ตัวตนของตัวอักษร

บทสัมภาษณ์ อนุทิน วงศ์สรรคกร จากคอลัมน์ “มืออาชีพ” นิตยสารสกุลไทย ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ภายใต้ชื่อบทความ ตัวตนของตัวอักษร

➜ เชื่อว่าหลายๆคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าตัวอักษร เป็นเครื่องมือของภาษา ที่ช่วยในการสื่อสารความคิด ความรู้ จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร โดยอาศัยการร้อยเรียงกันของตัวอักษร เพื่อประกอบขึ้นเป็นคำ วลี หรือประโยคที่ได้ใจความสมบูรณ์ เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราคิด ในแวดวงการโฆษณา หรือกราฟิกดีไซน์ ตัวอักษรถือองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่น้อยไปกว่าองค์ประกอบอย่างรูปภาพ รูปแบบตัวอักษรหลากหลายที่พบเห็นในปัจจุบันช่วยดึงดูดสายตาและความน่าสนใจให้ผู้ชมได้จดจำ รับรู้ได้เป็นอย่างดี

บริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รู้จักกันในแวดวงของการออกแบบ และพัฒนาตัวอักษรหรือ Font การจัดวางอักขรศิลป์ เลขนศิลป์เชิงทดลองและเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้งานเหล่านั้นสื่อสารความเป็นภาพลักษณ์องค์กรอย่างเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการทำงานที่น่าสนใจนี้ก็คือ อนุทิน วงศ์สรรคกร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและพัฒนาการออกแบบตัวอักษรไทยสมัยใหม่ ไปจนถึงช่วยขับเคลื่อนโครงสร้างสังคมการออกแบบตัวอักษรของประเทศไทย มืออาชีพ ฉบับนี้ขอพาไปพูดคุยถึงเรื่องราวการทำงาน มุมมองของเขาที่มีต่อตัวอักษร อันเปรียบเสมือนสื่อกลางของความคิดในทุกส่วนของสังคม

หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากภาควิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Communication Design ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษากลับมา และก่อตั้งบริษัท คัดสรร ดีมาก ขึ้น งานหลักของอนุทินคือการออกแบบเพื่อการสื่อสาร แต่ก็มีการขยับขยายไปทำงานออกแบบด้านอื่นบ้าง ทว่าในที่สุดก็หวนกลับมาทำงานออกแบบเพื่อการสื่อสารเช่นเดิม เพียงแต่เป็นการกลับมาพร้อมด้วยประสบการณ์ความชำนาญที่มากขึ้น ทำให้เขาค้นพบทิศทางและก้าวเดินไปอย่างเป็นตัวของตัวเองชัดขึ้น

“เราจดทะเบียนบริษัทกันเมื่อ ๑๑ ปีก่อน ช่วงแรกทำงานกราฟิกดีไซน์กันเป็นหลัก แล้วรู้สึกว่าเป็นงานกิจวัตรมาก เลยใช้เวลาว่างลองมาลงทุนกับการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ได้พบบทเรียนหลายอย่างที่ไม่สนุกเอาเสียเลยครับ เพราะไม่ชอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและจัดส่ง หรือคณิตศาสตร์ คือผมมองว่า ศาสตร์ทุกอย่างในโลกนี้ยากพอกัน เพียงแต่ว่าความยากนั้นถูกโฉลกกับเราหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องใช้ความพยายามในตัวเพื่อพิสูจน์ว่าเราทำได้เหมือนที่ผมทำงานด้านออกแบบตัวอักษรมาตลอดโดยไม่ต้องใช้ความพยายามที่มากเกินไป แต่เรื่องการสั่งของหรือตัวเลขบัญชีนี่ไม่ใช่เลยครับ มันมีมิติอื่นที่เรายังไม่เห็นซึ่งยอมรับว่าไม่ถูกกับจริตของเรา ทำให้ใจไม่อยู่ตรงนั้นได้ยาว พอใจไม่อยู่แล้ว ก็ต้องเดินออกมา กลับมาทำงานกราฟิกดีไซน์เพื่อที่จะให้บริษัทดำเนินต่อไปได้”

