแอพลิเคชั่น หรือบนเว็บไซต์ โจทย์ในการพัฒนาปรับปรุงสุขุมวิท จึงมาจากสองหัวข้อใหญ่ๆ คือคำนึงถึงการถูกนำไปใช้งานเพื่อแสดงผลบนหน้าจอ และความกลมกลืนในการใช้งานร่วมระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในรูปแบบของฟอนต์ สุขุมวิท ตัดใหม่ และ Helvetica Neue

‘สุขุมวิท ตัดใหม่’ มีรายละเอียดในการออกแบบที่แตกต่างจาก ‘สุขุมวิท’ อยู่จำนวนมากหากแต่สังเขปได้ดังนี้ ไล่ตั้งแต่โจทย์ในการนำไปใช้งานที่ต่างกัน สุขุมวิท ตัดใหม่ ถูกปรับปรุงขึ้นเพื่อโจทย์ในการนำไปใช้งานบนหน้าจอซึ่งมีพื้นที่ขนาดจำกัด ทำให้ตัวอักษรถูกแสดงผลในขนาดที่เล็กลง รายละเอียดเฉพาะของตัวอักษรแต่ละตัว เช่น ปากของ ก.ไก่ จึงถูกปรับให้ลึกและใหญ่ขึ้น เพื่อคงความชัดเจนเมื่อถูกใช้ในขนาดเล็ก สัดส่วนความกว้างของตัวอักษรถูกคำนวณและเขียนขึ้นใหม่ ส่งผลให้ต้องมีการไล่น้ำหนักของฟอนต์แต่ละน้ำหนักขึ้นใหม่ทั้งหมด และมีการเพิ่มจำนวนน้ำหนักจากเดิมที่มี Light, Regular, Bold และเซ็ทของตัว Italic มาเป็นน้ำหนักที่คลอบคลุมการใช้งานได้กว้างกว่าเดิมอย่าง Air, Ultra Light, Thin, Light, Text, Medium, Semi Bold, Bold, Extra Bold, Heavy บวกด้วยเซ็ทของตัว Italic เช่นเคย

โจทย์ต่อมา คือความกลมกลืนเมื่อนำไปใช้งานร่วมกับ Helvetica Neue ซึ่งอันที่จริงคัดสรร ดีมาก ได้ออกแบบฟอนต์ Helvetica Neue Thai ในภาคภาษาไทย เพื่อรองรับใช้งานคู่กับ Helvetica Neau มาแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยมีผู้ถือลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายคือ Linotype ค่ายฟอนต์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งล่าสุดเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ร่วมหุ้นเข้ากับ Monotype ค่ายฟอนต์ยักษ์ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามจากมุมมองของแอปเปิลเอง ได้พุ่งความสนใจมาที่ สุขุมวิท มากกว่า Helvetica Neue Thai จึงเป็นหน้าที่ของคัดสรร ดีมาก ในการจัดการให้สุขุมวิท ในเวอร์ชั่น สุขุมวิท ตัดใหม่ สามารถใช้งานร่วมกับ Helvetica Neue ได้อย่างไม่ขัดเขิน นี่จึงเป็นที่มาของการปรับ Stem weight (เส้นตั้งของตัวอักษร) ของสุขุมวิท ตัดใหม่ ให้บางลงจากสุขุมวิทเดิม เพื่อให้ได้ Stem weight ที่บางกว่า Helvetica Neau ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานของคัดสรร ดีมาก ในการออกแบบฟอนต์ภาษาไทยเพื่อใช้งานร่วมกับฟอนต์ละตินมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลที่ตัวอักษรภาษาไทยมีมวลของเส้นที่มากกว่าตัวอักษรละติน การกำหนดให้ Stem weight ของภาษาไทยมีขนาดเท่ากับภาษาอังกฤษ จะทำให้เกิดปัญหาฟอนต์ภาษาไทยดูหนากว่าฟอนต์ละติน ซึ่งทำให้เกิดความไม่กลมกลืนกันของพื้นผิวเมื่อใช้งานร่วมกัน

นอกจาก Stem weight แล้ว สัดส่วนความสูงของ สุขุมวิท ตัดใหม่ ยังถูกปรับให้ลดลงจากสุขุมวิท ด้วยสองเหตุผลหลักๆ ข้อแรกเพื่อความกลมกลืนกันระหว่าง Helvetica Neue และ สุขุมวิท ตัดใหม่ หากใครพอจะคุ้นเคยกับฟอนต์ทั้งสองคงพอจะนึกภาพตามได้ว่า Helvetica Neue เป็นฟอนต์ที่มีสัดส่วนออกแนวกว้าง ส่วนสุขุมวิทมีสัดส่วนที่ค่อนข้างแคบกว่าเล็กน้อย การปรับสัดส่วนของสุขุมวิท ตัดใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ชอบธรรม เนื่องจาก Helvetica Neue เป็นแบบฟอนต์ที่ถูกเลือกมาเป็นตัวยืน เหตุผลข้อต่อมาเป็นเรื่องทางเทคนิคในการแสดงผลบนหน้าจอ ซึ่งใช้พื้นที่ของ Clipping Area ในการแสดงการปรากฏของตัวอักษร

Clipping Area คือศัพท์ที่ใช้ในการอธิบายพื้นที่ที่ฟอนต์สามารถแสดงผลบนหน้าจอได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ในลักษณะของกรอบที่มองไม่เห็น อาจลองนึกภาพว่าฟอนต์ที่ปรากฏบนหน้าจอได้อย่างครบถ้วนนั้น ต้องถูกแสดงผลให้อยู่ใน Clipping area และหากมีส่วนใดส่วนหนึ่งยื่นหรือล้นออกไปนอก clipping area ฟอนต์ที่ปรากฏบนหน้าจอก็จะมีลักษณะที่ขาดหายไป คล้ายกับโดนบดบัง

พื้นที่ของ Clipping Area แทบจะไม่ส่งผลกระทบกับฟอนต์ละติน ซึ่งโดยหลักการของตัวอักษรนั้นใช้พื้นที่ในการประกอบคำเพียงแค่ชั้นเดียว เนื่องจากทั้งพยัญชนะและสระถูกจัดวางอยู่บน Baseline เดียวกัน ต่างจากตัวอักษรภาษาไทยซึ่งจำเป็นต้องเผื่อพื้นที่สำหรับสร้างคำถึงสี่ชั้น (บุ บิ บี๋) เนื่องจากวรรณยุกต์และสระบางตัวไม่สามาถจัดวางบน Baseline เดียวกับพยัญชนะได้อย่างภาษาอังกฤษ และ Clipping area ก็ถูกกำหนดค่ามาตรฐานโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก การกำหนดความสูงฟอนต์ภาษาไทยที่มากเกินไปเมื่อถูกประกอบเข้ากับสระหรือวรรณยุกต์ชั้นบนอาจเลยขอบเขตของ Clipping area ด้วยเหตุนี้ความสูงของฟอนต์ สุขุมวิท ตัดใหม่ จึงต้องถูกปรับให้ลดลง เพื่อให้พื้นที่ทั้งสี่ชั้นของภาษาไทย ยังอยู่ภายใน Clipping area

จากประเด็นเรื่อง Clipping area อนุทิน วงศ์สรรคกร เคยตั้งข้อสังเกตุไว้บางประการ ในเรื่องข้อได้เปรียบของฟอนต์ภาษาไทยแบบไม่มีหัว (Loopless Terminal) ที่มีเหนือกว่าฟอนต์ภาษาไทยแบบมีหัว (Loop Terminal) ในกรณีที่ถูกใช้ร่วมกับตัวละติน ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกใช้ควบคู่กันอย่างหลีกเลียงไม่ได้ในยุคการสื่อสารของโลกปัจจุบัน ฟอนต์แบบไม่มีหัวสามารถแสดงตัวได้ในขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากฟอร์มของตัวอักษรผ่านการ Simplified ให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายขึ้น เห็นได้ชัดในตัวพยัญชนะที่มีพื้นที่ภายในตัวอักษรที่มากขึ้นเมื่อปราศจากส่วนหัวของตัวอักษร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสระชั้นบน เช่น สระอิ ของฟอนต์ที่ไม่มีหัว ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นขีดทึบแนวนอน ต่างจาก สระอิ ของฟอนต์แบบมีหัว ที่มีลักษณะเป็นเส้นนอนประกบด้วยเส้นโค้งครึ่งวงกลม จากลักษณะดังกล่าวทำให้ฟอนต์แบบไม่มีหัว มีพื้นที่เหลือสำหรับขยายการแสดงผลของตัวอักษรได้มากกว่า สรุปโดยง่ายคือ ในการพิมพ์ข้อความร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในขนาดที่เท่ากัน ฟอนต์แบบไม่มีหัวจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าฟอนต์แบบมีหัว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ดูจะขัดแย้งกับกระแสที่ว่าฟอนต์ไม่มีหัวนั้นอ่านยาก เป็นไปได้อย่างไรที่ฟอนต์ที่แสดงผลในขนาดที่ใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจนกว่า กลับถูกมองว่าอ่านได้ยากกว่าฟอนต์ที่แสดงผลในขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าฟอนต์ภาษาไทยแบบไม่มีหัวดีกว่าฟอนต์แบบมีหัว ทั้งหมดเป็นเพียงข้อได้เปรียบในเชิงกายภาพเท่านั้น