คัดสรร ดีมาก เป็นชื่อที่เจ้าตัวและเพื่อนร่วมงานภูมิใจอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่ชื่อดังกล่าวสามารถเป็นอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทออกแบบหรืออาจจะเป็นร้านอาหารในอนาคต อีกสิ่งหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจมาโดยตลอด คือการเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ทำงานออกแบบตัวอักษรสำหรับองค์กร (Custom Font) ให้วงการออกแบบของประเทศไทย

“พอกลับมาทำกราฟิกดีไซน์ หลังจากนั้นก็เริ่มออกแบบตัวอักษรอย่างจริงจังครับ ตอนนั้นถือได้ว่าตลาดติดลบ เพราะไม่มีคนรู้จักเลยว่า สิ่งที่เราต้องการให้บริการนั้นคืออะไร จริงๆแล้ว ก่อนเราเข้ามาทำตรงนี้เคยมีคนทำนะ แต่ก็หายไปจากคนไทยนานมากแล้ว ยิ่งพอมาในยุคสังคมดิจิตอลเดี๋ยวนี้ ยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่ บริษัทเราจึงเหมือนว่าเป็นผู้แนะนำสิ่งนี้เข้ามาใหม่ และทำให้ร่วมสมัยเข้ากับบริบทของปัจจุบันครับ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของการออกแบบกราฟิกดีไซน์ในต่างประเทศที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เรียกว่า เราเริ่มตลาดมาจากติดลบศูนย์ด้วยซ้ำ เดิมทีไม่เคยวางให้งานนี้เป็นพระเอกของบริษัท เพราะเรามีงานบริการด้านกราฟิกดีไซน์ ซึ่งมีงานบริการออกแบบตัวอักษรรวมอยู่ในนั้นด้วย ถ้าลูกค้าต้องการ เราก็ทำให้ได้ ซึ่งพอทำมาเรื่อยๆ มีคนสนใจและเข้าใจถึงสิ่งที่เราทำมากขึ้นก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นครับ”

ที่ผ่านมา คัดสรร ดีมาก ได้ออกแบบ พัฒนาตัวอักษรให้แบรนด์ต่างๆมากมาย ทั้งในกลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ธนาคาร สื่อสิ่งพิมพ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จนประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ผู้คนจดจำได้ ซึ่งก่อนจะมาถึงจุดนี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการสำคัญหลายๆอย่าง ที่ล้วนส่งผลต่อผลงานนั้นๆ

“การออกแบบตัวอักษร เราต้องตีโจทย์จากลูกค้าก่อนครับว่าเป็นอย่างไร เหมือนเราทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ แต่ละคนมีความชอบ วิธีการพูด การใช้ภาษาไม่เหมือนกัน หน่วยงานที่เข้ามาเราก็ต้องทำความรู้จัก เข้าไปศึกษาว่า เขาจะทำหรือไม่ทำอะไร แน่นอนว่า ถ้าเรามององค์กรในระนาบเดียวกับที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาจะมีน้ำเสียง แล้วในสื่อสิ่งพิมพ์นั้นองค์ประกอบหลักก็คือ ภาพกับข้อความ น้ำเสียงที่จะแสดงได้ก็คือตัวหนังสือที่นำมาใช้ในรูปประโยค ตรงนี้เลยกลายเป็นความสำคัญของแบบตัวอักษร