ทันทีที่ สุขุมวิท ตัดใหม่ เริ่มปรากฏตัวในระบบปฏิบัติการ iOS7 ของ iPhone ในช่วงทดลองใช้ ก็เกิดปรากฏการณ์กระแสสังคมจากกลุ่มผู้บริโภค ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองข้าง ทั้งชอบและไม่ชอบ ในฟากของคนที่ชอบก็ให้เหตุผลว่าฟอนต์ สุขุมวิท ตัดใหม่ มีหน้าตาที่ร่วมสมัย กลมกลืนกับฟอนต์ภาษาอังกฤษและเหมาะสมกับหน้าตาของแอปพลิเคชั่น ข้างที่ไม่ชอบ ก็ให้เหตุผลในเรื่องของการอ่านยาก เพราะเป็นฟอนต์ภาษาไทยแบบที่ไม่มีหัว ความเห็นดังกล่าวเคยถูกยกมาเป็นหัวข้อสนทนาภายในของคัดสรร ดีมาก ซึ่งสรุปได้ว่า ความอ่านยากอ่านง่ายของฟอนต์แต่ละตัวกว่าครึ่งคือเรื่องของความคุ้นเคยกับฟอนต์ล้วนๆ สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ ฟอนต์ที่อ่านยากสำหรับบางคนกลับไม่เป็นปัญหาสำหรับอีกคน ฟอนต์ที่อ่านง่ายสำหรับคนกลุ่มหนึ่งกลับสร้างความลำบากให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายความว่าบรรทัดฐานเรื่องการอ่านยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความคุ้นเคยกับแบบตัวอักษรเป็นหลัก

จากกระแสความเห็นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฟากอย่างชัดเจน คงพอจะพูดได้ว่านี่เป็นเหตุการณ์สำคัญของฟอนต์ที่ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง คนทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์กับฟอนต์โดยตรงและเริ่มแสดงความคิดเห็นของตัวเองในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงเหล่านั้น หลังครบกำหนดเวลาในการทดลองใช้ สุขุมวิท ตัดใหม่ บน iPhone แอปเปิลก็กลับไปใช้ฟอนต์ธนบุรีในระบบ iOS7.1 และขยับ สุขุมวิท ตัดใหม่ ไปใช้ในการสื่อสารด้วยภาษาไทยบนสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆอย่างเป็นทางการ เราสามารถพบเห็น สุขุมวิท ตัดใหม่ ได้บนเว็บไซต์ โฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ หรือบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์จากแอปเปิล

เหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นขีดจำกัดของความสามารถในการอ่านแบบตัวอักษรของคนไทย อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าค่าเฉลี่ยของพฤติกรรม และความสามารถในการอ่านแบบตัวอักษรอยู่ ณ ตำแหน่งใด และเป็นอีกครั้งที่ สุขุมวิท (ตัดใหม่) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่อสังคม หลายคนเริ่มครุ่นคิดถึงเรื่องการอ่านจากแบบตัวอักษรทั้งแบบมีหัวและไม่มีหัว หลายคนเริ่มเปรียบเทียบ มองเห็นข้อดีข้อเสีย ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพฤติกรรมการอ่านจากแบบตัวอักษรที่ไม่มีหัวต่อไปในอนาคต

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการเดินทางร่วมสิบปีของฟอนต์ที่ชื่อว่า สุขุมวิท และก้าวล่าสุดในรูปแบบของ สุขุมวิท ตัดใหม่ ฟอนต์ที่เปรียบได้กับถนนที่ผ่านการขยายเลนและมุ่งสู่เส้นทางที่ร่วมสมัยขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จากประสบการณ์และระยะเวลาของแบบตัวอักษร ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง สุขุมวิท ตัดใหม่ อาจถูกบรรจุเป็นฟอนต์มาตรฐานที่มาพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริง คงปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคงเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมของการใช้ตัวอักษรและประสบการณ์กับแบบตัวอักษรในประเทศไทยอย่างแน่นอน