นอกจากนี้ ตัวอักษรยังมีบทบาทที่มากไปกว่านั้นคือ เป็นกลิ่นของแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของดีแทค (เราออกแบบฟอนต์ให้กับดีแทค) แม้ว่าคุณจะไม่เห็นโลโก้ แต่ผมเชื่อว่าคุณจะรู้ว่าเป็นดีแทค เพราะว่าคุณจำแบบตัวหนังสือในนั้นได้ มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในความเป็นแบรนด์ ภาษาอังกฤษมีคำว่า “Invisible Building Block” คือโดยทั่วไปเราจะเห็นเฉพาะตึกที่อยู่เหนือพื้นดิน แต่มันยังมีรากฐานข้างล่างใต้พื้นที่เรามองไม่เห็น และตรงส่วนนั้นเองทำให้ตึกยังคงตั้งอยู่ได้ เคยนึกสงสัยไหมครับว่า ทำไมฟอนต์ฟอนต์เดียว แต่มีคนนิยมใช้กันอยู่หลายแบรนด์และหลายงานด้วย แต่เมื่อถามว่าถ้าคุณต้องการอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวขององค์กรคุณขึ้นมาจริงๆ อะไรล่ะคือสิ่งนั้นที่จะทำให้คนจดจำองค์กรของคุณได้ เราคงไม่อยากให้พนักงานใส่เสื้อผ้าชุดเดียวกับพนักงานคู่แข่งอื่นๆ ใช่ไหมครับ เดี๋ยวนี้ในหลายวงการก็เจอปัญหาว่าใช้แบบตัวอักษรเดียวกันหมด ขึ้นไปบนรถไฟฟ้าจะเห็นฟอนต์แบบเดียวกันนี้ได้ตั้งแต่โฆษณาโทรศัพท์มือถือ อาหาร บริการ ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ กลายเป็นว่าทุกสินค้าและบริการพูดออกมาเป็นสำเนียงเดียวกันหมดเลย ผู้พบเห็นก็อาจจะงงสับสนว่า อ้าว นี่ไม่ใช่โฆษณาของสินค้านั้นหรือ แสดงว่านั่นคือการไม่ได้ใช้องค์ประกอบอย่างตัวอักษรอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น แบบตัวอักษรจึงเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยแยกแยะให้เห็นความแตกต่างได้ท่ามกลางความเหมือนหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะระหว่างองค์กรในแวดวงเดียวกัน”

อนุทินเพิ่มเติมว่า การทำงานออกแบบตัวอักษรไม่สามารถระบุระยะเวลาได้อย่างตายตัว เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่างรวมทั้งการพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อชิ้นงานเป็นสำคัญ

“เวลาครึ่งแรกจะเป็นอย่างที่พูดไว้ว่า ทำความรู้จักและเข้าใจองค์กรนั้น ตีโจทย์ให้แตก สิ่งที่เราออกแบบต้องไปตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการได้ เพราะเมื่อตัวหนังสือไปปรากฏบนสื่อ จะต้องไปด้วยกันกับองค์ประกอบทางศิลป์อื่นๆด้วย ต้องดูว่าโจทย์ต้องการอะไร น้ำหนักความหนาบางของลายเส้นตัวอักษรก็ต้องสอดคล้องเหมาะสมตามที่เจ้าของ และเราผู้ออกแบบเห็นสมควรร่วมกัน ถ้าพูดเรื่องเบาๆ ต้องใช้บางเท่าไร หรือถ้าพูดหนักแน่นก็ต้องใช้น้ำหนักความหนาเท่านี้ เป็นต้น ส่วนเวลาที่เหลืออีกครึ่งคือการลงมือทำ ซึ่งทั้งหมดจะยึดโยงอยู่กับขนาดของโปรเจ็คท์ แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็จะพยายามใช้เวลาในกรอบ ๒ เดือน”

ต่อข้อซักถามถึงผลงานที่ประทับใจและชื่นชอบที่ผ่านมา เจ้าตัวให้คำตอบว่า ไม่มี เพราะทุกครั้งที่ทำถือว่าดีที่สุดในช่วงขณะนั้น

“คนเราจะมีช่วงที่พอเรามองย้อนกลับไปแล้วบอกว่า ฉันไม่น่าตัดสินใจทำแบบนั้น คือตอนนั้นเราถือว่ามันดีมาก เพราะเราทำสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นออกมา ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่เป็นอย่างนั้น เช่น เทรนด์ เทคโนโลยีที่มีข้อจำกัดต่างๆ แต่เชื่อไหมครับว่าไม่มีงานไหนที่ดีตลอดไป กรอบเวลาทำให้นิยามของความเหมาะสมไม่เหมือนกัน เราเป็นคนที่เดินทางไปตามเส้นของเวลา ไม่สามารถย้อนเวลาได้ มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น งานที่เสร็จแล้ว ก็เสร็จอยู่ตรงนั้น เมื่อเราเอากรอบของเวลาในอนาคตมาตัดสิน เราก็จะเห็นอะไรอีกมากมายที่ตอนนั้นไม่เคยเห็นมาก่อน”

ปัจจุบัน นอกจากทำธุรกิจด้านการออกแบบตัวอักษรและอัตลักษณ์องค์กร ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์และดูแลเรื่องการนำแบบตัวอักษรไปใช้ในสื่อต่างๆแล้ว ยังมีส่วนของงานประชุมสัมมนาวิชาการ ที่ให้ความรู้ด้านการออกแบบตัวอักษรผ่านการจัดกิจกรรมสร้างความรู้แก่ผู้สนใจอีกด้วย

“ทุกวันนี้ เราแบ่งการทำงานเป็นส่วนของการออกแบบตัวอักษร กับส่วนที่เป็นการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ซึ่งเราเน้นดูแลด้านกลยุทธ์การสื่อสารผ่านการออกแบบ กล่าวคือ มองในภาพกว้างมากขึ้นกว่าการทำกราฟิกดีไซน์ และจากที่เราทำงานด้านนี้มา ๑๑ ปี มีข้อมูลที่เราทำเยอะมากครับ เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ข้อมูลนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นประสบการณ์การสั่งสมที่มีคุณค่า เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยต่อยอด สร้างพื้นฐานแก่ผู้สนใจงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาเรามีการจัดเวิร์คช้อปและการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับตัวอักษรอย่างงานอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ Bangkok International Typographic Symposium (BITS) และยังต่อยอดไปสู่งานอื่นๆที่น่าสนใจอย่าง ภาวะผู้นำ Design Leadership ด้วยครับ”

หากประสบการณ์มากมายที่เขาและทุกคนในบริษัทได้พบเจอจนนำมาต่อยอดให้กับผู้อื่นเช่นนี้แล้ว การออกแบบตัวอักษรยังทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจบางอย่างในตัวงานที่ทำอยู่อย่างแจ่มแจ้ง

“แน่นอนว่าค่าตอบแทนก็เป็นสิ่งที่เลี้ยงตัวเราเองและเพื่อนร่วมงานได้อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ งานนี้ให้ความท้าทายครับ ผมว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะมีความท้าทายใหม่ๆเข้ามา ถ้าวันหนึ่งคุณหยุดที่จะต้อนรับความท้าทายใหม่ๆเข้ามาในชีวิตแล้ว คุณก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ได้เคลื่อนไปตามเวลา งานก็ทำให้เรารู้ว่า สังคมเขาคิดกันอย่างไร เขารับเรื่องอะไรได้ประมาณไหน ณ เวลาใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน เพราะสิ่งที่เราทำเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และภาษาศาสตร์ เงื่อนไขการสื่อสาร การแปลรหัสจากตัวหนังสือ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในคนหมู่มาก เราจะต้องพัฒนาตัวเราเองให้กว้างมากขึ้น และต้องอาศัยความอดทน พยายามที่จะผลักขอบเขตข้อจำกัดให้พ้นออกไป แม้ว่าจะทำได้ทีละนิดเดียวก็ตาม”

เพราะตัวอักษรเป็นสื่อกลางระหว่าง ความคิด และ ความเข้าใจ การสร้างตัวอักษรในงานสื่อสารมวลชนให้มีตัวตนและพร้อมรับใช้เพื่อบันทึกและสื่อสารใจความอย่างมีชั้นเชิง เมื่อการสื่อสารมีแต่เราและตัวอักษร จะดีแค่ไหนถ้าข้อความสามารถเปล่งสำเนียงเสียงในหัวของเราได้ในระหว่างการอ่าน